xs
xsm
sm
md
lg

“สำนักป่าสุญญตาราม” เริ่มตื่น ศิษย์คึกคักพร้อมรับ “ยันตระ” กลับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กาญจนบุรี....รายงาน

กว่า 20 ปีต่อการจากไปของ “พระยันตระ อมโรภิกขุ” เจ้าสำนักป่า “สุญญตาราม” วัดป่าชื่อดังแห่งเมืองกาญจนบุรีที่เต็มไปด้วยความเงียบเหงา แต่แล้วบรรดาลูกศิษย์ก็เริ่มมีความหวังขึ้นมาอีกครั้ง หลังจาก “อดีตพระยันตระ” โผล่เข้ากลับไทย และบอกว่าจะมาใช้ชีวิตอย่างสงบที่สำนักป่า “สุญญตาราม” ทำให้ชาวบ้าน ลูกศิษย์ที่เฝ้ารอคอยมานานเริ่มตื่นตัวรอรับการกลับมาของ “ยันตระ” หวังสร้างบรรยากาศให้พื้นที่ตำบลปรังเผล อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี กลับมาคึกคักเหมือนดังในอดีตอีกครั้ง

ก่อนปี 2537 พระยันตระ อมโรภิกขุ ขณะนั้นเป็นเจ้าอาวาสวัดลิเจีย และเจ้าสำนักป่าสุญญตาราม หมู่ 4 ต.ปรังเผล อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี และปฏิเสธไม่ได้เลยว่าไม่มีใครรู้จักพระยันตระ คนไทยทุกคนต่างรู้จักพระยันตระ เป็นอย่างดี ในฐานะเป็นพระนักเทศน์ที่มีชื่อเสียงที่สุดของประเทศไทยในสมัยนั้น

ความที่พระยันตระ มีน้ำเสียงที่ไพเราะ นุ่มลึก อ่อนหวาน ขณะเทศน์สั่งสอนผ่านเสียงตามสายผ่านไปยังลำโพงที่ติดตั้งเอาไว้โดยรอบผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้ลูกศิษย์ลูกหาที่มาฟังธรรมมะรู้สึกร่มเย็น สบายใจ เพลิดเพลินไปกับบรรยากาศ ที่สำคัญทุกคนเข้าใจในคำสั่งสอนของพระยันตระได้อย่างง่ายดาย

อีกประการ อิริยาบถของพระยันตระ เป็นพระที่มีความสุภาพ นอบน้อมอ่อนโยน ยิ้มเก่ง และเป็นพระที่มีเสน่ห์ ทำให้ศิษยานุศิษย์ที่ศรัทธาได้กล่าวขานกันปากต่อปาก ผนวกกับมีชื่อเสียงโด่งดังตั้งแต่สมัยยังเป็นนักพรตฤาษี

ดังนั้น จึงทำให้ประชาชนจากทุกสารทิศทั่วประเทศที่ศรัทธาเป็นทุนเดิมอยู่แล้วต่างหลั่งไหลมาที่สำนักป่าสุญญตาราม หมู่ 4 ต.ปรังเผล อ.สังขละบุรี จนล้นหลามถึงแม้ อ.สังขละบุรี จะตั้งอยู่ห่างไกลจากตัว จ.กาญจนบุรี รวมระยะทางประมาณ 229 กม.เส้นทางการจราจรส่วนใหญ่เป็นถนนลูกรังสลับกับทางลาดยางเป็นบางช่วง ถนนมีสภาพแคบคดเคี้ยวขึ้นลงไปตามไหล่เขา ที่มีความอันตราย แต่นั่นไม่ใช่อุปสรรคในการเดินทางของลูกศิษย์เลยแม้แต่น้อย

จากการที่มีผู้คนหลั่งไหลเข้ามาในพื้นที่หมู่ 4 ต.ปรังเผล อ.สังขละบุรี ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักป่าสุญญตาราม จำนวนมากทุกวันผลที่ตามมาคือ ความต้องการทางด้านอาหาร เครื่องดื่ม และที่พัก พระยันตระ จึงเล็งเห็นรายได้ที่จะก่อให้เกิดแก่ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่จึงได้พูดคุยให้ชาวบ้านนำสินค้าทางด้านการเกษตร และปลาที่หาง่ายในพื้นที่มาขาย สร้างความตื่นตัวให้แก่คนในพื้นที่เป็นอย่างมาก

