xs
xsm
sm
md
lg

ภาคประชาชนเรียกร้องยกเลิกกฎอัยการศึก เปิดโอกาสประชาชนมีส่วนร่วม ชะลอพิจารณากฎหมายแร่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ค คนอนุรักษ์
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - 4 องค์กรออกแถลงการณ์เรียกร้องยกเลิกกฎอัยการศึก เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม รับรองสิทธิชุมชนตามมาตรา 4 แห่งรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว 2557 พร้อมชะลอการพิจารณากฎหมายแร่โดย สนช. รอรัฐสภาจากการเลือกตั้ง หลังชาวบ้านถูกปิดปาก ห้ามเคลื่อนไหวคัดค้านเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี เหมืองแร่ทองคำ จ.เลย

วันนี้ (24 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊กคนอนุรักษ์ เผยแพร่แถลงการณ์ของคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพอีสาน (ศสส.) กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา และกลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ดาวดิน) เรื่อง “กฎอัยการศึกกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม : กรณีเหมืองแร่ประเทศไทย” ในเวทีทิศทางปฏิรูปประเทศไทย ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2557 ที่มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) ระบุว่า

จากประเด็นปัญหาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกรณีเหมืองแร่ประเทศไทย ที่ผ่านมา ซึ่งถูกผูกขาดโดยอำนาจรัฐ ทั้งนโยบายการจัดการทรัพยากรแร่ กระบวนการตัดสินใจในการอนุมัติอาชญาบัตร และประทานบัตร อันนำมาสู่ปัญหาการละเมิดสิทธิชุมชน และประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงการประกอบกิจการเหมืองแร่ ซึ่งแม้ว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 จะถูกยกเลิกไป แต่การหลักการสิทธิชุมชนก็ยังคงได้รับการรับรอง ตามมาตรา 4 แห่งรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ที่บังคับใช้อยู่ปัจจุบัน ซึ่งมีผลให้รัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติตาม ที่ผ่านมา ประชาชนและชุมชนใช้กระบวนการมีส่วนร่วมในการต่อรองอำนาจรัฐ เพื่อนำไปสู่การพิสูจน์ข้อเท็จจริง เรียกร้องจากฝ่ายรัฐ ข้าราชการ และผู้ประกอบการ โดยมีการตั้งคณะกรรมการทั้งระดับจังหวัด และระดับประเทศเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงของปัญหาที่เกิดขึ้น แต่เมื่อมีกฎอัยการศึกก็กลายเป็นล้มกระบวนตั้งแต่ต้น และเดินหน้าการอนุมัติอนุญาต โดยไม่คำนึงถึงข้อตกลง กระบวนการต่างๆ ที่ผ่านมา รวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน

การที่หน่วยงานรัฐอ้างฐานอำนาจตามกฎอัยการศึก ในการใช้แนวทางแก้ไขปัญหาโดยใช้ความรุนแรง เช่น กรณีการใช้กองกำลังทหารในการคุกคามชาวบ้าน กรณีเหมืองทองคำ จ.เลย การเรียกตัวแทนผู้คัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ไปรายงานตัวเพื่อปรับทัศนคติ และให้ยุติการเคลี่อนไหว ปิดกั้นการรณรงค์ให้ความรู้ ไม่ให้มีการให้ประชุมปรึกษาหารือ รวมถึงการปิดวิทยุชุมชนคนฮักถิ่นของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ซึ่งเป็นช่องทางสำคัญในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารนั้น

เป็นการใช้กฎอัยการศึกเป็นเครื่องมือของทหาร ข้าราชการ ผู้ประกอบการ ในการละเมิดสิทธิชุมชน และประชาชนในการแสดงออก และนำไปสู่การให้ผู้ประกอบการฉวยโอกาสเข้าไปจัดกิจกรรมให้ข้อมูลเพียงด้านเดียว อันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ฝ่ายผู้ประกอบการ แต่ในทางกลับกันกลไกของชาวบ้านในการแสดงออกซึ่งการมีส่วนร่วมกลับให้ไปยื่นต่อศูนย์ดำรงธรรม กับสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งมิใช่กลไกในการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ โดยไม่คำนึงถึงหลักการสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 4 ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน

รวมถึงในช่วงเวลานี้มีการพยายามเสนอกฎหมายหลายฉบับ รวมถึงกฎหมายแร่ และพระราชบัญญัติการชุมชนสาธารณะโดยหน่วยงานรัฐ เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญติแห่งชาติ โดยไม่มีกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการถกเถียงถึงข้อดีข้อเสียของกฎหมาย ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ที่ประสบกับปัญหาได้เข้าไปมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

ดังนั้น การพิจารณาออกกฎหมายอันรวบรัดนี้จะนำไปสู่การสร้างปัญหาใหม่ในอนาคตต่อชุมชนและประชาชน ซึ่งการพิจารณาออกกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน ควรที่จะมีการดำเนินการในช่วงที่มีรัฐธรรมนูญ และระบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ข้อเสนอ

