กำแพงเพชร - ชาวสวนยางเมืองกล้วยไข่ส่งตัวแทนหารือผู้ว่าฯ-หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ชี้รัฐรับซื้อยางแสนตัน ชาวสวนยางเหนือไม่ได้ประโยชน์-ขอแบ่งโควต้า ขณะที่ผู้ว่าฯ รับหาทางใช้ยางทำถนน-ปูก้นสระเก็บน้ำ บอกอนาคตให้ปลูกอ้อย
วันนี้ (15 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวแทนชาวสวนยางจังหวัดกำแพงเพชร จากสหกรณ์ชากังราว และสหกรณ์ไตรตรึงษ์ ได้เข้าพบนายธานี ธัญญาโภชน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร เพื่อชี้แจงปัญหา และความต้องการของชาวสวนยางที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาราคาตกต่ำ โดยมีนายสมศักดิ์ แสนศิริ สหกรณ์จังหวัดกำแพงเพชร, นายธนศักดิ์ ทองจันทร์ ผู้อำนวยการปฏิบัติการสงเคราะห์สวนยางจังหวัดกำแพงเพชร, นายอดิศร์ ศิริสุทธิ์ หัวหน้ากลุ่มช่วยเหลือเกษตรกรและโครงการพิเศษ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดกำแพงเพชร ร่วมรับฟังด้วย
ตัวแทนสหกรณ์ฯ ระบุว่า ราคายางขณะนี้ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต ทำให้เกษตรกรมีรายได้ไม่พอรายจ่าย ส่งผลให้ประสบปัญหาหนี้สิน กระทบปากท้องของครอบครัว การศึกษาของบุตร ชาวสวนยางจึงอยากเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดช่วยแก้ไข คือ ให้นำมาใช้ประโยชน์โดยด่วน
“ต้นทุนการผลิตยางแผ่นดิบอยู่ที่ 63 บาทต่อกิโลกรัม แต่ปัจจุบันราคาต่ำกว่าต้นทุนมาก จึงอยากให้ดูแลราคาให้เกษตรกรชาวสวนยางอยู่ได้ การที่รัฐบาลเข้ามารับซื้อยางในราคา 45 บาท/กก.จำนวน 100,000 ตันนั้น เกษตรกรในภาคเหนือโดยเฉพาะที่กำแพงเพชรไม่ได้ประโยชน์ เพราะจะต้องหยุดกรีดยางกันกลางเดือนหน้านี้แล้วซึ่งผลผลิตจะมีออกมาอีกราว 200 ตันเท่านั้น ถ้ารัฐบาลจะช่วยโดยการกำหนดโควต้าให้แต่ละจังหวัดน่าจะดีกว่า”
นายสมศักดิ์ แสนศิริ สหกรณ์จังหวัดกำแพงเพชร ชี้แจงว่า กำแพงเพชร มีพื้นที่ปลูกยาง 40,846 ไร่ เปิดกรีด 20,620 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 188.75 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี และขณะนี้ทางรัฐบาล โดยการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้เปิดรับแจ้งสิทธิ์เข้าร่วมโครงการ “สร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง” รับเงินสนับสนุนไร่ละ 1,500 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ ต่อ 1 ครัวเรือน มีเกษตรกรชาวสวนยางขึ้นทะเบียนจำนวน 1,308 ราย เป็นคนกรีด 435 ราย เจ้าของสวนยาง 764 ราย ผู้เช่า 16 ราย ผู้ทำสวน 88 ราย รอคำขอยังไม่บันทึกอีก 5 ราย
ด้านนายธานี ธัญญาโภชน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับที่จะนำปัญหาเสนอไปยังรัฐบาล และมีแนวคิดดึงวัตถุดิบ (ยางพารา) มาใช้ในจังหวัด เบื้องต้นต้องให้หน่วยงานศึกษาหาวิธีนำยางไปเป็นวัสดุป้องกันน้ำซึมออกจากสระเก็บน้ำ และกำหนดนโยบายในการพัฒนาจังหวัดและท้องถิ่นให้ สนับสนุนให้ทำถนนโดยใช้ “พาราแอสฟัลติก” เป็นต้น และในระยะยาวให้สำนักงานเกษตรจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาหาแนวทางแนะนำเกษตรกรที่มีพื้นที่ที่สามารถปรับเปลี่ยนมาทำไร่อ้อย เนื่องจากอ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจที่ราคาดี และตลาดยังมีความต้องการอีกมากเนื่องจากในพื้นที่มีโรงงานน้ำตาลในพื้นที่ถึง 3 โรง รวมทั้งโรงงานน้ำตาล และภาครัฐก็มีเงินส่งเสริมเกษตรกรให้เปลี่ยนมาปลูกอ้อยอยู่แล้ว พร้อมขอให้เกษตรกรชาวสวนยาง รอฟังนโยบายของภาครัฐที่จะส่งเสริมช่วยเหลือต่อไป