xs
xsm
sm
md
lg

สคบ.เร่งตรวจพิสูจน์สินค้า “บารากุไฟฟ้า” อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวศรีราชา - สคบ. เร่งตรวจพิสูจน์สินค้า “บารากุไฟฟ้า” อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค และสร้างความรำคาญให้แก่บุคคลรอบข้างอันเนื่องจากควัน ซึ่งมีผลกระทบทำให้บุคคลรอบข้างได้รับกลิ่นฉุน หรือมีอาการปวดศีรษะ

น.ส.ฐิติรัตน์ ศรีธีระวิโรจน์ ประชาสัมพันธ์จังหวัดชลบุรี เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) โดยศูนย์เฝ้าระวังและพิสูจน์สินค้าที่ไม่ปลอดภัย ได้สืบค้นข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์พบว่า ข้อมูลข่าวระบุว่า “ขณะนี้ได้มีสารเสพติดตัวใหม่กำลังระบาดอยู่ในโรงเรียน โดยบอกว่าเป็นยาดับกลิ่นปากมีหลายรสชาติ หลายกลิ่น” ศูนย์เฝ้าระวังและพิสูจน์สินค้าที่ไม่ปลอดภัย จึงได้ทำการสืบค้นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสินค้าดังกล่าวเพิ่มเติมพบว่า คือ บารากุไฟฟ้า มีลักษณะเป็นแท่งคล้ายบุหรี่ไฟฟ้า มีหลายสี และหลายกลิ่น ได้แก่ มินต์ องุ่น แอปเปิล เลมอน เชอร์รี และมีการวางจำหน่ายในตลาดทั่วไป รวมถึงการจำหน่ายทางอินเทอร์เน็ต

โดยมีราคาตั้งแต่ 200-1,000 บาท/แท่ง ซึ่งผู้ขายมักอวดอ้างสรรพคุณของบารากุไฟฟ้า ดังนี้
1.บารากุไฟฟ้าไม่ใช้ถ่านเหมือนเตาบารากุปกติ จึงไม่เกิดการเผาไหม้ที่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์
2.บารากุไฟฟ้าไม่ต้องใช้แบตเตอรี่ ไม่ต้องชาร์จ มีขนาดเล็ก พกพาสะดวก
3.บารากุไฟฟ้าไม่มีสารนิโคติน
4.บารากุไฟฟ้าไม่มีสารทาร์ หรือน้ำมันดิน
5.บารากุไฟฟ้าใช้เพียงสารโพรไพลีนไกลคอล ซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร และเบเกอรี เป็นสารที่ทำให้เกิดควันสีขาวที่พ่นออกมา จึงได้รับอนุญาตให้สูบในที่สาธารณะได้โดยไม่มีอันตรายใดๆ ทั้งสิ้น ดังนั้น จึงมั่นใจได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ว่า บารากุไฟฟ้าปลอดภัยอย่างแน่นอน
6.ควันที่พ่นออกมาจากการสูบบารากุไฟฟ้ามีกลิ่นหอมของผลไม้ ไม่สร้างความรำคาญให้แก่ผู้ที่อยู่รอบข้าง
และ 7.พลาสติกที่นำมาใช้ผลิตเป็นวัสดุคุณภาพดี ทำให้ใช้งบประมาณ 100-500 ครั้งต่อ 1 แท่ง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับรุ่น และยี่ห้อ

ในการนี้ สคบ. ได้ประสานไปยังสำนักควยคุมการบริโภคสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อหารือและสอบถามถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อมูลข่าวข้างต้น ซึ่งชี้แจงว่าสำนักงานควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค ไม่ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับสินค้าดังกล่าวจากผู้บริโภค แต่ได้ทราบเรื่องเกี่ยวกับสินค้าดังกล่าวแล้ว

ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการติดต่อสำนักงานเขตต่างๆ เพื่อลงพื้นที่ตรวจสอบ และได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า บารากุไฟฟ้ามีลักษณะคล้ายกับบุหรี่ไฟฟ้า โดยมีหลักการทำงานคล้ายกัน คือ มีตัวน้ำยาบรรจุอยู่ในแท่ง เมื่อผู้ใช้ทำการสูบจะทำให้เกิดปฏิกิริยาภายในตัวเครื่องจนเกิดควันออกมา ซึ่งมีข้อแตกต่างตรงที่บารากุไฟฟ้ามีขนาดเล็กคล้ายปากกา มีหลายสีหลายรสชาติและหลายกลิ่น

ทั้งนี้ สำนักงานควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค ตั้งสมมติฐานว่า ผู้ผลิตสินค้านี้ขึ้นมาเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมาย คือ พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535

รวมทั้งเลี่ยงการจับกุม และดำเนินคดีตามกฎหมาย ทั้งนี้ บารากุไฟฟ้าเข้าข่ายมีความผิดตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 กรณีที่สร้างความรำคาญให้แก่บุคคลรอบข้างอันเนื่องจากควัน ซึ่งมีผลกระทบทำให้บุคคลรอบข้างได้รับกลิ่นฉุน หรือมีอาการปวดศีรษะ

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังไม่มีการทดสอบ หรือพิสูจน์ถึงอันตราย หรือความไม่ปลอดภัยที่อาจเกิดขึ้นต่อผู้บริโภคอย่างชัดเจน โดยศูนย์เฝ้าระวังและพิสูจน์สินค้าที่ไม่ปลอดภัยจะดำเนินการติดตาม และประสานไปยังผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง เพื่อสอบถามข้อเท็จจริง และจะสุ่มซื้อตัวอย่างสินค้าเพื่อไปทำการทดสอบต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น