xs
xsm
sm
md
lg

อบจ.มุกดาหารส่งเสริมการปลูกข้าวนาโยนเพื่อลดต้นทุนการผลิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


มุกดาหาร - นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมุกดาหาร พร้อมสมาชิก ลงพื้นที่นาข้าวลงมือสาธิตการปลูกข้าวนาโยน ซึ่งเป็นการริเริ่มการปลูกข้าวแบบใหม่ที่เป็นการพัฒนาการปลูกข้าวเพื่อลดต้นทุนการผลิตข้าวของชาวนา

วันนี้ (21 ก.ค.) ที่บ้านดาวเรือง ตำบลบางทรายน้อย อำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร นางมลัยรัก ทองผา นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) มุกดาหาร นายวิริยะ ทองผา ที่ปรึกษา นายก อบจ. ได้นำสมาชิสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดมุกดาหารทั้งหมด และชาวบ้าน นักเรียน ในเขตอำเภอหว้านใหญ่มาดูการสาธิตการปลูกข้าวนาโยนกล้า ซึ่งเป็นการปลูกข้าวเกษตรอินทรีย์ เพื่อลดต้นทุนการผลิต และลดแรงงานการผลิต และเพิ่มผลผลิตให้แก่ข้าว

การทำนาด้วยวิธีโยนกล้ามีข้อดีหลายอย่างที่การดำนาและการหว่านตมไม่มี ได้แก่ การลดต้นทุนการผลิต ประหยัดเมล็ดพันธุ์ข้าว ต้นกล้าตั้งตัวได้เร็วเนื่องจากไม่ถูกกระทบกระเทือนมากนักจึงสามารถแตกกอได้มาก ชาวนาสามารถควบคุมวัชพืชได้ และเมื่อเก็บเกี่ยวได้ผลผลิตข้าวพอๆ กันกับการดำนา จึงได้เริ่มนิยมและลงมือทำกันอย่างจริงจัง แต่ในขณะเดียวกันนั้นก็กำลังทดลองเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียระหว่างการดำนากับการโยนกล้า

นายวิริยะ ทองผา ที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมุกดาหาร กล่าวว่า จังหวัดมุกดาหาร ประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา ปัจจุบันค่าแรงงานปรับเพิ่มสูงขึ้น วันหนึ่ง 300-400 บาท ตนคิดว่าอยากลดต้นทุนการผลิต เลยไปคุยกับนักวิชาการเกษตร ทำโครงการทำนาโยนข้าวขึ้นมา โดยการทำนาโยนข้าวทางรัฐบาลก็มีโครงการ โยนวันแม่ เกี่ยววันพ่อ ทางนักวิชาการก็แนะนำการทำนาโยนให้ แต่ประเพณีดั้งเดิมของชาวนาคือ การปักดำ

การทำนาด้วยวิธีโยนกล้าจะมีความแตกต่างหรือคล้ายคลึงกันกับการทำนาด้วยวิธีการดำนาและหว่านตม เป็นการลดต้นทุนการผลิต ประหยัดเมล็ดพันธุ์ข้าว และปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ดังนั้น องค์การบริหารส่วนจังหวัดมุกดาหารจึงได้มาส่งเสริมการปลูกแบบใหม่ที่เป็นการพัฒนาการปลูกข้าวนาโยนกล้า เพื่อลดต้นทุนการผลิตของชาวนา ขั้นตอนการทำนาด้วยวิธีโยนกล้า ดังนี้

1. เตรียมแผงพลาสติกสำหรับเพาะต้นกล้า (โดยแผงพลาสติก 60-70 ถาดต่อไร่)
2. เตรียมข้าวสำหรับเพาะกล้า (ซึ่งจะต้องนำไปแช่น้ำประมาณ 2 วัน 2 คืน หลังจากนั้นเทน้ำออกวางทิ้งไว้อีก 1 วัน 1 คืน เพื่อให้ข้าวงอกสมบูรณ์) ในอัตราส่วน 3-4 กก./60-70 ถาด/ไร่
3. ผสมดินสำหรับเพาะต้นกล้า โดยนำดิน แกลบ และปุ๋ยหมักชีวภาพ (เล็กน้อย) มาคลุกเคล้าเป็นเนื้อเดียวกัน
4. ใส่ดินที่ผสมลงในหลุมแผงพลาสติกประมาณครึ่งหนึ่งของหลุม
5. หว่านเมล็ดข้าวงอกที่เตรียมไว้ลงในหลุม ประมาณหลุมละ 2-5 เมล็ด
6. นำดินที่ผสมไว้มาโรยปิดเมล็ดพันธุ์ข้าวอีกครั้งหนึ่ง และควรระวังอย่าให้ดินล้นออกจากนอกหลุม เพราะรากข้าวจะงอกออกมาพันกัน ทำให้เวลาหว่านต้นข้าวจะไม่กระจายตัว
7. หาวัสดุมาคลุมแผงพลาสติกที่เพาะต้นกล้า เพื่อที่เวลารดน้ำแล้วเมล็ดข้าวหรือดินจะได้ไม่กระเด็นออกมา อาจจะใช้กระสอบป่าน ผ้า ฯลฯ ที่มีอยู่และสามารถใช้ได้
8. ทำการรดน้ำทุกเช้าและเย็นติดต่อกันประมาณ 3-4 วัน ต้นข้าวจะงอกทะลุออกจากที่คลุมแผงพลาสติก ให้เอาวัสดุที่คลุมออก แล้วรดน้ำต่อไปจนต้นกล้าอายุได้ 15 วัน
9. นำต้นกล้าที่ทำการเพาะเสร็จสมบูรณ์แล้วไปโยนกล้าในผืนนาที่เตรียมไว้ให้สม่ำเสมอและกระจายทั่วผืนนา (การตกกล้า 1 คน สามารถตกได้ 2 ไร่ (140 ถาด) ต่อวัน)

การเตรียมดินในผืนนานั้นก็ทำเช่นเดียวกันกับการทำนาทั่วไปไม่มีอะไรแตกต่างมากนัก หากแต่เคล็ดลับของที่นี่คือ การนำปุ๋ยหมักชีวภาพที่ทำเองหว่านให้กระจายทั่วพื้นที่แล้วไถกลบก่อนการโยนกล้า จากนั้นก็ทำการไถตามปกติ ปรับผิวดินให้เสมอกัน และทำทางระบายน้ำได้สะดวกไว้

ก่อนการโยนกล้านั้นระดับน้ำในผืนนาจะต้องสูงประมาณ 1 ซม. หลังจากนั้นประมาณ 3 วันต้นกล้าจะสามารถตั้งตัวได้ ให้เพิ่มระดับน้ำให้อยู่ที่ระดับครึ่งหนึ่งของต้นกล้าหรือประมาณ 5 ซม.เพื่อการควบคุมวัชพืช และอีกประมาณ 15 วัน หลังจากนั้นหว่านปุ๋ยครั้งที่ 1 เพื่อเร่งการเจริญเติบโต และอีกประมาณ 30-40 วันให้หมั่นสังเกตดูว่าต้นข้าวใกล้ตั้งท้องหรือใกล้ออกรวงแล้วให้ปุ๋ยครั้งที่ 2 เพื่อช่วยให้ต้นข้าวมีความสมบูรณ์เต็มที่ก่อนออกรวงข้าว…





กำลังโหลดความคิดเห็น