xs
xsm
sm
md
lg

โรดแมปขยะ คสช. > คืบหน้า ร่างกม. e-WASTE

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ปัญหาขยะ” ส่งผลกระทบต่อสภาวะแวดล้อมที่มีแนวโน้มมากขึ้นในอนาคต คือเหตุผลสำคัญของการจัดทำโรดแมป “การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย “ ฉบับล่าสุด โดยผ่านความเห็นชอบแล้วจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยพลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบแนวทางการจัดการขยะมูลฝอยของประเทศให้กับจังหวัด ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้นำไปปฏิบัติและดำเนินงานจัดการขยะมูลฝอยในจังหวัดของตัวเอง
พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ได้กำหนดกรอบแนวทางการดำเนินงานเป็น 3 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน (6 เดือน) ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมาย 11 จังหวัด ระยะกลาง (1ปี) ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมาย 20 จังหวัด และระยะยาว (1 ปีขึ้นไป) ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมาย 40 จังหวัด ซึ่งในแต่ละระยะกำหนดแนวทางการดำเนินงานไว้ 4 ขั้นตอนด้วยกัน
1.การจัดขยะมูลฝอยตกค้างสะสมในสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยในพื้นที่วิกฤติ(ขยะมูลฝอยเก่า)
2.สร้างรูปแบบการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายที่เหมาะสม (ขยะมูลฝอยใหม่) เน้นการลดและคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง จัดการขยะแบบศูนย์รวม และกำจัดโดยเทคโนโลยีแบบผสมผสานเน้นการแปรรูปเป็นพลังงาน หรือทำประโยชน์สูงสุด
3.วางระเบียบมาตรการการบริหารจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย
4. สร้างวินัยของคนในชาติมุ่งสู่การจัดการที่ยั่งยืน โดยการให้ความรู้ประชาชน และบังคับใช้กฎหมาย
ที่น่าสนใจ กรอบการดำเนินงานแต่ละจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดจะลงมาเป็นผู้กำกับดูแลการบริหารจัดการขยะมูลฝอยในภาพรวมของจังหวัด โดยจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของจังหวัด และมีการสำรวจและจัดการกับบ่อขยะเดิมที่ไม่ถูกต้อง พร้อมจัดทำแผนการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของจังหวัดให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคมนี้ โดยนำส่งให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อจัดทำเป็นแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
เสวนา “โครงการยกร่างกฎหมายการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และของเสียอันตรายจากชุมชน เมื่อ 11 ก.ย. ณ โรงแรมเอเทรียมกรุงเทพฯ
คืบหน้ากฎหมาย e-WASTE
สอดรับกับโรดแมปดังกล่าว เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา จึงมีการจัดเสวนา “โครงการยกร่างกฎหมายการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และของเสียอันตรายจากชุมชน” ที่เริ่มเดินเครื่องมาตั้งแต่เดือนมกราคม-กันยายน 2557 โดยสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักจัดการกากของเสียและสารอันตราย กรมควบคุมมลพิษ
งานนี้ได้มีการนำเสนอร่างกฎหมายนี้กันอีกครั้งโดยมีผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรผู้บริโภค เข้าร่วมพร้อมแสดงข้อคิดเห็น
ข้อสรุปของทุกฝ่ายต่างเห็นชอบในการยกร่างเป็นกฎหมายออกมาบังคับใช้ พร้อมเห็นพ้องว่าควรอยู่ภายใต้กรอบแนวคิด “หลักการความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต” (Extended Producer Responsibility: EPR) เช่นเดียวกับนานาประเทศที่ออกกฎหมายนี้