ต่อมา ได้มีการเปิดร้านขายอาหาร เครื่องดื่มไว้บริการบริเวณริมสองฝั่งถนน ยิ่งสร้างรายได้ให้แก่คนในพื้นที่มากขึ้น โดยตั้งแต่เช้ามืดจนกระทั่งเย็น จะมีผู้คนออกมาจับจ่ายซื้อของตลอดทั้งวัน ทำให้บรรยากาศเป็นไปด้วยความคึกคักเหมือนกับมีตลาดนัดขนาดใหญ่ เนื่องจากมีสินค้าให้เลือกเป็นจำนวนมาก

ขณะที่คนในพื้นที่บางครอบครัวที่ไม่เคยรู้จักพระยันตระ ก็เริ่มเกิดความรัก และเคารพศรัทธามากขึ้น และเมื่อทุกคนได้มีโอกาสเข้าไปฟังคำสั่งสอนของพระยันตระ ภายในสำนักป่าสุญญตาราม ยิ่งทำให้เกิดความศรัทธาในตัวพระยันตระ ยิ่งขึ้นไปอีก

**แหล่งท่องเที่ยวใน “สังขละบุรี” ได้รับอานิสงส์

นอกจากสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ ต.ปรังเผล แล้วยังส่งผลไปถึงแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ที่มีอยู่ในพื้นที่ อ.ทองผาภูมิ อ.สังขละบุรี โดยเฉพาะร้านค้า ร้านอาหารต่างๆ นั้นเต็มไปด้วยผู้คน ส่วนโรงแรม และรีสอร์ต ในขณะนั้นมีไม่มากนักต่างถูกจองล่วงหน้าจนเต็มทุกแห่ง ตลาดสดภายใน อ.ทองผาภูมิ อ.สังขละบุรี ในยามเช้ามีผู้คนไปจับจ่ายซื้อของอย่างล้นหลาม ทำให้บรรยากาศพื้นที่ อ.ทองผาภูมิ และ อ.สังขละบุรี ในสมัยนั้นเป็นไปอย่างคึกคัก

นอกจากนี้ ความที่พระยันตระ มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วประเทศ และต่างประเทศทำให้ศิษยานุศิษย์ของพระยันตระ ซึ่งมีทุกชนชั้นตั้งแต่ชาวบ้านไปจนถึงคหบดีชั้นผู้ใหญ่ มีทั้งข้าราชการ ทหาร ตำรวจ นักธุรกิจ และเหล่าบรรดาข้าราชการการเมืองระดับจังหวัด และระดับชาติ และได้มีการถวายที่ดินให้แก่พระยันตระหลายแห่ง รวมทั้งในต่างประเทศเพื่อให้พระยันตระ นำไปสร้างเป็น “สำนักป่าสุญญตารามสาขา” ขึ้น

และสำหรับสำนักป่าสุญญตารามสาขา ที่มีชื่อเสียงที่สุดก็คือ สำนักป่าสุญญตาราม หมู่ 4 ต.ปรังเผล อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี นี่เอง ซึ่งมีเนื้อที่ทั้งหมด 515 ไร่ พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในความดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ตั้งอยู่ในเขตความรับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติเขาแหลม พื้นที่ทั้งหมดพระยันตระ ได้ขออนุญาตใช้พื้นที่โดยถูกต้องตามกฎหมาย

สำหรับชาว จ.กาญจนบุรี เกือบทั้งจังหวัดก็มีความศรัทธาต่อพระยันตระเป็นอย่างมาก สมัยนั้นเกือบทุกหลังคาเรือนจะต้องมีรูปของพระยันตระ ตั้งแต่สมัยยังเป็นนักพรตฤาษี จนกระทั่งบวชเป็นพระ นำมาใส่กรอบติดเอาไว้กราบไหว้บูชาเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง และครอบครัว

