xs
xsm
sm
md
lg

สิ้นแล้ว “เคน ดาเหลา” ศิลปินแห่งชาติหมอลำกลอนชื่อดังอีสาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เคน  ดาเหลา ศิลปินแห่งชาติ ปี 2534 เสียชีวิตอย่างสงบเมื่อช่วงเย็นวันนี้
ศูนย์ข่าวขอนแก่น - “เคน ดาเหลา” ศิลปินแห่งชาติปี 34 หมอลำกลอนชื่อดัง เสียชีวิตลงแล้วอย่างสงบ หลังป่วยเป็นโรคมะเร็งปอดระยะสุดท้ายด้วยวัย 85 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนค่ำวันนี้ (9 ต.ค.) ที่บ้านเลขที่ 528/155 ภายในหมู่บ้านแก่นทองธานี ต.บ้านเป็ด อ.เมือง จ.ขอนแก่น ครอบครัว “ดาเหลา” พร้อมญาติต่างอยู่ในอาการโศกเศร้า หลังทราบข่าวว่าหมอลำ “เคน ดาเหลา” ศิลปินแห่งชาติ ได้เสียชีวิตลงแล้วด้วยวัย 85 ปีเมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา หลังเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งตับระยะสุดท้ายที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

โดยทางครอบครัวเตรียมกำหนดสวดอภิธรรมในวันพรุ่งนี้ (10 ต.ค.) ที่บ้านพักเป็นคืนแรก ส่วนกำหนดการฌาปนกิจกำลังอยู่ในระหว่างการปรึกษากันของญาติๆ

หมอลำ “เคน ดาเหลา” เป็นศิลปินหมอลำอาวุโสของภาคอีสาน มีลีลาการลำและศิลปะการใช้น้ำเสียงเป็นที่ประทับใจคนฟังได้อย่างดียิ่ง เป็นผู้มีปฏิภาณเป็นเลิศในเชิงกลอนลำสด มีคารมคมคาย ทั้งลำทางสั้น ลำทางยาว ลำเต้ย และลำเบ็ดเตล็ดอื่นๆ

รวมถึงสำนวนผญาแบบอีสาน สำนวนกลอนนอกจากจะเฉียบคมลึกถึงใจผู้ฟังแล้วยังประกอบไปด้วยสาระที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ในบรรดาศิลปินหมอลำอาวุโสของภาคอีสานเป็นหมอลำชั้นครูและเป็นต้นแบบของการแต่งกลอนลำและลำแม่บทที่เรียกว่า “ลำแม่บท 32 ท่า” ได้สมบูรณ์แบบที่สุด เป็นศิลปินผู้ได้รับการยอมรับในวงการหมอลำทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน

อีกทั้งยังได้ไปเผยแพร่ศิลปะแขนงนี้ในต่างประเทศและเป็นศิลปินผู้อุทิศตนเพื่อสังคมด้วยดีตลอดมา ได้รับคัดเลือกให้เป็น “ศิลปินแห่งชาติ” ประจำปีพุทธศักราช 2534 สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ)

สำหรับหมอลำ เคน ดาเหลา มีชื่อจริงว่า นายฮุด ดาเหลา ปัจจุบันอายุ 85 ปี เกิดเมื่อวันอังคารที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2473 เป็นชาว อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี บิดาชื่อนายโอ๋ ดาเหลา มารดาชื่อนางจันแดง ดาเหลา มีพี่น้องรวม 7 คน

หมอลำเคน ดาเหลา เรียนจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนบ้านหนองเต่า แล้วออกมาช่วยพ่อแม่ทำนาเหมือนชาวอีสานทั่วไป แต่ด้วยความสนใจในการแสดงพื้นบ้านอีสาน คือหมอลำ ที่มีอยู่ในตัว ประกอบกับเป็นผู้มีแววศิลปินมาตั้งแต่เด็กๆ หมอลำเคน ดาเหลา จึงได้เริ่มหัดเล่นหมอลำ ลิเกพื้นบ้าน และหนังประโมทัย โดยเริ่มหัดด้วยตัวเอง

ในปี พ.ศ. 2489 พออายุได้ 16 ปี พี่ชายคือ หมอลำคง ดาเหลา ได้เสียชีวิตลงอย่างกะทันหัน หมอลำเคน ดาเหลา จึงถูกจับให้แสดงแทนพี่ชาย ด้วยความสามารถที่มีอยู่ในตัว ประกอบกับเป็นผู้ที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง มีปฏิภาณและลีลาการลำที่โดดเด่น จึงสามารถแสดงหมอลำกลอนได้เป็นอย่างดี จนได้รับความนิยมในหมู่ชาวอีสานอย่างรวดเร็ว

สำหรับชีวิตครอบครัวหมอลำเคน ดาเหลา ได้ประกอบอาชีพทางด้านศิลปินด้วยการแสดงหมอลำเพียงอย่างเดียว จนประสบผลสำเร็จในด้านชื่อเสียง และมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีพอสมควร จนสามารถสนับสนุนให้บุตร-บิดา ได้รับการศึกษาในระดับสูง ๆ และประกอบอาชีพอย่างมั่นคงได้ หมอลำเคน ดาเหลา มีภรรยา และบุตร ดังนี้ ภรรยาคนที่ 1 คือ นางเบ็ญ คำไม มีบุตรด้วยกัน 3 คน, ภรรยาคนที่ 2 คือ นางพูนทรัพย์ ผาลา มีบุตรด้วยกัน 1 คน, ภรรยาคนที่ 3 คือ นางคำพา ฤทธิทิศ มีบุตรด้วยกัน 6 คน, ภรรยาคนที่ 4 คือ นางบุญเพ็ง ไผ่ผิวไชย ไม่มีบุตรด้วยกัน และนางบุญเพ็ง ไผ่ผิวไชย ได้เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดงและเสียชีวิตไปเมื่อปี 2551

สำหรับผลงานที่ผ่านมา ปี พ.ศ. 2489-2509 ตั้งโรงเรียนหมอลำที่บ้านหนองเต่า อ.ตระการพืชผล และอำเภอเมือง จ.อุบลราชธานี, ปี พ.ศ. 2527 ได้รับเชิญไปลำเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยอีสาน ที่ประเทศญี่ปุ่น, ปี พ.ศ. 2531 ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประจำปี 2531 สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) ของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ, ปี พ.ศ. 2534 ได้รับคัดเลือกให้เป็น “ศิลปินแห่งชาติ” ประจำปีพุทธศักราช 2534 สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ)

ผลงานด้านกลอนลำของหมอลำเคน ดาเหลา ส่วนใหญ่เกี่ยวกับเรื่อง การเมืองการปกครอง ด้านเศรษฐกิจ ด้านศาสนาและความเชื่อ ด้านการศึกษา ด้านขนบธรรมเนียมประเพณี ด้านการดำเนินชีวิต
ภาพขณะลำกลอน


กำลังโหลดความคิดเห็น