xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มอนุรักษ์อุดรฯ เข้ากรุงบุกศูนย์ดำรงธรรม จี้หยุดประทานบัตรเหมืองโปแตซ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อุดรธานี -กลุ่มอนุรักษ์อุดรฯ บุกศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย ยื่นรัฐบาลหยุดประทานบัตรเหมืองโปแตช จนกว่าจะมีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ หรือ SEA ให้ได้ข้อสรุปอย่างสมบูรณ์ หวังเป็นทางเลือกใหม่ในการพัฒนาอุตสาหกรรมเกลือ และโปแตช ภาคอีสาน เมินพึ่งหน่วยงานรัฐในจังหวัด เหตุมีท่าทีสนับสนุนนายทุนเหมือง

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 26 ก.ย.57 ตัวแทนชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จากจังหวัดอุดรธานี จำนวน 10 คน ได้เดินทางไปยื่นหนังสือที่ศูนย์ดำรงธรรมกระทรวง มหาดไทย กรุงเทพมหานคร โดยมีนายบรรจง ตรีกุล ผู้อำนวยการศูนย์ฯ มารับเรื่อง พร้อมเปิดห้องรับรองเพื่อให้กลุ่มชาวบ้านได้นั่งพูดคุย อธิบายปัญหาโครงการเหมืองแร่โปแตช เป็นเวลานานกว่า 1 ชั่วโมง ก่อนที่เจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ จะนำหนังสือร้องเรียนไปลงรับเอกสารตามขั้นตอน

ทั้งนี้ กลุ่มชาวบ้านมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลจำนวน 3 ข้อ ได้แก่ 1.) ขอให้ยกเลิกโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี ที่รุกล้ำเขตทหารในส่วนของ กอ.รมน.ภาค 2 และคลังแสงใต้ดิน และอยู่ท่ามกลางชุมชน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ และมีผลกระทบรุนแรงต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม 2.) ขอให้มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Impact Assessment : SEA) แหล่งแร่โปแตชภาคอีสาน เพื่อให้เป็นแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเกลือ และโปแตช ภาคอีสานโดยรวม ก่อนที่จะมีการดำเนินการรายโครงการ

และ 3.) ขอให้ยุติกระบวนการขออนุญาตประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี ซึ่งมีปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่เอาไว้ก่อน จนกว่าจะมีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ หรือ SEA ให้ได้ข้อสรุปอย่างสมบูรณ์ เพื่อให้เป็นทางเลือก และมีแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเกลือและโปแตช ภาคอีสานโดยรวม

นายเตียง ธรรมอินทร์ กรรมการกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่า กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี คัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตช มาเป็นเวลากว่า 14 ปีแล้ว ผ่านมาหลายรัฐบาล และยื่นหนังสือต่อทุกรัฐบาล แต่ปัญหาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข วันนี้จึงมายื่นกับรัฐบาลใหม่ผ่านศูนย์ดำรงธรรม เพราะว่าโครงการฯ ยังคงเดินหน้าในขั้นตอนประทานบัตร โดยที่มีข้าราชการตั้งแต่ระดับกรมเหมืองแร่ ผู้ว่าฯ ลงไปจนถึงผู้ใหญ่บ้านต่างให้การสนับสนุนบริษัทเหมือง ไม่ฟังเสียงคัดค้านของชาวบ้านในพื้นที่

“ตั้งแต่มีกฎอัยการศึกสั่งห้ามไม่ให้ชาวบ้านเคลื่อนไหว กลุ่มอนุรักษ์ฯ ก็หยุดไม่มีการชุมนุมเรียกร้องใดๆ แต่ในพื้นที่กลับพบว่า บริษัทโปแตชไม่หยุด ยังคงเดินหน้าในขั้นตอนประทานบัตร จัดตั้งตัวแทนผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ โดยมีผู้ว่าฯ และข้าราชการในจังหวัดให้การสนับสนุน วันนี้ชาวบ้านจึงตัดสินส่งตัวแทนมายื่นหนังสือร้องเรียนที่ส่วนกลาง เพราะถ้าร้องเรียนในจังหวัดก็คงไม่เป็นผล และไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา” นายเตียง กล่าว

ด้านนายบรรจง ตรีกุล ผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า เมื่อรับเรื่องร้องเรียนของกลุ่มชาวบ้านแล้วก็จะดำเนินการตามขั้นตอน นำเรียนผู้บังคับบัญชา คือ ปลัดกระทรวง เพื่อมีการตรวจสอบข้อร้องเรียน ข้อเท็จจริงต่างๆ

ทั้งในส่วนของหน่วยงาน และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หลังจากนั้น ทางศูนย์ฯ ก็จะแจ้งกลับไปตามที่อยู่ หรือเบอร์โทรศัพท์ของผู้ร้อง และผู้ร้องสามารถติดตามเรื่องร้องเรียนได้ตามเบอร์โทรศัพท์ของศูนย์ฯ ที่ให้ไว้

ขณะที่นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคอีสาน ได้เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่า หลังจากการรัฐประหาร ช่องทางของชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาเชิงโครงสร้างถูกปิดกั้นทุกทาง โดยที่ไม่สามารถจัดการชุมนุมเรียกร้อง หรือเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมืองได้ และให้ฟังคำสั่งของรัฐบาลเท่านั้น

ซึ่งตนเห็นว่าไม่มีความเป็นธรรมต่อชาวบ้าน เพราะหลายพื้นที่มีปัญหาสั่งสมมายาวนานยังไม่ได้รับการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นกรณีป่าไม้ที่ดิน และกรณีเหมืองแร่ ที่กำลังเดือดร้อนกันทั่วประเทศ

“ที่ผ่านมา ศูนย์ดำรงธรรมเป็นเพียงหน่วยงานรับเรื่องราวร้องทุกข์ธรรมดาๆ ของชาวบ้านทั่วไป แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนระดับโครงสร้างอำนาจในการจัดการทรัพยากรได้ ซึ่งรัฐบาลจะต้องเปิด และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมให้ชาวบ้านมากกว่านี้ เพราะมันเป็นวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของสังคมไทย ไม่ใช่การสั่งการจากผู้มีอำนาจเพียงอย่างเดียว” นายสุวิทย์ กล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น