พิจิตร - ราคาข้าวนาปีเมืองชาละวันส่อร่วง หลังข้าวไทยไร้ตลาดส่งออกใหม่ ขณะที่ “กลุ่มชาวนาพาสุข” ยันทำข้าวอีนทรีย์ขาย ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กช่วยทำตลาด อยู่ได้ไม่ต้องง้อโครงการจำนำข้าว
วันนี้ (3 ต.ค.) นางมิ่งขวัญ พุกเปี่ยม ประธานชมรมโรงสีข้าวจังหวัดพิจิตร ที่มีสมาชิก 34 โรง เปิดเผยว่า ข้าวนาปีปีนี้คาดว่าผลผลิตจะมีไม่น้อยกว่าฤดูกาลที่ผ่านมาคือประมาณ 1 ล้านตันเศษ โดยขณะนี้รับซื้อข้าวเปลือกอยู่ที่ตันละ 7,000-7,200 บาท ผลผลิตเข้าสู่โรงสีแล้วประมาณ 20% แต่แนวโน้มราคาคาดว่าจะลดลงอีก เนื่องจากไม่มีการเปิดตลาดเพื่อการส่งออกใหม่ อีกทั้งจำนวนผู้ส่งออกก็มีลดลง
ส่วนที่มีข่าวว่าชมรมโรงสีไปส่งเสริมให้ชาวนาพิจิตรปลูกข้าวปลอดสารพิษ หรือปลูกข้าวอินทรีย์แล้วจะมีการรับซื้อข้าวเปลือกกลับคืนในราคาตันละ 10,000 บาท นางมิ่งขวัญออกมาปฏิเสธว่าไม่เคยมีข้อตกลงดังกล่าว คงเป็นการส่งเสริมเฉพาะกลุ่มที่ทำกันในวิสาหกิจชุมชน ดังนั้น เกษตรกรต้องศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนการลงทุน เพราะอาจมีความเสี่ยงหากมีปริมาณมากแล้วการบริหารจัดการไม่เป็นระบบ
ด้านนายชัชชนะ ปรารถนารักษ์ อายุ 47 ปี เป็นชาวนา อยู่บ้านเลขที่ 18 หมู่ 6 ตำบลบ้านบุ่ง อ.เมืองพิจิตร ซึ่งทำนาข้าวอินทรีย์ 50 ไร่ ไม่ใช้สารเคมี และยาฆ่าแมลง แต่ทำน้ำหมักชีวภาพจากพืชสมุนไพรเป็นสารไล่แมลง เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่า ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาตนทำนาตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง จึงแบ่งผืนนาปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี 25 ไร่ ข้าวหอมนิล 5 ไร่ ปลูกข้าวหอมประทุม 20 ไร่ ปี 56 ได้ผลผลิตโดยรวม 25 ตัน
นายชัชชนะบอกว่า ตนไม่ได้นำข้าวเข้าโครงการรับจำนำ แต่ใช้วิธีนำไปสีเป็นข้าวสารบรรจุถุงสุญญากาศขาย โดยรวมกลุ่มกับเพื่อนชาวนา จ.พิจิตร จ.สุโขทัย จ.พิษณุโลก จ.กำแพงเพชร เกือบ 100 คน ในนาม “กลุ่มชาวนาพาสุข” ปลูกเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ประมาณ 1,500 ไร่
จากนั้นก็ทำตลาดของตนเองโดยให้อาสาสมัคร “กลุ่มผูกปิ่นโตข้าว” เป็นผู้ช่วยขายผ่านระบบโซเชียลเน็ตเวิร์ก ซึ่งก็มีกลุ่มผู้บริโภคที่รักสุขภาพมาขอซื้อผลผลิตที่เป็นข้าวเกษตรอินทรีย์ไปหุงกิน
“ปีที่ผ่านมายืนยันว่ามีรายได้มากกว่า 1 ล้านบาท ไม่ต้องง้อโครงการรับจำนำข้าว”
ส่วนเรื่องของคุณภาพผลผลิตก็มีการส่งข้าวไปตรวจมาตรฐานที่ ม.บูรพา จ.จันทบุรี โดยได้ GAP ของกระทรวงเกษตรฯ เป็นการยืนยัน
นายชัชชนะยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาภาครัฐโดยนายสุรชัย ขันอาสา ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ที่ส่งเสริมให้ชาวนาพิจิตรลดต้นทุนการผลิตด้วยการทำนาแบบเกษตรอินทรีย์นั้นมาถูกทางแล้ว แต่สิ่งที่ต้องทำเพิ่มเติมคือการช่วยหาตลาดให้ชาวนาแบบยั่งยืน
ส่วนชาวนาก็ต้องซื่อสัตย์ทำข้าวให้มีคุณภาพตามที่ตลาดต้องการ และที่สำคัญต้องขยันใส่ใจทำนาให้มากลงแรงของตัวเองมากกว่าที่จะไปจ้างแรงงาน ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุน ถ้าทำได้อย่างนี้ก็ไม่ต้องง้อโครงการรับจำนำข้าวอีกต่อไป