ประจวบคีรีขันธ์ - เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ลาดตระเวนพบกระทิงเพศเมียตายเพิ่มอีก 1 ตัว ในพื้นที่โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยไม่ทราบสาเหตุ ล่าสุด สัตวแพทย์เตรียมผ่าพิสูจน์เก็บชิ้นเนื้อส่งตรวจสอบในห้องปฏิบัติการอีกครั้ง ด้านอุทยานฯ กุยบุรีและเจ้าหน้าที่โครงการพระราชดำริ แจง 7 พ.ค.นี้ กรมอุทยานแห่งชาติจะจัดส่งชุดตรวจสุขภาพสัตว์ป่าเข้าพื้นที่ และต้องส่งสัตวแพทย์มาประจำอุทยานฯ กุยบุรี จะได้หาแนวทางป้องกัน
วันนี้ (5 พ.ค.) นายวัฒนา พรประเสริฐ ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี กล่าวว่า นายประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี นายสาธิต ปิ่นกุล หัวหน้าโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าสงวนแห่งชาติ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ได้ออกติดตามสัตว์ป่าทั้งช้าง และกระทิงในพื้นที่หลังพบว่าเมื่อวันที่ 2 พ.ค.57 ที่ผ่านมา พบกระทิงเพศเมียตายบริเวณป่ายูคาฯ จุดที่ดูช้าง กระทิง และได้กลิ่นซากสัตว์ป่าที่บริเวณแถบหน่วยป่ายาง จึงออกลาดตระเวน
จนกระทั่งวันนี้พบกระทิงเพศเมียอายุประมาณ 8-10 ปี นอนตายอยู่บริเวณหุบตาวิทย์ ใกล้กับบ่อน้ำที่ 3 ข้างหน่วยป่ายางในพื้นที่โครงการฟื้นฟูสภาพป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริอีก 1 ตัว จึงพร้อมด้วย นายพงษ์พันธุ์ วิเชียรสมุทร นายอำเภอกุยบุรี นายศรีสวัสดิ์ บุญมา กำนันตำบลหาดขาม และพระภิกษุที่ทราบข่าว พร้อมทีมเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี พ.ต.อ.ทินกร ไพนุพงษ์ ผกก.สภ.ยางชุม และทหารชุดประสานงานโครงการพระราชดำริ บ้านรวมไทย และเจ้าหน้าที่ WWF ประเทศไทย เข้าไปตรวจสอบ เบื้องต้นไม่พบมีร่องรอยบาดแผล หรือการถูกทำร้ายแต่อย่างใด คาดว่าตายประมาณ 1 สัปดาห์
นายประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี กล่าวว่า ได้แจ้งให้ทางสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี และทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้รับทราบแล้ว ซึ่งขณะนี้ได้ประสานขอให้ทีมสัตวแพทย์จากกรมอุทยานฯ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช รวมทั้งสัตวแพทย์จากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 บ้านโป่ง เดินทางมาผ่าพิสูจน์เพื่อเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อ ฯลฯ ไปตรวจสอบในห้องปฏิบัติการต่อไป เพื่อหาสาเหตุการตายของกระทิงอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าน่าจะดำเนินการได้ในวันพรุ่งนี้ (6 พ.ค.)
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ยังไม่มีการเปิดให้บริการด้านการท่องเที่ยวแต่อย่างใด โดยตอนนี้คงต้องเพิ่มมาตรการลาดตระเวนตรวจตราสัตว์ป่าเข้าอีกครั้ง โดยเฉพาะกระทิง เพราะขณะนี้เรายังไม่รู้ว่ายังจะมีตายเพิ่มเติมหรือเปล่า ส่วนการติดตามฝูงกระทิงนั้นก็ยังพบออกหากินในช่วงกลางคืนในพื้นที่อยู่
ขณะเดียวกัน นายสาธิต ปิ่นกุล หัวหน้าโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าสงวนแห่งชาติ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ กล่าวว่า ในวันที่ 7 พ.ค.นี้ ทางกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะส่งชุดตรวจสอบสุขภาพสัตว์จากหลายหน่วยงานเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องสุขภาพสัตว์ต่อไป รวมทั้งจะต้องมีสัตวแพทย์มาประจำอยู่ที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี เพื่อติดตามปัญหาการตายของกระทิงในชุดใหม่ ทั้งนี้ คงต้องรอชุดตรวจสุขภาพสัตว์ที่จะเดินทางมา และคงต้องมาประชุมวิเคราะห์หาสาเหตุการตายของกระทิงว่าจะทำอย่างไร และเป็นโรคอะไรกันแน่
ด้านนายวีระ ศรีวํฒนตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ได้รับรายงานจากทางอำเภอกุยบุรี แล้วรู้สึกเป็นห่วงปัญหาการตายของกระทิงที่เกิดขึ้นในช่วงนี้อีกครั้ง สิ่งสำคัญผมจะประสานพูดคุยกับทางกรมอุทยาแห่งชาติฯ ว่าจะทำอย่างไรกันต่อไป เพราะไม่อยากให้เกิดปัญหาย้ำรอยกระทิงชุดเก่าที่ตายไปตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว คงต้องหามาตรการเชิงรุกว่าจะจัดการปัญหาอย่างไรต่อไป เนื่องจากพบว่า ล่าสุดตายในพื้นที่โครงการพระราชดำริอีกแล้ว
ทางด้านนายพงษ์พันธุ์ วิเชียรสมุทร นายอำเภอกุยบุรี กล่าวด้วยว่า ปัญหาในขณะนี้เป็นความผิดปกติกับกระทิงที่ตายในพื้นที่อย่างแน่นอน เพราะไม่ได้ตายด้วยการล่า แต่ตายด้วยสาเหตุใดเท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้ผมว่าทั้งกรมอุทยานฯ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ต้องเร่งหาคำตอบเพื่อที่จะหาทางป้องกันไม่ให้เกิดปัญหากระทิงตายหมู่เกิดขึ้นมาอีก โดยเฉพาะเดือนนี้ 2 ตัวแล้ว ส่วนหัว และเขากระทิงตัวนี้ยังอยู่
นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่า ชุดสำรวจประชากรสัตว์ป่าของกรมอุทยานแห่งชาติที่ลงพื้นที่ไปดำเนินการได้กลับมาแล้วแจ้งว่า กระทิงฝูงใหญ่ประมาณ 8 ตัว ยังไม่พบความผิดปกติ แต่สำหรับกระทิงที่ตาย 2 ตัวในรอบนี้อาจเป็นในตัวที่ไม่สมบูรณ์ในช่วงที่สำรวจพบก่อนหน้านี้เพราะเพิ่งตายไม่นาน
ทั้งนี้ การหาสาเหตุก็คงต้องรอผลทั้ง 2 ตัวในชุดใหม่ ซึ่งในขั้นตอนต่อไปคงต้องหาวิธีการเก็บตัวอย่างเลือดของกระทิงในพื้นที่มาตรวจสอบ พร้อมๆ กับตัวอย่างกระทิง 2 ตัวที่ตายใหม่ด้วย วันนี้สิ่งที่ดีที่สุดก็คือ การป้องกันไม่ให้กระทิงที่เหลือเข้ามาในพื้นที่จุดที่พบกระทิงตายในรอบใหม่