xs
xsm
sm
md
lg

กรมทรัพย์ฯ เผยผลสำรวจ พบตัวบ่งชี้ที่ต้องเฝ้าระวังภัยพิบัติเชียงราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย - กรมทรัพยากรธรณีประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลังเกิดแผ่นดินไหวที่เชียงราย หลังสำรวจพบมีรอยแยกเกิดขึ้นบนภูเขาหลายรอย ล้วนบ่งบอกถึงภัยพิบัติที่ต้องเฝ้าระวังโดยเฉพาะดินโคลนถล่มและน้ำท่วม ล้วนเกิดจากผลกระทบหลังแผ่นดินไหว

รายงานข่าวจาก จ.เชียงรายแจ้งว่า ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดเชียงราย นายวรศาสตร์ อภัยพงศ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี นายประจญ ปรัชญ์สกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภัยแผ่นดินไหวและดินโคลนถล่มจ.เชียงราย เพื่อสรุปผลการสำรวจของกรมทรัพยากรธรณี ต่อกรณีเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงใน จ.เชียงรายเมื่อวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา ด้วยความแรงตามมาตราวัดริกเตอร์ 6.3 แมกนิจูด และเกิดการสั่นไหวตามมาหรืออาฟเตอร์ช็อกประมาณ 930 ครั้ง รวมทั้งการร่วมกันดำเนินการเพื่อเฝ้าระวังและป้องกันภัยในอนาคต

นายวรศาสตร์กล่าวว่า ปัจจุบันกรมทรัพยากรธรณี และกรมอุตุนิยมวิทยา มีแผนติดตั้งเครื่องตรวจวัดแผ่นดินไหว 100 กว่าเครื่องทั่วประเทศ เพราะมีรอยเลื่อนรวมกันกว่า 14 กลุ่มที่สั่นไหวเมื่อวันที่ 5 พ.ค. คือ กลุ่มรอยเลื่อนพะเยาตรงรอยเลื่อนแม่ลาว ซึ่งคาดว่าหลังการสั่นไหว 6.3 แมกนิจูดแล้วจะมีอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีก 4 เดือน แต่ที่มนุษย์จะรู้สึกจะลดลง โดยอาจคงระดับที่ 1-2 แมกนิจูด ส่วนใต้ดินในพื้นที่เกิดเหตุดินขนาดเสถียรภาพ

ดังนั้นในอนาคตการก่อสร้างอาคารต้องออกแบบให้รองรับผลกระทบ รวมทั้งต้องเฝ้าระวังเรื่องดินโคลนถล่มและน้ำท่วม เพราะเกิดรอยแยกทั้งบนภูเขา ที่อยู่อาศัย อ่างเก็บน้ำ แม่น้ำ จึงปรับลดตัวเลขปริมาณน้ำฝนที่เคยตั้งเอาไว้ที่ว่าหากตกเกิน 150 มิลลิเมตรใน 24 ชั่วโมงต้องแจ้งเตือนหรือเตรียมอพยพ ให้ปรับเหลือเพียง 120 มิลลิเมตรแล้ว จากนี้จะมีการจัดทำแผนเพื่อดำเนินการต่อไป

นายสุวิทย์ โคสุวรรณ ผู้อำนวยการส่วนวิจัยรอยเลื่อนมีพลัง กรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า รอยเลื่อนแม่ลาวที่สั่นไหวครั้งนี้เป็นกลุ่มรอยเลื่อนพะเยาส่วนเหนือ และจากการตรวจทางธรณีวิทยา พบว่าที่ อ.แม่ลาวมีชั้นทรายหรือตะกอนดินอ่อนที่หนาลงไปใต้ดินประมาณ 30 เมตรระหว่างชั้นผิวดินและหินลึกสุด ซึ่งลักษณะดังกล่าวจะช่วยเพิ่มความรุนแรงของแผ่นดินไหวได้อีก 1.5 เท่า ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีความเสียหายมาก และต่อไปนี้เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องรับทราบร่วมกันถึงคุณสมบัติของพื้นที่ดังกล่าวด้วย

สำหรับรอยแยกที่เกิดขึ้นใน อ.พาน อ.แม่ลาว อ.แม่สรวย โดยเฉพาะ ต.ดงมะดะ ต.จอมหมอกแก้ว อ.แม่ลาว และ ต.แม่สรวย อ.แม่สรวย บริเวณรอยแยกมีรอยฉีกขาดที่ชั้นใต้ดิน ซึ่งเกิดจากแผ่นดินไหวเมื่อประมาณ 1,000 ปีมาแล้ว