1.ยกเลิกกฎอัยการศึกเพื่อเปิดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนกลับคืนมา โดยรัฐบาล คสช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องรับรองสิทธิชุมชนตามมาตรา 4 แห่งรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557

2.ต้องชะลอการพิจารณากฎหมายแร่ และกฎหมายที่เกี่ยวกับการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ สิทธิเสรีภาพของประชาชนในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อนำไปพิจารณาในรัฐสภาหลังจากการมีเลือกตั้งในอนาคตต่อไป

ด้านเว็บไซด์ประชาไท http://www.prachatai.com รายงานเวทีเสวนาดังกล่าวว่า นายเตียง ธรรมอินทร์ ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ต.ห้วยสามพาด อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี กล่าวว่า ชาวบ้านในพื้นที่คัดค้านเหมืองแร่โปแตชอุดรธานีมากว่า 14 ปี หลังมี คสช.ก็ยื่นหนังสือไปถึงผู้บัญชาการมณฑลทหารบก (มทบ.) ที่ 24 จ.อุดรธานี และเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2557 ทหารได้เชิญตัวแทนชาวบ้าน 2 คน ไปชี้แจงข้อมูลโครงการ แต่ชาวบ้านต่อรองขอไปชี้แจง 5 คน เพื่อความปลอดภัย

แต่เจ้าหน้าที่แจ้งว่าอยู่ในช่วงประกาศกฎอัยการศึก ขอให้หยุดเคลื่อนไหวก่อน ซึ่งชาวบ้านก็รับฟัง แต่เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน เวทีเดินหน้าประเทศไทย เดินหน้าคืนความสุขให้ชาวอุดรธานี เชิญรองผู้ว่าราชการจังหวัด ทหาร ตำรวจ และนักธุรกิจร่วมเสวนา แต่เนื้อหากลับสนับสนุนโครงการเหมืองแร่โปแตช อ้างว่าทรัพยากรแร่เป็นทรัพยากรของชาติ สามารถขุดนำมาใช้ได้

นายเตียง กล่าวว่า กฎอัยการศึก และการระงับการออกอากาศวิทยุชุมชน ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ แต่นายทุน และภาครัฐหกลับดำเนินโครงการได้อย่างสะดวก ชาวบ้านจึงทำได้เพียงส่งหนังสือถึง นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)

ทั้งนี้ หลังประกาศใช้กฎอัยการศึก มีแนวโน้มการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) จะผ่านความเห็นชอบ

นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา กล่าวถึงกรณีเหมืองแร่ทองคำ จ.เลยว่า วันที่ 15 พฤษภาคม ก่อนประกาศใช้กฎอัยการศึก เกิดเหตุชายฉกรรจ์ 300 คน พร้อมอาวุธครบมือ ทำร้ายชาวบ้านบาดเจ็บหลายราย จึงเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ติดตามตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ และขอกำลังคุ้มครองชาวบ้าน เพราะมีการปล่อยข่าวว่าจะมีการขนแร่อีกครั้งในคืนวันที่ 19 พฤษภาคม แต่ข้อเรียกร้องของชาวบ้านกลับไม่เป็นผล

และหลังการรัฐประหาร มีการจัดกองกำลังจากจังหวัดทหารบกเลย 1 กองร้อย เข้าไปในชุมชม มีการจัดตั้งคณะกรรมการทหาร 4 ชุด แก้ปัญหาเหมืองแร่ทองคำ น้ำ ฟื้นฟูสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่ไม่มีชาวบ้านเกี่ยวข้องร่วมอยู่ด้วยเลย และยังพยายามที่จะให้ชาวบ้านกับบริษัทคุยกันให้ได้ภายใต้ข้อเสนอขอขนแร่รอบใหม่ ชาวบ้านจึงทำหนังสือถึงทหารว่า ไม่ยอมรับการทำคณะกรรมการ 4 ชุด ทำให้ชาวบ้านถูกเรียกรายงานตัว นอกจากนี้ การจัดประชุม และการรณรงค์ก็ถูกห้ามทำอีก

จากนั้นคณะกรรมการทั้ง 4 ชุด ชักชวนชาวบ้านทำบันทึกข้อตกลงระหว่างทหาร ข้าราชการ บริษัทเอกชน และชาวบ้าน แต่ชาวบ้านไม่ยอมรับ เพราะไม่มีส่วนร่วม ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจา และดึงชาวบ้านให้ร่วมทำบันทึกข้อตกลง แต่ชาวบ้านไม่ให้ความร่วมมือ

“ถ้าชาวบ้านยังดื้อ ไม่ยอมทำบันทึกข้อตกลงร่วม ก็อาจมีเหตุการณ์ที่ต้องไม่เสียเวลาทำบันทึกข้อตกลง เช่น อาจจะมีการขนแร่โดยมีทหารเป็นคนคุ้มกัน นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใน จ.เลย”
กำลังโหลดความคิดเห็น