กำแพงเพชร - พ่อค้าแม่ขายเร่งทำสารพัดผลิตภัณฑ์กล้วยไข่ เตรียมขายนักท่องเที่ยวในงาน “สารทไทยกล้วยไข่เมืองกำแพง” 23 ก.ย.-2 ต.ค. ขณะที่พื้นที่ปลูกทั่วทั้งจังหวัดเหลือเพียง 2,500 ไร่ จากอดีตกว่า 4 หมื่นไร่
วันนี้ (22 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ่อค้าแม่ค้าตลาดมอกล้วยไข่ หมู่ 2 ต.อ่างทอง อ.เมือง จ.กำแพงเพชร ต่างเร่งทำกล้วยฉาบอบเนย กล้วยฉาบน้ำตาล เผือกฉาบ มันฉาบเค็ม-หวาน กล้วยตากน้ำผึ้ง และกล้วยไข่ดิบ กล้วยไข่สุก หน่อกล้วยไข่ และสินค้าพื้นเมือง เช่น เฉาก๊วยชากังราว กระยาสารท เตรียมไว้ขายให้นักท่องเที่ยวช่วงเทศกาล “สารทไทยกล้วยไข่เมืองกำแพง” ที่จะเริ่มขึ้นในวันพรุ่งนี้ (23 ก.ย.) ถึงวันที่ 2 ต.ค.นี้ ที่สนามหน้าเมืองกำแพงเพชร
นางสมพร สุภีปรี อายุ 47 ปี แม่ค้าตลาดมอกล้วยไข่ หมู่ 2 ต.อ่างทอง กล่าวว่า มอกล้วยไข่เป็นแหล่งรวมผลิตภัณฑ์กล้วยไข่แปรรูปจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งนำกล้วยที่ปลูกในท้องถิ่นมาแปรรูปที่เป็นผลผลิตขายจนกลายเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงของจังหวัด โดยนำกล้วยมาแปรรูปเป็นกล้วยอบเนย กล้วยฉาบ ที่อร่อย กรอบ หอม หวาน สะอาด ถูกหลักอนามัย ราคาไม่แพงเพียง 3 ถุง 100 บาท ส่วนกล้วยไข่ปีนี้ราคาดี เจ้าของสวนอยู่ได้ พอใจผลผลิต ลูกสวย น้ำไม่ท่วม จำหน่ายปลีกหวีละ 15-20 บาท เครือละ 150-200 บาท ขณะที่ขนมกระยาสารท ซึ่งเป็นที่รู้จักของนักชิม เพราะเมื่อรับประทานกับกล้วยไข่เมืองกำแพงเพชรจะยิ่งทำให้อร่อยมากขึ้น ขายกิโลกรัมละ 100 บาท ครึ่งกิโลกรัมราคา 60 บาท และหน่อกล้วยต้นละ 20 บาท ใช้เวลาประมาณ 10 เดือนก็ให้ผลผลิต
อย่างไรก็ตาม กล้วยไข่ที่เป็นสินค้าเกษตรขึ้นชื่อ และเป็นสัญลักษณ์ของกำแพงเพชร ในอดีตมีการปลูกกันทั้งจังหวัดกว่า 4 หมื่นไร่ แต่ปัจจุบันเหลือเพียงประมาณ 2,500 ไร่ ล่าสุดนายสุรพล วาณิชเสนี ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร หารือร่วมกับนายสมจิตร ธีระบุญชัยกุล เกษตรจังหวัด และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางส่งเสริมการปลูกกล้วยไข่ โดยมีเป้าหมายจะเพิ่มพื้นที่ให้ได้ปีละไม่ต่ำกว่า 1,000 ไร่
นายสุทธิ แสงอุทัย อายุ 62 ปี อยู่บ้านเลขที่ 37 หมู่ 25 ต.โกสัมพี อ.โกสัมพีนคร จ.กำแพงเพชร เจ้าของสวนแสงอุทัย กล่าวว่า ในอดีตชาวกำแพงเพชรปลูกกล้วยไข่กันมาก แต่ปัจจุบันพื้นที่เพาะปลูกลดลง เนื่องจากถ้าปลูกซ้ำที่กล้วยไข่จะมีโรคใบไหม้ ทำให้ตาย บางปีราคากล้วยตกต่ำ เป็นเหตุให้ขาดทุน และใน 1 ปีสามารถเก็บเกี่ยวได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น เกษตรกรจึงหันไปปลูกพืชชนิดอื่นแทน แต่ถึงอย่างไรชาวกำแพงเพชรทุกคนยังมีความภาคภูมิใจที่มีกล้วยไข่เป็นพืชสัญลักษณ์ของจังหวัด
ซึ่งก่อนหน้านี้ตนปลูกกล้วยไข่ 30 ไร่ ทำมา 20 ปี แต่ประสบปัญหาราคาตกต่ำ จึงลดพื้นที่ปลูกกล้วยไข่ไปปลูกลำไย เหลือพื้นที่ปลูกกล้วยไข่ 2 ไร่ ไร่ละ 300 ต้น และพยายามพัฒนาให้ผลใหญ่ ผิวสวย รสชาติหวาน ตรงความต้องการของตลาด ขายเป็นกิโลกรัมละ 12 บาท ซึ่งจะได้ราคาดีกว่าการขายเป็นเครือ มีแม่ค้าพ่อค้าเดินทางมารับซื้อถึงสวน
นายสุทธิกล่าวว่า ถ้าติดผลดีทั้งสวน กล้วยไข่ 1 ไร่จะได้เงินประมาณ 45,000 บาท อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องแปลกที่แม้สวนกล้วยจะลดลง กลับไม่ทำให้ราคากล้วยไข่สูงขึ้นเหมือนผลไม้ชนิดอื่น แต่ก็ตั้งใจทำเพราะใจรัก ส่งกล้วยไข่ประกวดได้แชมป์ติดต่อกันหลายปี เคยส่งประกวดต่างประเทศก็ได้แชมป์เช่นกัน
ด้านนายสมจิตร ธีระบุญชัยกุล เกษตรจังหวัดกำแพงเพชร กล่าวว่า จังหวัดมีกล้วยไข่เป็นพืชเศรษฐกิจ เป็นผลไม้วัฒนธรรม และอร่อยที่สุดในโลกจากการประกวดกล้วยนานาชาติ ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีกล้วยไข่จากหลายจังหวัดออกมาตีตลาดก็ตาม แต่รสชาติสู้ของกำแพงเพชรไม่ได้
เนื่องจากกล้วยไข่กำแพงเพชรมีเนื้อสีเหลือง รสชาติหวาน หอม เนื้อแน่น ละเอียด ไม่มีแกนกลาง ไม่อมเปรี้ยวเหมือนของที่อื่น ผลมีผิวบาง เก็บไว้นานจะตกกระ แต่ถ้าเทียบความสวยงามของหวีและผลแล้วอาจจะสู้ของจังหวัดอื่นไม่ได้ แต่ความนิยมของผู้บริโภคต้องถามหากล้วยไข่กำแพงเพชร แต่ละปีการส่งออกทำรายได้สู่จังหวัดปีละประมาณ 100 ล้านบาท จนกำแพงเพชรถูกเรียกกันติดปากว่า “เมืองกล้วยไข่”