xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มสหกรณ์โคนมบุกพบ “หลวงปู่พุทธะอิสระ” วอนช่วยหลังพบมีการเปลี่ยนโควตานมโรงเรียน (ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นครปฐม - กลุ่มผู้ประกอบการโคนมทั่วประเทศ เข้าพบ “หลวงปู่พุทธะอิสระ” หลังพบมีการเปลี่ยนแนวทางโควตานมโรงเรียนเอื้อประโยชน์ผู้ประกอบการรายใหญ่ ทำกลุ่ม “เอสเอ็มอี” ฐานใหญ่ทั่วประเทศเกิดปัญหา หวั่น 1 พ.ย. เปิดเทอม 2 ถูกบีบด้วยกฎกติกาเข้มเกินไป ขณะที่หลวงปู่ต่อสายตรงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับความเดือดร้อนมาเปิดเวทีทำความเข้าใจที่วัดอ้อน้อย 13 ต.ค.นี้



เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (10 ต.ค.) ที่วัดอ้อน้อย (ธรรมอิสระ) อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม กลุ่มผู้แทนจากสหกรณ์โคนม และกลุ่มผู้ประกอบการนมจากทั่วประเทศกว่า 30 คน ได้เดินทางเข้าพบหลวงปู่พุทธะอิสระ เพื่อขอให้ช่วยประสานงานในการสอบถามเกี่ยวกับการลดโควตาการรับซื้อนมจากกลุ่มสหกรณ์หลายแห่งในการจัดสรรสิทธิการจำหน่ายนมโรงเรียนภาคเรียนที่ 2/2557 ตามที่มีการแต่งตั้งคณะทำงานในกรมปศุสัตว์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

โดย นายกิตติรัตน์ ภัทรปรีชาสกุล นายกสมาคมผู้ผลิตนมพาสเจอไรซ์ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่มีเอกสาร หนังสือคำสั่งคณะกรรมการโคมนมและผลิตภัณฑ์นม เรื่องการแต่งตั้งคณะทำงานกำหนดหลักเกณฑ์และจัดสรรสิทธิ/พื้นที่การจำหน่ายนมโรงเรียนภาคเรียนที่ 2/2557 ลงนามโดยนายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2557

รวมถึงหนังสือคำสั่งคณะทำงานกำหนดหลักเกณฑ์และจัดสรรสิทธิ/พื้นที่การจำหน่ายนมโรงเรียน ภาคเรียนที่ 2/2557 ครั้งที่ 1/2557 เรื่องแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิในคณะทำงานกำหนดหลักเกณฑ์ และจัดสรรสิทธิ/พื้นที่การจำหน่ายนมโรงเรียน ภาคเรียนที่ 2/2557 ลงนามโดยนายอยุทธ หรินทรานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ประธานคณะทำงานกำหนดหลักเกณฑ์ และจัดสรรสิทธิ/พื้นที่การจำหน่ายนมโรงเรียน ภาคเรียนที่ 2/2557

หลังมีการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ได้เกิดผลกระทบต่อกลุ่มผู้ผลิตนมพาสเจอไรซ์ ที่เคยได้รับโควตาเดิมในการจัดจำหน่ายนมโรงเรียน ในตอนนี้ที่ทราบข้อมูล และรวมตัวตัวกันส่งหนังสือไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว ในเรื่องของความเป็นห่วงในเรื่องของการที่ผู้ประกอบที่เป็นภาคเอกชนเดิม 19 แห่ง เหลือ 11 แห่ง ภาคราชการจาก 16 แห่ง เหลือ 10 แห่ง แบบกลุ่มและสหกรณ์จาก 8 แห่ง เหลือ 5 แห่ง และโครงการนมโรงเรียนมีมากว่า 20 ปีแล้ว และระบบก็ได้รับการแก้ไขปรับปรุงจนมีปัญหาน้อยที่สุด

การแก้ไขปรับปรุงกฎระเบียบใหม่ ทำให้เกิดการไปเอื้อต่อผู้ประกอบการเอกชนรายใหญ่ เหมือนเกษตรกรก็จะถูกบีบด้วยข้อบังคับให้ไปขายน้ำนมแก่ผู้ประกอบการรายใหญ่ไม่กี่เจ้าเท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้จะยังผลไปสู่กลุ่มผู้ประกอบการ Sme โดยตรงเพราะมีกระจายอยู่ทั่วประเทศ และจะส่งผลไปยังเกษตรกรอีกด้วย เพราะมูลค่าการตลาดของนมทั้งพาสเจอไรซ์ และนมยูเอชทีมีมากถึง 1.3 หมื่นล้านบาทต่อปี

