xs
xsm
sm
md
lg

“ข้าวดอกข่า! ต้นกำเนิดข้าวไร่พังงา พาเกษตรกรฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พังงา - ข้าวดอกข่า ต้นกำเนิดข้าวไร่พังงา ช่วยพาเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนจากภาวะเศรษฐกิจ สินค้าเกษตรราคาตก สามารถฝ่าวิกฤตได้ด้วยการหันมาปลูกพืชแบบผสมผสาน

ในภาวะที่พืชเศรษฐกิจของภาคใต้ ได้แก่ ยางพารา และปาล์มน้ำมัน กำลังประสบปัญหาเรื่องราคาตกต่ำเป็นระยะเวลาติดต่อกันยาวนาน ทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก บางรายสู้ปัญหาไม่ไหวถึงกับฆ่าตัวตายก็มีให้เห็นอยู่บ่อยๆ แต่คนพังงาก็ไม่ย่อท้อต่อสู้กับปัญหาอุปสรรคโดยลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว หันมาปลูกพืชแบบผสมผสานเพื่อลดความเสี่ยงด้านราคา และข้าวไร่ เป็นพืชกำลังมาแรงที่สามารถกู้วิกฤตให้เกษตรกรชาวพังงา ในขณะนี้ คือ “ข้าวดอกข่า” ซึ่งเป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองคุณภาพดี นอกจากจะสร้างรายได้ให้เกษตรกรเป็นกอบเป็นกำแล้ว ยังรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีการ “ลงแขก” ให้อยู่คู่สังคมคนพังงาตลอดไปอีกด้วย

นายสมมารถ สยมภาค เกษตรจังหวัดพังงา กล่าวว่า ในภาวะที่พืชเศรษฐกิจของภาคใต้ ได้แก่ ยางพารา และปาล์มน้ำมันกำลังประสบปัญหาเรื่องราคาตกต่ำเป็นระยะเวลาติดต่อกันยาวนาน ซึ่งเกษตรกรไม่สามารถกำหนดราคาผลผลิตเองได้ สำนักงานเกษตรจังหวัดพังงาได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชเสริมรายได้ที่ใช้น้ำน้อย โดยการปลูกข้าวไร่แซมในระหว่างแถวยางพารา และปาล์มน้ำมันที่ปลูกใหม่จนถึงอายุ 3 ปี พันธุ์ข้าวที่ปลูกส่วนใหญ่ใช้ข้าวไร่พันธุ์ดอกข่า ซึ่งเป็นพันธุ์พื้นเมืองคุณภาพดี มีชื่อเสียงของจังหวัดพังงา ซึ่งเป็นพันธุ์ดั้งเดิมสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ มีลักษณะเด่น คือ มีความต้านทานต่อโรค เมล็ดยาว สีของเมล็ดข้าวสารมีสีน้ำตาลแดงอมม่วง เมื่อสุกจะมีกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นใบเตย ถ้าหุงในครัวกลิ่นจะหอมถึงหน้าบ้าน รสชาติอร่อย ข้าวไม่แข็ง หุงขึ้นหม้อ

สำหรับฤดูกาลผลิตนี้ จังหวัดพังงามีพื้นที่ปลูกข้าวไร่ จำนวน 1,839 ไร่ ซึ่งพื้นที่ปลูกในแต่ละปีจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับพื้นที่โค่นยางพาราเป็นหลัก เกษตรกรจะทำแบบอนุรักษ์ ไม่มีการบุกเบิกพื้นที่ป่าเพื่อปลูกข้าวไร่ พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่อยู่ในตำบลบางทอง อำเภอท้ายเหมือง และตำบลตากแดด อำเภอเมืองพังงา จังหวัดพังงา โดยเกษตรกรจะเริ่มปลูกประมาณปลายเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม และเก็บเกี่ยวปลายเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 500 กิโลกรัม/ไร่ ผลผลิตรวม 920 ตัน ซึ่งเกษตรกรจะเป็นผู้กำหนดราคาขายเอง โดยสามารถจำหน่ายข้าวเปลือกได้ตันละ 30,000 บาท คิดเป็นมูลค่า 27.6 ล้านบาท

นายไมตรี เจียมรา วิทยากรประจำจุดเรียนรู้การปลูกข้าวไร่พันธุ์ดอกข่า ตำบลบางทอง ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หมู่ที่ 1 ตำบลบางทอง อำเภอท้ายเหมือง เป็นพื้นที่ปลูกข้าวไร่มากที่สุดของจังหวัดพังงา จึงได้รวมกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวไร่ และใช้แปลงข้าวไร่ของตนเป็นจุดเรียนรู้ในการปลูกข้าวไร่พันธุ์ดอกข่า โดยตนจะเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ตั้งแต่การเตรียมดิน การปลูก การดูแลรักษา การป้องกันกำจัดศัตรูพืช ตลอดถึงการเก็บเกี่ยว และจะมีแปลงรวมของกลุ่ม สมาชิก 30 ราย พื้นที่ 20 ไร่

สำหรับการปลูก และเก็บเกี่ยวจะใช้วิธีการ “ลงแขก” ซึ่งเป็นประเพณี และวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน ควรค่าแก่การอนุรักษ์ ไม่ให้สูญหายไป รวมทั้งเป็นการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวดั้งเดิมไว้ให้เยาวชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ และสืบทอดให้คงอยู่ตลอดไป สำหรับอุปกรณ์ที่ใช้ในการเก็บเกี่ยวข้าวไร่ บางกลุ่มใช้เคียว แต่ที่นิยมมากคือ การใช้ “แกระ” แต่คนพังงา เรียกว่า “มัน” โดยจะเกี่ยวทีละรวงแล้วมัดเป็นกำๆ ตากแดด 3-5 วัน ซึ่งการลงแขกนอกจากจะลดค่าใช้จ่ายในเรื่องค่าจ้างเก็บข้าว อัตราวันละ 300 บาท/คน แล้ว ยังสร้างความรักใคร่ สามัคคีในชุมชนอีกด้วย

หากต้องการซื้อผลผลิตทั้งในรูปพันธุ์ข้าวปลูก หรือข้าวสาร ซึ่งมีทั้งข้าวขัดสี และข้าวกล้อง ติดต่อได้ที่ นายไมตรี เจียมรา โทรศัพท์ 08-9973-2275
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น