กาญจนบุรี - หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเอราวัณ กาญจนบุรี ประกาศบังคับใช้กฎหมายสั่งรื้อสิ่งปลูกสร้างรุกที่ 2 แปลง เนื้อที่ 7 ไร่ 2 งาน 33 ตารางวา รัฐเสียหายกว่า 5 แสนบาท บริเวณป่าบ้านพุเตย หมู่ 3 ตำบลท่ากระดาน อำเภอศรีสวัสดิ์ รุกอุทยานแห่งชาติเอราวัณ
วันนี้ (24 ก.ย.) นายปรยุษณ์ ไวว่อง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเอราวัณ ต.ท่ากระดาน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี กล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 6 ส.ค.57 ที่ผ่านมา คณะพนักงานเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเอราวัณ นำโดย นายยุทธพงศ์ ดำศรีสุข ตำแหน่งพนักงานป่าไม้ปฏิบัติการ ทำหน้าที่ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเอราวัณ พร้อมเจ้าหน้าที่ได้ร่วมกันออกตรวจสอบพื้นที่ที่ถูกบุกรุก แผ้วถาง ยึดถือ ครอบครอง จำนวน 2 แปลง บริเวณป่าบ้านพุเตย หมู่ 3 ต.ท่ากระดาน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ในเขตอุทยานแห่งชาติเอราวัณ พิกัด 505713 E 1594075 N และแปลงที่ 2 พิกัดที่ 505820 E 2594183 N (WGA 84)
จากการตรวจสอบแปลงที่ 1 ปรากฏผลพบพื้นที่ป่าถูกบุกรุกแผ้วถางครอบครองเพื่อทำการเกษตร โดยทำการถางพื้นไม้ล่างออก ซึ่งจากการตรวจสอบพบการปลูกพืชผลอาสิน ได้แก่ มะม่วง มะขาม มีการปลูกพริกขี้หนูชี้ฟ้า เนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ และมีการปลูกกล้วย ตามขอบแปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้าง จำนวน 2 หลัง หลังที่ 1 มีลักษณะเป็นกระต๊อบยกพื้นสูง ประมาณ 4 เมตร มีเสาไม้ จำนวน 13 ต้น ปูด้วยฟากไผ่ หลังคามุงด้วยกระเบื้อง มีการกั้นฝามิดชิดทั้ง 4 ด้าน กว้าง 5 เมตร ยาว 5 เมตร
หลังที่ 2 ลักษณะเป็นกระต๊อบยกพื้นสูงประมาณ 3 เมตร มีเสาไม้ จำนวน 6 ต้น หลังคามุงด้วยสังกะสี มีการกั้นฝา 2 ด้าน กว้าง 3.5 เมตร ยาว 5 เมตร คณะพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบพื้นที่ถูกบุกรุก ก่อสร้าง แผ้วถาง และยึดถือครอบครองดังกล่าว โดยใช้เครื่องมือตรวจวัดพิกัดจากสัญญาณดาวเทียม (GPS) ระบบ WGS 84 ทำการตรวจพิกัดรอบแปลงของพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกแผ้วถาง และยึดถือครอบครอง โดยวัดค่าพิกัด จำนวน 8 จุด ซึ่งคำนวณพื้นที่ที่ถูกบุกรุก จำนวน 6 ไร่ 2 งาน 13 ตารางวา
แปลงที่ 2 คณะพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบพื้นป่าที่ถูกบุกรุก แผ้วถาง ยึดถือครอบครอง โดยลักษณะพื้นที่มีการปลูกข้าวโพดทั่วพื้นที่ คณะพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบพื้นที่ถูกบุกรุกดังกล่าว โดยใช้เครื่องมือตรวจวัดพิกัดจากสัญญาณดาวเทียม (GPS) ระบบ WGS 84 ทำการตรวจพิกัดรอบแปลงของพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกแผ้วถาง และยึดถือครอบครอง โดยวัดค่าพิกัด จำนวน 4 จุด รวมพื้นที่ที่ถูกบุกรุกจำนวน 1 ไร่ 0 งาน 20 ตารางวา
ขณะตรวจสอบพื้นที่ไม่พบบุคคลหนึ่งบุคคลใดอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุ หรือบริเวณใกล้เคียงแต่อย่างใด จากการตรวจสอบทะเบียนรายชื่อการแจ้งครอบครองการทำประโยชน์ในที่แปลงสำรวจถือครองของราษฎรตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2541 ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเอราวัณ (แปลง CN) พื้นที่ที่ดำเนินการตรวจสอบทั้ง 2 แปลง ไม่มีการแจ้งการครอบครองการทำประโยชน์ในแปลงสำรวจ ถือครองของราษฎรตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2541 แต่อย่างใด และพื้นที่บุกรุกดังกล่าวไม่อยู่ในหลักเกณฑ์การสำรวจถือครองตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2541
คณะพนักงานเจ้าหน้าที่ได้คำนวณพื้นที่ป่าที่ถูกยึดถือครอบครอง จำนวน 2 แปลง ได้เนื้อที่รวม 7 ไร่ 2 งาน 33 ตารางวา คิดเป็นค่าเสียหายของรัฐโดยใช้แบบจำลองสำหรับประเมินค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมบางประการหลังการทำลายป่าไม้ ตามหนังสือกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่ ทส.0911.2/2181 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2547 และที่ ทส.0903.4/14889 ลงวันที่ 19 ส.ค. คิดเป็นค่าเสียหายของรัฐ แปลงที่ 1 ค่าเสียหาย จำนวน 470,143 บาท แปลงที่ 2 ค่าเสียหาย จำนวน 61,338 บาท
โดยได้รวบรวมพยานเอกสารหลักฐานประมวลเรื่องราวจัดทำเป็นบันทึกการตรวจยึด แจ้งความกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สภ.ศรีสวัสดิ์ ฐานกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 54 มาตรา 72 ตรี ฐานก่อสร้าง แผ้วถาง หรือทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่า หรือเข้ายึดถือครอบครองป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่
และผิดตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มาตรา 16 (1) (2) และมาตรา 24 ฐาน ยึดถือครอบครองที่ดินรวมตลอดถึงก่อสร้าง แผ้วถางป่า ภายในเขตอุทยานแห่งชาติ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ฐานทำด้วยประการใดๆ ให้เป็นอันตรายหรือทำให้เสื่อมสภาพซึ่งป่า หรือทรัพยากรอื่นๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ คณะเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการแจ้งความกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สภ.ศรีสวัสดิ์ เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายแล้ว ตามบันทึกประจำวัน (ปจว.) ข้อ 3 เวลา 16.00 น. คดีอาญาที่ 97/2557 ลงวันที่ 6 สิงหาคม 2557
ดังนั้น ตนในฐานะหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเอราวัณ ในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฉบับลงวันที่ 19 เมษายน พ.ศ.2547 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติ อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 สั่งให้ผู้ที่เข้าไปบุกรุกพื้นที่ทั้ง 2 แปลง ให้ทำลาย หรือรื้อถอนสิ่งก่อสร้างออกไปให้พ้นอุทยานแห่งชาติเอราวัณ และออกจากพื้นที่ที่อยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุทั้งหมด ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 25 ตุลาคม 2557
หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยปราศจากเหตุอันสมควร พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายมีความจำเป็นต้องดำเนินการทำลายหรือรื้อถอนสิ่งก่อสร้างพืชผลอาสิน หรือสิ่งอื่นใดที่ผิดไปจากสภาพเดิมออกไปให้พ้นอุทยานแห่งชาติเอราวัณ หรือทำให้สิ่งนั้นกลับคืนสู่สภาพเดิมเสียเอง โดยผู้กระทำผิดตามประจำวันดังกล่าว จะต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปในการที่พนักงานเจ้าหน้าที่กระทำการรื้อถอนเสียเองนั้นทั้งหมด เป็นเงิน จำนวน 10,000 บาท พร้อมทั้งต้องชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละยี่สิบห้าต่อปี ของค่าใช้จ่ายดังกล่าว
อนึ่ง ขอเรียนว่า ผู้กระทำผิดมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนี้ต่อหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเอราวัณภายใน 15 วัน นับแต่ได้รับแจ้งคำสั่งนี้ โดยคำอุทธรณ์ต้องทำเป็นหนังสือระบุโต้แย้ง และข้อเท็จจริง หรือข้อกฎหมายที่อ้างอิงประกอบด้วย แต่ทั้งนี้ การอุทธรณ์ดังกล่าวไม่เป็นเหตุให้ทุเลาการบังคับคำสั่งนี้ เว้นแต่จะได้มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับโดยชัดแจ้ง
และขอเรียนว่า ในกรณีที่ครบกำหนดระยะเวลาในการพิจารณาอุทธรณ์ตามมาตรา 45 แห่พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ประกอบกับกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว ไม่ว่าจะมีคำวินิจฉัยของผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์หรือไม่ ท่านในฐานะผู้รับคำสั่งทางปกครองสามารถที่จะยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองภายในระยะเวลา 90 วัน นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงแก่เหตุแห่งการฟ้องคดีความตามาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
โดยแยกออกเป็น 2 กรณี คือ 1.ถ้ามีการวินิจฉัยอุทธรณ์แล้ว ผู้รับคำสั่งมีสิทธิฟ้องคดีคัดค้านคำวินิจฉัยอุทธรณ์ภายในเวลา 30 วัน นับแต่วันที่รับแจ้ง หรือทราบคำวินิจฉัยอุทธรณ์
2.ถ้ากรณีที่ครบกำหนดระยะเวลาในการพิจารณาอุทธรณ์แล้ว แต่ผู้มีอำนาจยังไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ ผู้รับคำสั่งทางปกครองสามารถยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองในประเด็น การพิจารณาอุทธรณ์ล่าช้า รวมทั้งสามารถฟ้องในประเด็นเกี่ยวกับเนื้อหาของคำสั่งทางปกครองนั้นว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ด้วยก็ได้ โดยต้องใช้สิทธิฟ้องภายใน 90 วัน นับแต่วันครบกำหนดระยะเวลาในการพิจารณาอุทธรณ์
“สำหรับวิธีการยื่นคำฟ้องนั้น คำฟ้องต้องทำเป็นหนังสือยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของศาลปกครองชั้นต้นที่ผู้ฟ้องคดีมีภูมิลำเนา หรือที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลปกครองชั้นต้นนั้น หรือยื่นโดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนก็ได้ โดยถือว่าวันที่ส่งคำฟ้องแก่พนักงานไปรษณีย์เป็นวันที่ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครอง” นายปรยุษณ์ ไวว่อง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเอราวัณ กล่าว