ส่วนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ อ.สังขละบุรี โดยเฉพาะชาวบ้านในพื้นที่ ต.ปรังเผล ทั้ง 4 หมู่บ้าน ยิ่งไม่ต้องกล่าวถึง ทุกครัวเรือนต่างเลื่อมใส และศรัทธาในพระยันตระ ทำให้ตลอดระยะเวลาหลายปีบริเวณแยกปรังเผลเต็มไปด้วยรถรา และผู้คน

และยังผลผลทำให้การท่องเที่ยวในพื้นที่ อ.ทองผาภูมิ โดยเฉพาะ อ.สังขละบุรี ได้รับอานิสงส์ไปด้วย เพราะหลังจากเสร็จจากการทำบุญที่สำนักป่าสุญญตาราม แล้ว พวกเขาเหล่านั้นก็จะถือเอาโอกาสเข้าไปท่องเที่ยวตามแหล่งธรรมชาติต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆ ในพื้นที่ อ.สังขละบุรี

**หนีคดีกว่า 20 ปีทำ “สูญญตาราม” เงียบเหงา
.....และแล้วพระยันตระ ก็ต้องพบกับอุปสรรคในชีวิต ที่ไม่มีใครล่วงรู้และไม่มีใครคาดคิดมาก่อน เมื่อนางจันทิมา มายะรังษี หนึ่งในสีกาที่ร้องเรียนว่า พระยันตระ อมโรภิกขุ ที่กำลังมีชื่อเสียง และโด่งดังสุดขีด ล่อลวงเธอไปเสพเมถุน มีเอกสารของหม่อมดุษฎี บริพัตร อดีตโยมอุปัฏฐากคนสำคัญที่กล่าวถึงพฤติกรรมอันไม่เหมาะสมต่อความเป็นพระสงฆ์ ในขณะเดินทางไปต่างประเทศ และมีหลักฐานการลอกเลียนบทกวีของ ดร.ระวี ภาวิไล

มีข้อกล่าวหาที่ได้รับการเผยแพร่ออกมาว่า มีเพศสัมพันธ์กับสตรีบนดาดฟ้าเรือเดินสมุทรระหว่างทางจากประเทศสวีเดน ไปยังประเทศฟินแลนด์ จับต้องกายสตรีด้วยความกำหนัด ณ กุฏิริมน้ำ วัดป่าสุญญตาราม ประเทศออสเตรเลีย และเข้าไปหาสตรีในรถตู้ของเธอบนท้องถนนกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย รวมทั้งร่วมหลับนอนกับสตรี และพร่ำพูดถึงความรักทางโทรศัพท์ โดยมีหลักฐานเป็นเทปบันทึกเสียง

นอกจากนี้ นางจันทิมา ยังพาเด็กหญิงกระต่าย ซึ่งอ้างว่าเป็นบุตรสาวมาแสดงตัว พร้อมกับนำภาพถ่ายการใช้ชีวิตเยี่ยงสามีภรรยามาเปิดเผย มีการท้าให้ตรวจดีเอ็นเอ มีการเปิดเผยสลิปบัตรเครดิตที่มีโยมอุปัฏฐากบริจาคให้ ซึ่งถูกนำไปใช้ในสถานบริการทางเพศในประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ รวมทั้งหลักฐานการเปิดโรงแรม และเช่ารถร่วมกับสตรีเพียงสองต่อสอง รวมทั้งคดีที่ก้าวล่วงองค์สมเด็จพระสังฆราช

ในที่สุด มติมหาเถรสมาคมพิจารณาอธิกรณ์ปรับให้พระยันตระ อมโรภิกขุ พ้นจากความเป็นพระภิกษุ เพราะพิจารณาได้ความว่า เขาต้องอาบัติหนักดังที่ถูกฟ้องร้อง แต่พระยันตระไม่ยอมรับมติสงฆ์ และได้ปฏิญาณตนว่ายังเป็นพระภิกษุอยู่ จากนั้นได้ตัดสินใจเปลี่ยนสีจีวรมาเป็นสีเขียว ทำให้ถูกสื่อต่างๆ ตั้งฉายาให้ต่างๆ นานาตามที่ปรากฎในสื่อต่างๆ ในสมัยนั้น