แนวคิด EPR ก็คือ กฎหมายจะกำหนดความรับผิดชอบของผู้ผลิตและผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ฯ ทั้งด้านการเงินและด้านกายภาพในการจัดระบบรับคืน รวบรวม ขนส่ง รีไซเคิลและกำจัดซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยความร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ผู้บริโภค ท้องถิ่นและผู้จัดจำหน่าย ทั้งนี้ ภาครัฐจะเป็นผู้กำหนดเป้าหมายที่ผู้ผลิตและผู้นำเข้าจะต้องดำเนินการ


หลายมุมมองต่อกฎหมาย
มุมมองขององค์การบริหารปกครองส่วนท้องถิ่น สุวรรณา จุ่งรุ่งเรือง รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร เห็นด้วยต่อร่างกฎหมายนี้ เพราะสามารถเป็นเครื่องมือในการป้องกันตั้งแต่ต้นทางโดยควบคุมตั้งแต่การผลิตผลิตภัณฑ์ จุดแข็งก็คือ การมีกองทุนที่จะช่วยสนับสนุนองค์การบริหารปกครองส่วนท้องถิ่นในการดำเนินงาน แต่ก็ต้องออกแบบให้เกิดระบบบริหารจัดการที่ดีและมีกลไกความร่วมมือที่ชัดเจน โดยเสนอให้ทดลองในทางปฏิบัติในพื้นที่ของ กทม. 1 แห่งก่อนเพื่อดูว่าระบบจะเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด พร้อมกันนี้จะต้องมีการปลูกฝังให้ประชาชนเห็นประโยชน์ส่วนรวมด้วย โดยต้องเสริมเข้าไปในหลักสูตรของโรงเรียน
“ร่างกฎหมายนี้อาจมีความทับซ้อนกับกฎหมายสาธารณสุข ที่ปัจจุบันกรมอนามัยอยู่ระหว่างการออกกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการกำจัดมูลฝอยอันตราย รวมถึงการจัดเก็บค่ากำจัดจากผู้ทิ้งที่เป็นครัวเรือนอาจจะทำได้ยากในทางปฏิบัติและอาจก่อให้เกิดผลกระทบคือ ประชาชนไม่คัดแยกมูลฝอยอันตรายจากมูลฝอยทั่วไป เพราะจะต้องเสียค่ากำจัดที่สูงกว่า”
ขณะที่ภาคเอกชน ณัฐพงษ์ อารีกุล รองประธานและกรรมการบริษัทโตชิบาไทยแลนด์ จำกัด ในฐานะบริษัทผู้ผลิต ก็เห็นด้วยแต่จะต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียม และต้องมีการควบคุมดูแลกลุ่ม free-rider เช่น ร้านค้าออนไลน์ กลุ่มที่ลักลอบผลิตและนำเข้า กลุ่มนำเข้ารายย่อย มิเช่นนั้น ผู้ประกอบการที่ทำตามกฎหมายจะเสียเปรียบในการแข่งขันและต้องมารับผิดชอบซากผลิตภัณฑ์ฯ ที่เกิดจากกลุ่มเหล่านี้
เขาบอกว่ามีความเป็นไปได้ในการรวมกลุ่มของผู้ผลิต เพราะเป็นเรื่องของสังคม หากทุกฝ่ายยึดผลประโยชน์ส่วนรวม ในต่างประเทศก็เห็นผู้บริหารของบริษัทโตชิบาที่ทำรีไซเคิลไปพูดคุยกับบริษัทอื่นๆ เช่นกัน ขณะเดียวกันจะต้องมาตรการสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้ผลิตพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ให้แข่งขันได้ในตลาด การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีคุณภาพ และในช่วงเริ่มต้น ภาครัฐต้องช่วยทำให้ระบบเกิดขึ้นก่อน อาจจะต้องจัดสรรงบประมาณมาสนับสนุนในช่วงแรก แล้วจึงลดระดับการสนับสนุนลง มิเช่นนั้นระบบอาจจะไม่เกิด
ถวัลย์ แสงสว่าง บริษัทเทสแอม (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้ประกอบการรีไซเคิล บอกว่าผู้ประกอบการรีไซเคิลสนับสนุนรูปแบบการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเข้ากองทุนของรัฐมากกว่ารูปแบบ EPR เนื่องจากจะมีหลักประกันเรื่องการให้เงินอุดหนุนที่แน่นอนกว่า
