เชียงราย - มฟล.เปิดเวทีสัมมนา “อุ้มบุญ อุ้มบาป หลากมิติ หลากมุมมอง” ฉลองครบรอบ 16 ปี นิมนต์พระสงฆ์-นักกฎหมาย-สูตินารีแพทย์ ร่วมวิพากษ์ ชี้กฎหมายไทยออกไม่ทันทำวุ่น ล่าสุดพม.เร่งดันอีกรอบคุมหมด ห้ามทำเป็นธุรกิจ-ห้ามโคลนนิ่ง-ห้ามเสนอข่าว ยันห้ามคู่เกย์ทำ
ในการสัมมนาหัวข้อ “อุ้มบุญ อุ้มบาป หลากมิติ หลากมุมมอง” ณ อาคาร พล.ต.อ.เอกเภา สารสิน เนื่องในโอกาสครบรอบ 16 ปีแห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ต.ท่าสุด อ.เมือง จ.เชียงราย วานนี้ (25 ก.ย.) มี ดร.พระมหาธีรเพชร ธีรเวที จากมหาวิชชาลัยพุทธเศรษฐศาสตร์ ศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายการแพทย์ และ ศ.คลินิกแพทย์หญิง วิบูลพรรณ ฐิตะดิลก ประธานราชวิทยาลัยสูตินารีแพทย์แห่งประเทศไทย ร่วมเป็นวิทยากร ซึ่งมีผู้เข้าร่วมรับฟังนับพันคน
ช่วงแรก ศ.คลินิกแพทย์หญิง วิบูลพรรณ อธิบายถึงกระบวนการการตั้งครรภ์ จนถึงการเกิดปัญหาการจ้างให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทน หรือที่เรียกว่าอุ้มบุญ จนเกิดเป็นปัญหาในหลายประเทศ และเป็นข่าวเกรียวกราวในประเทศไทยอยู่ขณะนี้
ศ.แสวงกล่าวว่า เดิมการอุ้มบุญเรียกว่าผสมเทียม ต่อมาเรียกว่าปฏิสนธิเทียม กระทั่งปัจจุบันเรียกว่าเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ โดยใช้วิธีการทำเด็กหลอดแก้ว ด้วยการนำน้ำอสุจิและไข่ของคู่สามีภรรยาผสมในหลอดแก้วก่อน ซึ่งกรณีนี้สามารถทำได้ โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับกฎหมายใดๆ รวมทั้งยังมีเรื่องการผ่าไข่ เพื่อช่วยเชื้ออสุจิให้ผสมพันธุ์ได้ง่ายขึ้น
แต่ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อมีการส่งการผสมเข้าไปในมดลูก ที่เรียกการ “อุ้มบุญ” เพราะมนุษย์ยังไม่สามารถเอาชนะธรรมชาติด้วยการมีมดลูกได้ จึงต้องเอาไปฝากที่มดลูกคนอื่น ซึ่งกรณีนี้ในต่างประเทศเกิดปัญหา 2 ประการ คือ 1. ผู้ตั้งท้องไม่ยอมให้ทารกกับเจ้าของอสุจิและไข่ จนเกิดการฟ้องร้องกันขึ้น เพราะกฎหมายแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน
ส่วนประเทศไทยมีกฎหมายระบุเอาไว้ชัดเจนอยู่แล้ว คือ ประมวลกฎหมายแพ่ง ที่ระบุว่า “ผู้ใดตั้งครรภ์ก็ให้เป็นลูกของคนผู้นั้น” ซึ่งกฎหมายนี้เขียนขึ้นตามธรรมชาติ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน คือ เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น จึงเป็นปัญหาให้มีการร่างกฎหมายใหม่ เพื่อให้ผู้เป็นเจ้าของไข่เป็นแม่ได้