ต่อมา ปี พ.ศ.2537 พระยันตระ ได้ทำหนังสือเดินทางปลอม และหลบหนีไปอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้รับสถานะผู้ลี้ภัยทางการเมือง ทำให้พระยันตระ หรือนายวินัย ละอองสุวรรณ สามารถหลบหนีคดีความอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา จนกระทั่งหมดอายุความ

อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่วันที่พระยันตระ หลบหนีคดีความไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกา สำนักป่าสุญญตารามแห่งนี้ ก็เงียบเหงาลงสนิท รถที่เคยวิ่งเข้า-ออกอย่างคึกคัก ประชาชนรวมทั้งท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยว และปฏิบัติธรรมที่นี้ก็หายไปหมด เหลือแต่ร่องรอยแห่งความคึกคัก

กุฏิ ศาลาทั้งหลังเล็กหลังใหญ่ที่เคยเต็มไปด้วยพระสงฆ์ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา และประชาชน ก็เหลือแต่ความว่างเปล่า แต่ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา ภายในสำนักป่าสุญญตารามแห่งนี้ก็ยังคงมีกิจกรรมทางศาสนาต่อเนื่อง แต่ไม่คึกคักเหมือนครั้งที่พระยันตระ อยู่ โดยปัจจุบันมีพระอนันต์ อภินันโท เป็นผู้ดูแล

***ศิษย์รอวัน “ยันตระ” กลับ “สุญญตาราม”

.....เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก แต่แล้วอยู่ๆ เมื่อวันที่ 23 เม.ย.57 ก็มีข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ รวมทั้งเว็บไซด์ต่างๆ ได้โพสต์รูปภาพของนายวินัย ละอองสุวรรณ อดีตพระยันตระ อมโรภิกขุ เจ้าสำนักป่าสุญญตาราม มาปรากฏกายที่บ้านเกิด อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช พร้อมกับมีศิษยานุศิษย์ที่ให้ความเคารพแห่แหนเดินทางไปกราบไหว้เป็นจำนวนมาก สร้างความฮือฮาให้แก่คนไทยทั้งประเทศ และมีการวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆ นานา มีทั้งผู้ที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย และไม่ว่านายวินัย ละอองสุวรรณ จะไปปรากฏกายที่ไหน จะเป็นที่สนใจของประชาชนที่นั่น รวมทั้งสื่อมวลชนในพื้นที่ต่างติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด

หลังจากนายวินัย ละอองสุวรรณ ให้สัมภาษณ์ว่า “เมื่อกลับเข้ามาประเทศไทย สุดท้ายของชีวิต ต้องการไปอยู่ที่สำนักป่าสุญญตาราม จ.กาญจนบุรี”

หลังจากลูกศิษย์ในพื้นที่ทราบข่าวต่างมีความตื่นตัว ดีใจเป็นอย่างยิ่ง และพร้อมต้อนรับการกลับมาอยู่เสมอโดยเฉพาะพระ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ที่อาศัยอยู่ภายในสำนักป่าสุญญตาราม รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ ต.ปรังเผล อ.สังขละบุรี ทั้ง 4 หมู่บ้าน

พระอนันต์ อภินันโท ผู้ดูแลสำนักป่าสุญญตาราม กล่าวว่า อาตมา และพระลูกวัด รวมทั้งญาติโยมที่อาศัยอยู่ภายใน และภายนอกสำนักป่าสุญญตาราม ทุกคนต่างมีความปลื้ม และดีใจเป็นอย่างมากที่ท่านยันตระ ได้กลับมาประเทศบ้านเกิด โดยไม่มีคดีความใดๆ ติดตัว ทุกคนอยากให้ท่านกลับมาอยู่ที่สำนักป่าสุญญตารามตามเดิม เพราะท่านได้ไปอยู่ต่างประเทศนานเกือบ 20 ปี ทุกคนต่างรอคอยการกลับมาของท่านทุกวัน

