ศูนย์ข่าวศรีราชา - ชาวบ้านอ่าวอุดมงง ปตท.ขึ้นโครงการขยายท่าเทียบเรือ และก่อสร้างถังเก็บผลิตภัณฑ์เพิ่มเติมของคลังก๊าซเขาบ่อยา โครงการปรับปรุงท่าเทียบเรือพร้อมวางท่อน้ำมันใต้ทะเล โดยไม่ทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมใหม่ เผยเตรียมทำหนังสือสอบถาม สผ.ขอความชัดเจน หวั่นกระทบความเป็นอยู่ของชุมชน
ดร.สมนึก จงมีวศิน ที่ปรึกษากลุ่มประมงต้นแบบบ้านอ่าวอุดม จ.ชลบุรี เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา ทางบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้มีการเชิญชาวบ้านอ่าวอุดม เพื่อรับฟังความคิดเห็นการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการขยายท่าเทียบเรือ และก่อสร้างถังเก็บผลิตภัณฑ์เพิ่มเติมของคลังก๊าซเขาบ่อยา และโครงการปรับปรุงท่าเทียบเรือพร้อมวางท่อน้ำมันใต้ทะเล และก่อสร้างถังเก็บผลิตภัณฑ์เพิ่มเติมของคลังน้ำมันศรีราชา (วางท่อพาราไซลีนเพิ่มเติม) ซึ่งมีชาวบ้านมาร่วมรับฟังน้อยมาก เนื่องจากชาวบ้านใหญ่ไม่ได้รับทราบข้อมูล โครงการดังกล่าวเป็นโครงการใหญ่ และมีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของชุนอย่างแน่นอน แต่ชาวบ้านไม่ทราบอาจจะเป็นเพราะว่าการประชาสัมพันธ์ของทาง ปตท.ไม่ทั่วถึง
แต่อย่างไรก็ตาม พวกเรายังงงกับทางโครงการ ปตท. เนื่องจากโครงการนี้มีการขยายท่าเทียบเรือ และก่อสร้างถังเก็บน้ำมัน พร้อมวางท่อใต้ทะเล แต่กลับไม่มีการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ใหม่ แต่กลับใช้ของเดิม แล้วมาจัดทำประชาคมกับชาวบ้าน เพื่อนำเอกสารมาตรการการลดผลกระทบแล้วนำไปยื่นให้แก่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม โดยอ้างว่ารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการดังกล่าวได้รับความเห็นชอบ จากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เมื่อปี พ.ศ.2555 แล้ว
บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้ชี้แจงว่า ได้จัดทำรายงานการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการฯ ในการขยายท่าเทียบเรือก๊าซ ถังก๊าซ และระบบที่เกี่ยวข้องของคลังก๊าซเขาบ่อยา โดยกรมเจ้าท่าซึ่งเป็นหน่วยงานผู้อนุมัติ หรืออนุญาตให้ความเห็นไว้ในหนังสือกรมเจ้าท่า เลขที่ คค 0306.4/3611 ลงวันที่ 18 กันยายน พ.ศ.2556 ว่า การเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการดังกล่าวมิได้ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ทางโครงการฯ ยังสามารถใช้มาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามที่กำหนดไว้เดิมในรายงานที่ผ่านความเห็นชอบล่าสุด ทั้งในระยะก่อสร้างและระยะดำเนินการต่อไปได้
ดังนั้น ปัจจุบัน ปตท.จึงได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ระยะก่อสร้าง) ตามที่กำหนดไว้เดิมในรายงานที่ผ่านความเห็นชอบแล้ว
ปัจจุบัน บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) มีแผนจะดำเนินโครงการวางท่อพาราไซลีน ในพื้นที่ของคลังน้ำมันศรีราชา เพื่อเป็นการใช้ทรัพย์สินที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเพื่อการทำงานร่วมกันในด้านการขนส่ง และการขนถ่ายผลิตภัณฑ์อย่างมีประสิทธิภาพ ระหว่างคลังน้ำมันศรีราชา บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัทไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) โดยการวางท่อพาราไซลีน ขนาด 12 นิ้ว ผ่านพื้นที่คลังน้ำมันศรีราชา ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และพื้นที่ใต้ทะเลสิ้นสุดที่ท่าเทียบเรือหมายเลข 5 ของคลังน้ำมันศรีราชา ระยะทางประมาณ 3.5 กิโลเมตร
ดังนั้น ในการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการฯ ครั้งนี้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จึงได้มอบหมายให้บริษัท ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด (บริษัทที่ปรึกษา) ดำเนินการศึกษาและจัดทำรายงานการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการฯ เสนอต่อ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อการเปลี่ยนแปลงก่อนขออนุญาตก่อสร้าง และประกอบกิจการในส่วนที่เปลี่ยนแปลง
ดร.สมนึก กล่าวต่อว่า พวกเราชาวบ้านรู้สึกว่าการกระทำดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องนัก หลังจากนี้จะทำหนังสือไปสอบถามทางสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ทำถึงทำรายงานแบนี้โดยไม่ต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมใหม่ ซึ่งจะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะไม่เกิดผลกระทบ ซึ่ง ปตท. ต้องคำนึงพื้นที่ในการจอดเรือขนส่งทางท่อ เพราะโครงการใหม่ๆ ของ ปตท.กระทบโดยตรงต่อพื้นที่ในการจอดเรือขนส่งทางท่อ เรือพาณิชย์ที่จะเข้าท่าสินค้าเทกอง ตลอดจนเรือประมงชายฝั่งกว่า 90 ลำ ที่อยู่ในพื้นที่ อีกทั้งเรื่องปัญหาการจราจรทางน้ำในอนาคต ซึ่งการประเมินผลกระทบ และมาตรการลดผลกระทบที่นำมาให้ดูไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้เลย
พร้อมกันนี้ ก็จะพยายามขอเข้าเจรจากับทางผู้บริหารของทาง ปตท. ถึงเรื่องการขยายโครงการดังกล่าวว่าไม่ควรใช้วิธีลักไก่ทำแบบนี้อีก เพราะปัจจุบันชาวบ้านอ่าวอุดม เราถือ ธรรมนูญอ่าวอุดม ที่ทุกเรื่องต้องทำอย่างโปร่งใส มีประชาชนร่วมกันคิด ร่วมกันตัดสินใจ ไม่ใช่มาทำแบบมัดมือชกแบบนี้
แต่ถ้า ทาง ปตท. ไม่ฟังเสียงชาวบ้านเลยก็คงจะต้องมีการรวมตัวกันเพื่อคัดค้านการดำเนินโครงการดังกล่าว เพราะพวกเราชาวบ้านไม่มั่นใจถึงความปลอดภัยว่าโครงการดังกล่าวจะไม่ส่งผละกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และความเป็นอยู่ของคนในชุมชน แต่ในเบื้องต้นเราจะของเจรจาก่อน เพราะเท่าที่ทราบ ปตท.ยังมีอีกหลายโครงการที่ชาวบ้านยังไม่ทราบ โดยพวกเราจะขอทำทวิภาคี กับ ปตท. ซึ่งทาง ปตท. จะต้องเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนในพื้นที่ซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบต่อโครงการนั้นรับทราบด้วย