2. การที่ผู้ตั้งครรภ์ยอมให้ลูกกับผู้ที่เป็นเจ้าของอสุจิและไข่เพื่อแลกกับค่าจ้าง แต่มีการเบี้ยวค่าจ้างกันขึ้น ซึ่งกรณีนี้ก็ต้องวิเคราะห์กันว่าขัดต่อกฎหมายแพ่ง มาตรา 150 เกี่ยวกับการกระทำที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีหรือไม่ด้วย แต่ในต่างประเทศก็ยังไม่ชัด บางศาลตัดสินว่าไม่ขัด แต่บางศาลบอกขัด เพราะไม่เช่นนั้นมดลูกของผู้หญิงจะกลายเป็นโรงงานให้เช่าทำลูกไป
ศ.แสวงกล่าวว่า สำหรับประเทศไทยมีการยกร่างกฎหมายอุ้มบุญตั้งแต่ปี 2553 ร่วมกับกฎหมายอื่นๆ ที่คงค้างอีกกว่า 100 ฉบับ แต่ผ่านการยุบสภา และในช่วงรัฐบาลที่ผ่านมานำเสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรแค่ 24 ฉบับ โดยไม่มีร่าง พ.ร.บ.อุ้มบุญ แสดงให้เห็นว่ามีกฎหมายอื่นๆ มากมายที่คงค้าง เพราะปัญหาบ้านเมืองไม่สงบ
“ล่าสุดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กำลังผลักดันให้พิจารณาร่างกฎหมายนี้กันอยู่ โดยในร่างกำหนดเอาไว้พร้อมหมดว่า เด็กอุ้มบุญจะเป็นลูกใคร ห้ามมีการทำเป็นธุรกิจ ห้ามเผยแพร่ข่าว ห้ามโคลนนิ่ง ห้ามเป็นนายหน้า ห้ามแม่ลูกอุ้มบุญให้กัน หรือห้ามคู่เกย์ทำ เพราะสงสารเด็กที่จะโตขึ้นมาโดยไม่รู้ว่าใครเป็นแม่ตัวเอง เป็นต้น”
ขณะที่ ดร.พระมหาธีรเพชร ธีรเวที ได้ยกตัวอย่างคดีฟ้องร้องในต่างประเทศเกี่ยวกับแม่อุ้มบุญ จากนั้นได้กล่าวสอนว่า ในทางพระพุทธศาสนา การเกิดมีมากกว่าตามธรรมชาติ และการอุ้มบุญมาก เพราะมีมากถึง 8 ประการ แสดงว่า การอุ้มบุญไม่ใช่สิ่งทันสมัยสำหรับทางพระพุทธศาสนา
แต่พระพุทธเจ้าก็ทรงสอนว่า กรณีการจะเกิดต้องขึ้นอยู่ 3 ประการ คือ สัจธรรม มองตามความเป็นจริง เช่น หญิงคนนั้นตั้งครรภ์ได้หรือไม่อย่างไร เป็นต้น จริยธรรม คือ ไม่ทำให้เกิดความเสื่อมลง โดยเฉพาะต่อหญิงที่ตั้งครรภ์ และกฎหมายหรือกติกาสังคม โดยทั้ง 3 เรื่องต้องเอื้อกัน
“ผู้ที่จะอุ้มบุญสิ่งแรกที่คิด คือ เรื่องเงินมากกว่าความรักลูก เขาจึงต้องการเงินกว่า 90-100% จิตใจที่เป็นแม่ก็หายไป ดังนั้นจริยธรรมก็ไม่เกิดขึ้นแล้วในขั้นนี้ จากนั้นเมื่อคลอดลูกแล้ว ผู้ที่เป็นเจ้าของไข่ก็ไม่อาจพูดได้เต็มปากว่าเป็นแม่ จึงเห็นได้ว่านี่คือปัญหาจริยธรรมทางพระพุทธศาสนา ไม่ยุ่งเกี่ยวกับธรรมชาติจะมีหรือไม่มีก็แล้วแต่ เพราะถ้าไปบิดเบือนธรรมชาติก็เกิดสารพัดปัญหาตามมา”