พิจิตร - เกษตรจังหวัดเผยสำรวจพบชาวนาพิจิตรเลิกปลูกข้าวแล้วกว่าแสนไร่หลังสิ้นยุคจำนำข้าว ขณะที่ต้นทุนการทำนาแยกเป็น 3 กลุ่มใหญ่
วันนี้ (26 มิ.ย.) นายไพฑูรย์ รื่นสุข เกษตรจังหวัดพิจิตร เปิดเผยว่า จากการสำรวจพบว่าหลังจาก คสช.ยกเลิกโครงการจำนำข้าว รวมถึงการประกันราคาข้าวแล้ว ทำให้ชาวนาพิจิตรที่มีอยู่กว่า 7 หมื่นครอบครัว เคยทำนาไม่น้อยกว่า 7,100,000 ไร่ เลิกทำนาแล้วกว่า 1 แสนไร่ โดยหันไปปลูกอ้อย ปลูกข้าวโพด ปลูกมันสำปะหลัง และพืชผักสวนครัวแทน
นายไพฑูรย์กล่าวว่า จากการให้อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน หรือ อกม. ที่มีอยู่ 888 คน ใน 12 อำเภอ เก็บข้อมูลว่าในหมู่บ้านของตนมีผู้ที่ทำนาแบ่งออกเป็นกี่ประเภท พบว่าแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกเป็นชาวนามีที่นาเป็นของตนเอง ลงแรงทำนาโดยใช้แรงงานของตนเอง และคนในครอบครัว กลุ่มที่ 2 เป็นชาวนามีที่นาเป็นของตนเอง แต่ไม่มีแรงงานจากลูกหลาน จึงต้องจ้างแรงงานบางส่วน และกลุ่มที่ 3 ไม่มีที่นาเป็นของตนเอง ต้องเช่าที่นาคนอื่นทำและไม่มีแรงงานคนในครอบครัว ต้องจ้างแรงงานในหมู่บ้านมาช่วย
โดยทั้ง 3 กลุ่มนี้มีต้นทุนการผลิตแตกต่างกัน กลุ่มแรกบอกว่าราคาข้าวตันละ 7-8 พันบาทก็ใช้ชีวิตอยู่ได้พอเหลือมีกำไร ส่วนกลุ่มที่ 2 และกลุ่มที่ 3 บอกว่า ถ้าได้ราคาข้าวต่ำกว่า 1 หมื่นบาทขาดทุนแน่นอน
นายไพฑูรย์กล่าวว่า จะนำข้อมูลที่ได้เสนอให้ คสช.นำไปใช้เป็นฐานในการหาวิธีอุดหนุน หรือสนับสนุนชาวนาในรูปแบบต่างๆ ซึ่งมีแนวโน้มว่าอาจจะมีการอุดหนุนช่วยกลุ่มเกษตรกรรายย่อย เป็นค่าต้นทุนการผลิตไร่ละ 1,700 บาท แต่ไม่เกินคนละ 15 ไร่
นอกจากนี้ยังมีเสียงสะท้อนอีกอย่างหนึ่งของชาวนา คือ ถ้า คสช.จะช่วยก็ขอรับเป็นเงินสดโดยไม่ต้องผ่าน ธ.ก.ส. เพราะถ้าผ่าน ธ.ก.ส.ก็กลัวจะถูกระบบ สกต.ธ.ก.ส.ชักชวนในเชิงบังคับให้ซื้อปุ๋ย ซื้อยา ซื้อสารเคมี หรือซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าว ซึ่งล้วนเป็นยี่ห้อที่ชาวนาไม่ต้องการ
นอกจากนี้ชาวนายังมองถึงปัญหาเรื่องเมล็ดพันธุ์ข้าว ที่ชาวนาพิจิตรต้องใช้ปีละกว่า 3 หมื่นตัน แต่ในพิจิตรผลิตได้แค่เพียงปีละ 6 พันตัน จนต้องซื้อพันธุ์ข้าวมาจากที่อื่นๆ ซึ่งบางครั้งได้พันธุ์ข้าวปลอมปน ดังนั้นจึงมีโครงการพัฒนาสินค้าเกษตรที่จะให้ชาวนาผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว แต่ต้องหาความมั่นคงเรื่องราคาเพราะต้องดูแลใส่ใจเป็นพิเศษ และถ้าทำได้ ก็จะได้ราคาสูง
ส่วนพันธุ์ข้าวต้องใช้การตลาดนำหน้าการผลิตข้าวที่โรงสีต้องการ คือ ต้องการซื้อข้าวพันธุ์ชัยนาท 1 เพราะเป็นข้าวเมล็ดยาวเกิน 7 มิลลิเมตร แต่จุดอ่อนคือ ต้านทานโรคเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้น้อยมาก เพราะที่ผ่านมาชาวนาพิจิตร ปลูกข้าวพันธุ์พิษณุโลก 2 และพันธุ์ กข 27 ที่ต้านเพลี้ยกระโดดได้ดี แม้โรงสีไม่ต้องการ แต่ที่ผ่านมาสามารถจำนำได้