“เบื้องต้นทราบข่าวว่าท่านจะกลับมาอยู่ที่นี่ แต่ไม่รู้ว่าท่านจะกลับมาอยู่เมื่อไหร่ และขณะนี้ก็ยังไม่ได้จัดเตรียมห้องพักเอาไว้ให้ สำหรับห้องพัก หรือกุฏิเดิมที่ท่านเคยพักเริ่มมีสภาพที่เสื่อมโทรม ผุพังไปตามกาลเวลาเพราะก่อสร้างด้วยไม้ ถามว่ากังวลเกี่ยวกับเรื่องในคดีของท่านในอดีตหรือไม่ ส่วนตัวตอบได้เลยว่าไม่มีความกังวล และยังเชื่อว่าท่านยังบริสุทธิ์”

นายสุธี เจริญสุข อายุ 57 ปี กล่าวว่า ดีใจมากหลังจากทราบข่าวว่าท่านกลับมา ส่วนจะกลับมาอยู่ที่สำนักป่าสุญญตาราม เมื่อไหร่ไม่รู้ สำหรับตน และครอบครัวยังมีความศรัทธาในตัวท่านเหมือนเดิม เพราะเราเชื่อในความบริสุทธิ์อันใสซื่อของท่าน สามารถกราบเท้าท่านได้อย่างสนิทใจ และที่เป็นข่าวในอดีตเราไม่เชื่อเด็ดขาดเพราะตนเป็นลูกศิษย์ท่านมาตั้งแต่อายุ 14 ปี

นางจารนัย เกตุโสภา อายุ 64 ปี ชาวมีนบุรี กล่าวว่า เกือบ 20 ปีที่พระยันตระ ไปอยู่ต่างประเทศ ตนได้เดินทางมาช่วยงานที่สำนักป่าสุญญตาราม เป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะวันสำคัญคือ วันที่ 14 ตุลาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันเกิดของพระยันตระ เราจะขาดไม่ได้อย่างเด็ดขาด

“เราเชื่อในคำสั่งสอนของท่านด้วยจิตใจอันบริสุทธิ์ เพราะชีวิตเราเคยเจออุปสรรคมามาก ภายหลังได้ฟังคำสั่งสอนของท่านขณะที่ท่านยังเป็นพระ ทำให้จิตใจของเราดีขึ้นอุปสรรคที่เคยผจญอยู่ก็หมดไป และหากท่านกลับมาอยู่ที่สำนักป่าสุญญตารามเมื่อไหร่ เราพร้อมจะรับใช้ท่านด้วยความศรัทธาอันบริสุทธิ์”

ขณะที่นายนิยม กลิ่นมณฑา กำนันตำบลปรังเผล บอกว่า เกือบ 20 ปี ที่ตำบลปรังเผลของเราเงียบเหงา ชาวบ้านทั้ง 4 หมู่บ้านต่างดีใจที่ทราบข่าวว่าอดีตพระยันตระ กลับมาประเทศไทยแล้ว และทราบว่าต้องการมาอยู่ที่สำนักป่าสุญญตารามตามเดิม และหากท่านมาอยู่เมื่อไหร่ เชื่อว่าบรรยากาศอันเงียบเหงาจะกลับมาคักคักเหมือนเมื่อ 20 ปีที่แล้วอย่างแน่นอน ซึ่งชาวบ้านทุกครัวเรือนต่างตั้งใจรอวันที่อดีตพระยันตระ กลับมาอยู่ที่สำนักป่าสุญญตารามอีกครั้งหนึ่ง ถึงแม้จะมาในฐานะนายวินัย ละอองสุวรรณ ก็ตาม
ทางเข้าสำนักป่าสุญญตาราม หมู่ 4 ต.ปรังเผล อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี
พระอนันต์ อภินันโท ผู้ดูแลสำนักป่าสุญญตาราม หมู่ 4 ต.ปรังเผล อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี
บรรยากาศภายในบริเวณหน้าสำนักป่าสุญญตาราม ที่ปัจจุบันยังคงมีกิจกรรมทางศาสนาอย่างต่อเนื่องแต่ไม่คึกคักเหมือนในอดีต




กุฎิของอดีตพระยันตระ อมโรภิกขุ เคยใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม

บรรยากาศบริเวณหน้าสำนักป่าสุญญตารามในปัจจุบันที่ในอดีตเคยมีความคึกคักมาก

กำลังโหลดความคิดเห็น