นายกสมาคมผู้ผลิตนมพาสเจอไรซ์ กล่าวอีกว่า อย่างกรณีของสหกรณ์โคมนมกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม เดิมได้รับโควตานม 30 กว่าตันต่อวัน และส่งเป็นนมโรงเรียน 20 กว่าตัน แต่มาวันนี้กฎที่ออกมาทำให้โควตาเหลือ 16 ตันต่อวัน ซึ่งน้ำนมที่เหลือก็ยังไม่รู้ว่าจะนำไปทำอะไร และยังมีปัญหาอีกหลายแห่ง เพราะสหกรณ์โคมนมในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้โควตานมโรงเรียนส่งไปถึงจังหวัดพัทลุง มันจึงเป็นปัญหาที่ลุกลามไปทั่ว

ด้านนายณัฐวุฒิ ประทีปะวณิช รองประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมโคกก่อ จำกัด จังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า เดิมทีการค้าขายนมจะเป็นการพึงพอใจระหว่างเกษตร และผู้ประกอบการ ซึ่งนมที่ได้มาผู้ประกอบการจะนำไปเสนอต่อบอร์ด ซึ่งเป็นการซื้อขายแบบพอใจซึ่งกันและกัน

จากนั้นก็จะแบ่งกระจายออกไปเป็นการทำนมผง นมสด 100 เปอร์เซ็นต์ หรือจะไปดำเนินการอย่างไรก็จะเป็นการนำเอานมจากรากหญ้าการผลิตไปสู่กระบวนการอื่น แต่การปรับเปลี่ยนครั้งนี้มีการกำหนดสกุลของนม ทำให้เกิดข้อจำกัดมากขึ้น เพราะเดิมนมนั้นมีสีเดียวกันหมด การกำหนดมาตรฐานต่างๆ อออกมามากมายนั้นทำให้เกษตรกรจะไม่รู้ว่านมที่ถูกจำหน่ายออกไปจะถูกไปอยู่ในกลุ่มใด ซึ่งจะทำให้เกิดการผลักภาระไปยังเกษตรกร และตรงนี้ใครจะเป็นผู้แบกรับภาระไว้และการค้าแบบใหม่เกษตรกรผู้เลี้ยงก็ไม่มีความสุข เพราะมีกฏต่างๆ เข้ามาบีบมากมาย ซึ่งไม่นานจะเปิดเรียนเทอมใหม่ ในวันที่ 1 พ.ย.ทางหน่วยงานก็จะออกมาบีบผู้ประกอบการได้ว่าไม่เข้าเกณฑ์ แล้วนมที่ขายไม่ได้จะไปไว้ที่ไหน

หลวงปู่พุทธะอิสระ กล่าวว่า วันนี้ได้รับทราบเรื่องแล้วก็นำเอกสารมาพิจารณา อและปรึกษากับผู้รู้และได้ต่อสายโทรศัพท์โดยตรงไปยังผู้ที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงนายอยุทธ์ หรินทรานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ซึ่งรับทราบเรื่องดังกล่าวโดยจะได้มีการนัดหมายให้ผู้ประกอบการที่ได้รับความเดือดร้อนมาเปิดเวทีเพื่อทำความเข้าใจกันที่วัดอ้อน้อย ในวันจันทร์ที่ 13 ต.ค.ที่จะถึงนี้

“ตอนนี้คิดว่าสิ่งที่อยากจะช่วยคือ กลุ่มของเกษตรกรเป็นหลักเพราะเกิดปัญหาจริงๆ ส่วนภาคเอกชนอยากจะให้คุยกันในเรื่องของการแข่งขันกันในกลไกของการตลาดเพราะมีศักยภาพต่อกัน ส่วนผู้ประกอบการ Sme นั้นก็อยากจะให้เกิดการเรียนรู้ และทำให้เกิดมูลค่าในสินค้า เช่นจะนำไปทำสบู่ แชมพู หรือนมเปรี้ยว ซึ่งเป็นสินค้าแปรรูป ซึ่งเป็นการเรียนรู้เพื่อพัฒนาต่อยอดให้เกิดการพัฒนา ซึ่งก็ไม่อยากให้ใครมองว่าเป็นเครื่องมือของกลุ่มคนกลุ่มใด แต่การมาพูดคุยหาทางออกร่วมกันในทางที่เป็นไปได้น่าจะดีที่สุด” หลวงปู่พุทธะอิสระ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น