นายสุวิทย์กล่าวว่า พื้นที่เกิดปรากฎการณ์ทรายพุ คือตะกอนทรายผุดขึ้นมาบางแห่งสูงประมาณ 2 เมตร พบมากในรอยแยกดังกล่าว ซึ่งเกิดจากตะกอนทรายใหม่ที่ยังจับตัวไม่แน่น และไหลออกมาเมื่อมีการสั่นไหว โดยยังพบว่าที่บ้านนิคม ต.ธารทอง อ.แม่ลาว ยังมีตะกอนทรายหนาอยู่ชั้นใต้ดิน ซึ่งมีโอกาสเกิดทรายพุได้อีก โดยทรายพุเหล่านี้ไปปิดตาน้ำ ทำให้ชาวบ้านขาดแคลนน้ำเพื่อการบริโภคได้

ด้านนายสมใจ เย็นสบาย ผู้อำนวยการส่วนธรณีภัยพิบัติ กรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า ปัญหาดินโคลนถล่มและน้ำท่วมเป็นภัยต่อเนื่องที่มีโอกาสจะเกิดตามมา โดยจากการสำรวจรอยแยกจากแผ่นดินไหวครั้งนี้พบมีร่องรอยดินถล่มโบราณจากการสั่นไหวขนาด 6-7 แมกนิจูดในอดีตอยู่หลายจุด สำหรับการสั่นไหววันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา พบรอยแยกเกิดขึ้นบนภูเขาใกล้อ่างเก็บน้ำห้วยส้านหลายแนวด้วยกัน

ปัจจุบันถือว่าภัยแผ่นดินไหวผ่านไปแล้ว แต่ภัยจากดินโคลนถล่มยังไม่จบงจนกว่าจะเกิดขึ้นอีกเหมือนร่องรอยโบราณดังกล่าว โดยสิ่งที่ทำให้เกิดขึ้นคือฝนที่ตกอย่างต่อเนื่องและมีปริมาณมาก ทั้งนี้ปัจจุบันพบรอยแยกที่อาจมีผลกระทบที่บ้านห้วยส้านพัฒนา ต.แม่สรวย หากฝนตกลงมาในปริมาณที่ทำให้ถล่มก็จะกระทบต่อหมู่บ้านได้ และรอยแยกที่บ้านใหม่จัดสรร ต.ดงมะดะ อ.แม่ลาว แต่พื้นที่ดังกล่าวจะทำใหดินที่ถล่มไหลลงสู่แม่น้ำลาวซึ่งอาจทำให้ตื้นเขินกลายเป็นปัญหาน้ำท่วมตามมา

นายสมใจกล่าวว่า ที่อ่างเก็บน้ำห้วยน้อย บ้านห้วยส้านพัฒนา ยังพบน้ำไหลออกจากอ่างและล้นขอบหรือสปิลเวย์ทำให้ดินอิ่มตัว ซึ่งเมื่อฝนตกหนักลงมาอาจทำให้น้ำล้นอ่างจนเสียหาย แม้ว่าฝนจะตกลงมาประมาณ 50-60 มิลลิเมตรโดยไม่ต้องถึง 100 มิลลิเมตรได้ ดังนั้นจึงได้ปรับการเฝ้าระวังภัยเมื่อเกิดฝนตกในปริมาณ 50 มิลลิเมตร และให้ระวังมากเมื่อถึง 70-90 มิลลิเมตร กระทั่งถึง 120 มิลลิเมตร ก็ให้เตือนภัยและเตรียมอพยพดังกล่าว

นอกจากนี้ยังมีอ่างเก็บน้ำแม่มอญ ต.โป่งแพร่ อ.แม่ลาว ที่มีรอยแยกถึง 3 แนวที่ขอบอ่างและตัวอ่าง อ่างเก็บน้ำบ้านใหม่จัดสรร ต.ดงมะดะ อ.แม่ลาว มีแนวตัดขวางที่สันอ่างซึ่งมีความเสี่ยงมาก อ่างเก็บน้ำบ้านโป่งป่าแขม ต.ดงมะดะ อ.แม่ลาว พบถนนแนวสันอ่างแตกขนานไปกับถนน อ่างเก็บน้ำห้วยภูซาง บ้านแพะ ต.ดงมะดะ พบรอยแยก และอ่างเก็บน้ำสถานที่ปฏิบัติธรรม บ้านปงกวาง ต.ดงมะดะ ที่พบรอยแยกทั้ง 3 แนวเนื้อดินก็ฉีกขาด นอกจากนี้ ริมฝั่งแม่น้ำลาวพบรอยแยกจำนวนมาก เมื่อเกิดฝนตกหรือน้ำหลากก็จะพัดพาเอาตะกอนดินทรายลงไปในแม่น้ำจนทำให้น้ำท่วมสูงกว่าเดิม 80-1.50 เมตรได้
กรมทรัพย์ฯเผยผลสำรวจพบตัวบ่งชี้ที่ต้องเฝ้าระวังภัยพิบัติเชียงราย

กำลังโหลดความคิดเห็น