ศูนย์ข่าวศรีราชา - นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ชำแหละระบบการจัดทำอีไอเอของประเทศไทย กลายเป็นธุรกิจสิ่งแวดล้อม ชี้คนทำ-คนพิจารณาอนุมัติ อยู่ในวงการเดียวกัน ย่อมรู้จักกันดี สามารถนำเสนอข้อมูลตามที่คณะกรรมการต้องการเพื่อให้รายงานผ่านความเห็นชอบ รับรายได้อีกก้อน และได้งานในอนาคต
นายสนธิ คชวัฒน์ เลขาธิการสมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย และที่ปรึกษามูลนิธิจิตรอาสา เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีโครงการพัฒนาที่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือรายงานอีไอเอ/อีเอชไอเอ ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2535 จำนวนมาก เช่น โครงการที่พักอาศัยขนาด 80 ห้องขึ้นไป โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนขนาด 10 เมกะวัตต์ขึ้นไป การขุดเจาะปิโตรเลียมบนบกและในทะเล ระบบคมนาคมขนส่งทางบก ทางอากาศ
โดยเมื่อจะพัฒนาโครงการต้องจัดจ้างที่ปรึกษาที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ชำนาญการต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ปัจจุบันมีเกือบ 70 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่จะรับจัดทำรายงานอีไอเอด้านที่พักอาศัยมากกว่าร้อยละ 80 ที่เหลือก็รับจัดทำรายงานในหลายด้าน แต่สิ่งที่น่าสังเกต คือ ราคาค่าจ้างในการจัดทำรายงานสูงขึ้นจากปี 2554 เท่าตัว เช่น โครงการด้านที่พักอาศัยในปี 2554 อยู่ที่ 7-8 แสนบาท ปัจจุบันอยู่ที่ 1.5-2 ล้านบาท แล้วแต่ขนาด และที่ตั้งโครงการ
โครงการประเภทเหมืองแร่ปี 2554 อยู่ที่ 0.8-1.5 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ที่ 3 ล้านบาทขึ้นไป ประเภทโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ หรือโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน ในปี 2554 อยู่ที่ 1-2 ล้านบาท ปัจจุบันราคา 3.5 ล้านบาทขึ้นไป โรงงานประเภทปิโตรเคมี โรงกลั่นน้ำมัน ปี 2554 อยู่ระหว่าง 1.5-2.5 ล้านบาท ปัจจุบัน 5 ล้านขึ้นไป ซึ่งราคาดังกล่าวอาจไม่รวมค่าจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งต้องจัดเวทีอย่างน้อย 2 ครั้ง โดยที่เจ้าของโครงการเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง
จากการสอบถามบริษัทที่ปรึกษาว่าทำไมราคาค่าจัดทำรายงานจึงสูงมาก ส่วนใหญ่บอกว่า เนื่องจาก สผ.ได้ออกข้อกำหนดต่างๆ ออกมาจำนวนมาก เช่น การจัดทำรายงานอีไอเอด้านที่พักอาศัยในบางแห่ง กำหนดให้ต้องทำการตรวจวัดมลพิษทางอากาศในบรรยากาศอย่างน้อย 3-7 วัน เช่น ตรวจวัดฝุ่นละออง ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ เป็นต้น เพื่อเป็นค่าแบล็กกราวนด์ ซึ่งราคาค่าตรวจวัดอาจต้องใช้งบประมาณเกือบ 2 แสนบาท หากรวมตรวจวัดอื่นๆ อีกก็ตก 3 แสนบาทเป็นอย่างน้อย
ส่วนโรงงานอุตสาหกรรม หรือโรงไฟฟ้า มีข้อกำหนดด้านการประเมินผลกระทบด้านอากาศที่ละเอียดมาก ค่าจัดทำแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ด้านอากาศอย่างเดียวก็ตกเกือบ 3 แสนบาทแล้ว นอกจากนี้ ยังต้องเสียค่าออกแบบแปลนอย่างละเอียด รวมทั้งตรวจวัดมลพิษอื่นอีกมากมายอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตอีกประการ คือ การจัดทำอีไอเอดังกล่าวเป็นเพียงการคาดการณ์ว่า เมื่อมีโครงการแล้วจะเกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยหรือไม่ หากมีก็จะเสนอมาตรการป้องกัน และลดผลกระทบไว้ในรายงาน เมื่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการให้ความเห็นชอบแล้ว หน่วยงานอนุญาตก็นำไอเอดังกล่าวไปขอออกใบอนุญาตต่อไป คณะกรรมการผู้ชำนาญการจะพิจารณารายงาน โดยใช้ข้อมูลที่เสนอในรายงาน โดยที่ผ่านมา ประมาณร้อยละ 95 ของโครงการที่นำเสนอจะได้รับความเห็นชอบ แต่ก็มีหลายโครงการที่อีไอเอผ่านความเห็นชอบ โดยขัดความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่