หากเปรียบเทียบลักษณะการประกอบธุรกิจโรงงานรีไซเคิล ในยุโรปมีมาตรฐานที่สูงและมีต้นทุนการดำเนินงานที่สูง เนื่องจากค่าแรงแพง ทำให้มีผู้ประกอบการรีไซเคิลน้อยราย การแข่งขันในตลาดไม่สูงมาก ดังนั้น ระบบการจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ ของยุโรปจึงมีลักษณะที่ต้องจ้างโรงงานรีไซเคิลในการบำบัดและกำจัดซากผลิตภัณฑ์ฯ ในขณะที่แถบเอเชีย มีมาตรฐานและเทคโนโลยี รวมทั้งต้นทุนในการดำเนินงานต่ำกว่า ส่งผลให้เกิดการแข่งขันสูง ต้องซื้อซากผลิตภัณฑ์ฯ จากบริษัท ห้างร้านต่าง ๆ ดังนั้น หากใช้ระบบ EPR ในประเทศไทยก็อาจจะส่งผลให้โรงงานรีไซเคิลต้องซื้อซากผลิตภัณฑ์ฯ จากระบบของผู้ผลิตซึ่งผู้ประกอบการรีไซเคิลอาจจะดำเนินธุรกิจลำบาก
ผู้ประกอบการรีไซเคิล จึงเสนอให้อิงมาตรฐานรีไซเคิลที่มีอยู่ ได้แก่ R2, ISO14001, ISO18001, ISO27001 ส่วนประเด็นการส่งเสริมการใช้ซ้ำนั้น ในส่วนคอมพิวเตอร์ที่ใช้แล้ว โรงงานที่ทำการดัดแปลง มักจะลงโปรแกรมที่ผิดกฎหมาย ซึ่งอาจจะผิดกฎหมายลิขสิทธิ์ได้
ทางด้าน กานต์ ดาวมณี รองกรรมการผู้จัดการแผนกกฎหมายการค้าและเทคนิค บริษัทเอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด และในฐานะผู้แทนสมาคมค้าปลีกไทย กล่าวว่ากฎหมายนี้เป็นจุดเริ่มต้นเท่านั้น แต่อยากเห็นกฎหมายนี้มีผลบังคับ เราเป็นผู้จัดจำหน่ายอยู่ในปลายน้ำของห่วงโซ่ของผลิตภัณฑ์ บริษัทตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ยินดีให้ความร่วมมือเป็นจุดรับคืนซากผลิตภัณฑ์ฯ ตามกฎหมายนี้
ตามร่างกม.พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรง ยังไม่เห็น มีแต่เจ้าพนักงานท้องถิ่น กรม หรือหน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง ควรมีกลไกกำกับดูแลที่ชัดเจน กลไกคณะกรรมการอาจไม่เพียงพอ อาจไม่มีเครื่องมือและบุคลากรในการขับเคลื่อน เสนอให้มีการจัดตั้งสำนักงานขึ้นเป็นการเฉพาะเพื่อกำกับการดำเนินงานให้เป็นไปตามกฎหมายนี้
ส่วนมุมมองภาคประชาชน รศ. ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เห็นด้วยกับร่างกฎหมายนี้ พร้อมแนะนำให้รีบดำเนินการ เนื่องจากซากผลิตภัณฑ์ฯ มีแนวโน้มสูงขึ้นอีก ส่วนผลกระทบต่อผู้บริโภคต้องแบกรับราคาสินค้าที่จะเพิ่มสูงขึ้น ยังเชื่อในระบบการแข่งขันของตลาดที่จะคุมไม่ให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นมากนัก
ด้านบทลงโทษ เห็นด้วยที่กำหนดโทษสำหรับผู้บริโภคที่ทิ้งปะปนไปกับขยะมูลฝอย แต่โทษไม่ได้สัดส่วนกับผู้กระทำผิด โทษปรับ 10,000 บาทสำหรับผู้บริโภคค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับโทษปรับ 200,000 บาท
สำหรับผู้ผลิตและโรงงานรีไซเคิล เขาเสนอให้เพิ่มบทลงโทษ เช่น หากกระทำผิดซ้ำซาก ให้มีการระงับกิจการหรือเพิกถอนใบอนุญาต ควรเพิ่มประเด็นเรื่องความปลอดภัยในการทำงานในโรงงานรีไซเคิล หากไม่มีบทลงโทษเป็นการเฉพาะก็อาจหลบเลี่ยงได้ รวมถึงไม่เห็นด้วยกับการยกเว้นผู้ประกอบการรายย่อยในการจัดทำแผนฯ เพราะหากมีข้อยกเว้น มักจะมีคนพยายามเข้าไปอยู่ในข้อยกเว้นนั้น อาจแบ่งระดับของความรับผิดชอบ ตามศักยภาพของธุรกิจ

Update ร่างกม. e-WASTE
-ร่างกฏหมายการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และของเสียอันตรายจากชุมชน สอดคล้องกับโรดแมป ในขั้นตอนที่ 3 วางระเบียบมาตรการบริหารจัดการฯ แผนระยะ 1 ปีขึ้นไป (ดูรายละเอียดที่ http://www.pcd.go.th/info_serv/roadmapWaste.html)
-ร่างกม.อยู่ระหว่างการปรับแก้ไข มีกำหนดจะส่งให้กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ภายในเดือนต.ค.นี้
-คพ. มีแผนจะเสนอร่างกม.นี้ต่อครม.ภายในเดือนพ.ย. (คงต้องติดตามกัน จะเลื่อนหรือไม่)
-แหล่งข่าวเปิดเผยว่า บางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีข้อติติงว่า กฎหมายนี้มีความทับซ้อนกับกฎหมายที่มีอยู่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น