ประจวบคีรีขันธ์ - จนท.อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ทีมสัตวแพทย์กรมอุทยานแห่งชาติฯ ตำรวจพิสูจน์หลักฐานประจวบฯ ตำรวจ สภ.บ้านยางชุม ทหารชุดประสานงานโครงการพระราชดำริฯ เข้าตรวจสอบซากกระทิงตายในพื้นที่โครงการพระราชดำริฯ กุยบุรี หลังพบเสียชีวิตอีก 1 ตัว พบเบื้องต้นน่าจะเป็นกระทิงชุดเดียวกับที่ตายในช่วง ธ.ค.56-ม.ค.57 จำนวน 24 ตัวที่ผ่านมา และไม่พบร่องรอยถูกล่า สัตวแพทย์เก็บชื้นกระดูก หนัง ส่งตรวจสอบที่สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ หาสาเหตุการตาย
วันนี้ (8 เม.ย.) นายวัฒนา พรประเสริฐ ผอ.ส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ 3 สาขาเพชรบุรี พร้อมด้วย นายประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ หน.อุทยานแห่งชาติกุยบุรี นายสาธิต ปิ่นกุล หน.โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
พร้อมเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี พ.ต.อ.ทินกร ไพนุพงศ์ ผกก.สภ.บ้านยางชุม พ.ต.อ.วิรัช ทองไทย ผกก.พิสูจน์หลักฐาน ประจวบคีรีขันธ์ พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารชุดประสานงานโครงการพระราชดำริ บ้านรวมไทย ทีมสัตว์แพทย์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ปลัดอำเภอกุยบุรี ฯลฯ เดินทางไปยังบริเวณร่องห้วยท้ายบ่อ 5 โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หมู่ 7 ต.หาดขาม อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ หลังได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรีที่ออกลาดตระเวนพบซากกระทิงเสียชีวิตในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว
เมื่อไปถึงบริเวณร่องห้วยท้ายบ่อ 5 เจ้าหน้าที่ตำรวจพิสูจน์หลักฐานได้ใช้เครื่องแสกนโลหะที่บริเวณซากกระทิง แต่ก็ไม่พบหัวกระสุนแต่อย่างใด ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บ้านยางชุม ได้ตรวจสอบจุดที่พบซากกระทิง ก็ไม่พบว่ามีร่องรอยถูกล่าแต่อย่างใด
ส่วนทีมสัตวแพทย์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ตรวจสอบซากระทิงที่กระจัดกระจายอยู่ในร่องลำห้วย พบว่า เป็นกระทิงอายุประมาณ 10 ปี เบื้องต้นสงสัยได้ว่าเป็นเพศเมีย ซึ่งส่วนหัวกระทิง และเขายังอยู่ครบ คาดว่าเสียชีวิตมาอย่างน้อยกว่า 3 เดือน จึงได้เก็บชิ้นกระดูกส่วนขา ชิ้นหนัง เพื่อส่งตรวจพิสูจน์ในห้องปฏิบัติการของสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ เพื่อตรวจหาดีเอ็นเอว่าเป็นเพศผู้ หรือเพศเมีย และตรวจหาสาเหตุการตายว่าเกิดจากเชื้อโรคเหมือนกับซากกระทิงที่ตายกก่อนหน้านี้ 24 ซากหรือไม่ พร้อมกันนั้นได้เก็บบริเวณส่วนหัวกระทิงที่ยังมีปลอกเขาอยู่ไปเก็บรักษาที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรีด้วย
ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ได้เก็บซากกระทิงทั้งหมดฝังตามขั้นตอนพร้อมฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อ และทำการกลบฝังในตบริเวณใกล้เคียง
นายประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ หน.อุทยานแห่งชาติกุยบุรี กล่าวว่า ช่วงนี้หลังจากเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรีได้ออกติดตามดูสัตว์ป่าในพื้นที่ทั้งกระทิง และช้างป่า พบว่าในช่วงนี้มีกระทิงฝูงใหญ่ประมาณ 40 ตัว รวมทั้งวัวแดง 3 ตัว ออกหากินบริเวณแปลงหญ้าหน้าผา 200 ไร่ ซึ่งพบว่ากระทิงหากินตามปกติ ส่วนช้างป่าก็ทยอยออกหากินในพื้นที่โครงการพระราชดำริฯ ซึ่งจัดเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ออกติดตามดูเพราะเกรงว่าอาจจะออกไปหากินในพื้นที่ชาวบ้าน
ด้านนายวัฒนา พรประเสริฐ ผอ.ส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี กล่าวว่า ขณะนี้ทางกรมอุทยานแห่งชาติฯ ยังไม่ประกาศเปิดอุทยานฯ กุยบุรี และได้ตั้งเจ้าหน้าที่ของของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ออกมาติดตามศึกษาพฤติกรรมของสัตว์ป่าในพื้นที่ ทั้งช้าง และกระทิงว่าสัตว์ป่าในพื้นที่มีอาการผิดปกติหรือไม่แต่อย่างใด
รวมทั้งให้ฝ่ายปกครอง ชาวบ้าน และเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์กุยบุรี เข้ามาร่วม รวมทั้งยังมีทีมสัตวแพทย์ของกรมอุทยานแห่งชาติฯ อีก 1 ชุดด้วยเช่นกัน เพราะหากเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติฯ ชุดติดตามพฤติกรรมพบสัตว์ป่ามีอาการผิดปกติก็จะได้ดำเนินการให้ทีมสัตวแพทย์เข้าไปตรวจสอบต่อไป
“ซึ่งเหตุการณ์พบซากกระทิงเสียชีวิตในวันนี้ พบว่าน่าจะเป็นกระทิงในชุดเดียวกับที่พบซากกระทิงในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคมที่ผ่านมา และไม่ได้เป็นซากกระทิงใหม่แต่อย่างใด ซึ่งทางอุทยานฯ กุยบุรี ได้รายงานให้ทางอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้รับทราบแล้ว”