รวมทั้งมีหลายโครงการที่มีข้อร้องเรียนตามมามากมาย หลังจากเห็นชอบ และออกใบอนุญาตแล้ว เช่น โครงการเหมืองแร่ทองคำ จ.พิจิตร และ จ.ลย โครงการขุดเจาะก๊าซและน้ำมันในอ่าวไทย จ.นครศรีธรรมราช โครงการเหมืองแร่โปรแตช จ.อุดรธานี โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน จ.สระบุรี และ จ.ฉะเชิงเทรา โครงการก่อสร้างคอนโดฯ ขนาด 513 ห้องบังทิวทัศน์เมืองพัทยา โครงการขยายโรงกลั่นน้ำมันใน จ.ชลบุรี โครงการก่อสร้างถนนในเขตอุทยานจากภาคอีสานมาภาคตะวันออก
และยังมีอีกหลายโครงการที่กำลังจัดทำรายงานอีไอเอ/อีเอชไอเอ โดยไม่มีหน่วยงานราชการใดไปกำกับดูแล ปล่อยให้เป็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างเจ้าของโครงการ ที่ปรึกษา และประชาชนในพื้นที่ที่ไม่ยอมรับโครงการ เช่น โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือเพื่อขนส่งถ่านหิน และการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ โครงการขยายทางด่วนบูรพาวิถี โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.สงขลา การขุดเจาะน้ำมันในอ่าวไทย
นายสนธิ กล่าวว่า ที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่ง คือ นอกจากราคาค่าจัดทำรายงานอีไอเอ/อีเอชไอเอ ที่สูงมาก มากกว่าการทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญาเอก หรือทำงานวิจัยระดับชาติแล้ว ไม่อาจปฏิเสธถึงความสัมพันธ์ระหว่างที่ปรึกษา เจ้าหน้าที่ สผ. ซึ่งเป็นฝ่ายเลขาคณะกรรมการ และตัวคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย และเป็นข้าราชการเก่าของ สผ. ทั้ง 3 ฝ่ายอยู่ในวงการเดียวกัน ย่อมรู้จักกันเป็นอย่างดี ที่ปรึกษาทำงานให้เจ้าของโครงการต้องพยายามนำเสนอข้อมูลทุกอย่าง ตามที่ฝ่ายเลขา หรือคณะกรรมการฯ ต้องการ เพื่อให้รายงานผ่านความเห็นชอบ หมายถึงการได้รับรายได้อีกก้อน และได้งานในอนาคตอีก
หากโครงการใดที่ประชาชนร้องเรียน หรือต่อต้าน ก็ต้องเลือกว่าจะต้องทำให้โครงการผ่านความเห็นชอบโดยวิธีใด และทำไมเจ้าหน้าที่รัฐ หรือคณะกรรมการต้องออกข้อกำหนดมากมาย ที่ทำให้ราคาของรายงานสูงมากเกินความเป็นจริง ทั้งที่ข้อกำหนดบางอย่างก็ไม่มีความจำเป็น และหลายโครงการที่เห็นชอบก็เกิดปัญหาการร้องเรียน หรือไม่ยอมรับจากประชาชน หรือทำไมไม่นำข้อคิดเห็นจากนักวิชาการ และข้อห่วงกังวลจากประชาชน มาเป็นจุดเริ่มต้น หรือเป็นหัวข้อที่สำคัญในการจัดทำรายงาน ซึ่งจะลดแรงเสียดทานมากกว่าเป็นหัวข้อจากคณะกรรมการซึ่งส่วนใหญ่ใช้ดุลพินิจ
นอกจากนี้ ในการพิจารณารายงานของคณะกรรมการ ควรจะเป็นมาตรฐานเดียวกันทุกโครงการ ในประเภทเดียวกัน โดยฟังเสียงร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่เป็นที่ตั้ง มากกว่าไปตั้งประเด็นเล็กน้อยที่ไม่สำคัญ
“วันนี้เริ่มมีข้อสังเกตจากภาคประชาชนถึงความโปร่งใส ธรรมาภิบาล ผลประโยชน์ของบางคนที่อยู่ในกระบวนการจัดทำอีไอเอของประเทศไทย ว่ากำลังจะทำให้วิชาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมกลายมาเป็นธุรกิจสิ่งแวดล้อม กล่าวคือ รายงานอีไอเอ/อีเอชไอเอ จะเป็นเพียงแสตมป์สร้างความชอบธรรมให้แก่โครงการนั้นโดยที่ไม่สนใจเสียงคัดค้าน ร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ ขอเพียงให้รายงานผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการเท่านั้นเป็นพอ”