xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นอันตราย เตรียมคุมเข้ม “บารากู่”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ถึงเวลาจัดระเบียบสำหรับของเล่นสุดฮิตในวัยรุ่นอย่าง บารากู่ การเสพยาสูบโดยใช้เครื่องมือการสูบเป็นภาชนะเนื้อโลหะรูปทรงคล้ายตะเกียงอาหรับ ส่วนบนสุดใช้วางยาเส้นที่เรียกว่า มาแอสเซล (มาแอสเซล เป็นส่วนผสมของใบยาสูบกับสารที่มีความหวานอย่างน้ำผึ้ง กากน้ำตาล ผลไม้ หรือดอกไม้ตากแห้ง ทำให้เกิดกลิ่นหอม ซึ่งมักจะห่อไว้ในกระดาษฟอยล์) โดยจะใช้ถ่านหรือความร้อนจากไฟฟ้าในการเผายาเส้น ควันจากการเผาไหม้จะผ่านมายังส่วนล่างสุด ซึ่งด้านล่างจะเป็นกระเปาะใส่น้ำ เมื่อมีการทำความร้อน ยาสูบจะเกิดควัน แล้วลอยผ่านมาทางน้ำ

ทั้งนี้ ได้มีการตื่นตัวมาโดยตลอดสำหรับการปราบปรามบารากู่ และล่าสุดสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยว่า เร็ว ๆ นี้ ฝ่ายบริหาร สคบ.เตรียมเสนอที่ประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค พิจารณาออกคำสั่งให้ร้านอาหาร รวมทั้งสถานบันเทิงทั่วประเทศ ระงับการให้บริการสูบบารากุ ซึ่งเป็นยาเส้นชนิดหนึ่งที่ปรุงแต่งกลิ่น และใช้สูบผ่านเครื่อง ลักษณะคล้ายตะเกียงอาหรับ ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มวัยรุ่น เป็นการชั่วคราว เพื่อขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบ ว่าการให้บริการดังกล่าวผิดกฎหมายหรือไม่ เพราะเกรงว่าจะเกิดอันตราย โดยเฉพาะการนำสารเสพติดบางชนิดผสมเข้าไปในตัวยาเส้น พร้อมทั้งขอให้พิจารณาแนวทางการควบคุมสินค้าดังกล่าวอย่างชัดเจนด้วย

ข้อมูลของตัวยาบารากุที่สูบนั้น ยังไม่มีความชัดเจน และยังไม่ได้ตรวจสอบว่าเป็นอันตรายกับผู้บริโภคหรือไม่ รวมทั้งยังไม่มีกฎหมายตัวใดออกมาควบคุมสินค้าชนิดดังกล่าวอย่างชัดเจน ซึ่งขณะนี้ สถานบันเทิงส่วนใหญ่มักให้บริการ ด้วยการเปิดให้ผู้บริโภคสูบกันอย่างเปิดเผย ซึ่งไม่รู้ว่ามีสารเสพติดผสมไว้หรือไม่ จึงขอให้ระงับการให้บริการไว้ก่อน จนกว่าจะทดสอบได้ แต่เชื่อว่าคงเป็นเรื่องยาก เพราะคงต้องหารือกับหลายหน่วยงาน รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจให้กวดขันด้วย ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่าตัวของยาเส้นเปล่า ๆ ไม่ได้มีอันตราย แต่ไม่รู้ว่า เมื่อนำไปสูบได้ผสมสารอะไรไว้หรือไม่”

อย่างที่กล่าวไปว่า แม้บารากู่จะมีกลิ่นหอมหวานชวนให้ลุ่มหลงในการสูบอย่างถอนตัวไม่ขึ้น แต่รู้หรือไม่จากการวิจัยได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า บารากู่มีอันตรายมากกว่าการสูบบุหรี่ทั่วไป เพราะมีสารทาร์และนิโคตินจำนวนมากกว่า อีกทั้งการสูบผ่านน้ำและการผสมกลิ่นผลไม้ต่างๆ จะทำให้ความเข้มข้นของควันจางลง แต่กลับทำให้ผู้สูบสูบได้ลึกขึ้นและจำนวนมากขึ้น

เมื่อเทียบการสูบบารากู่นาน 45 นาที จะได้รับสารทาร์เป็น 36 เท่า คาร์บอนมอนอกไซด์เป็น 15 เท่า และนิโคตินเป็น 70 เท่า ของการสูบบุหรี่ 1 มวน ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกายมาก โดยผู้ที่สูบจะได้รับก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ซึ่งเป็นสารที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดแข็งตัว และโรคเรื้อรังของระบบทางเดินหายใจ ผู้สูบจะมีอาการปวดศีรษะ ตามองเห็นภาพไม่ชัด ใจสั่น เวียนศีรษะ และมีระดับคอเลสเตอรอลในกระแสเลือดมากกว่าผู้ที่สูบบุหรี่ทั่วไป

อีกทั้งยังอาจกระตุ้นให้เกิดหลอดลมตีบตันในตัวผู้ป่วยโรคหอบหืด และเพิ่มการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร จึงเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นแผลในกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ ยังพบว่าทำให้เกิดการเจริญเติบโตผิดปกติของทารกในครรภ์อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้กำลังดำเนินมาตรการห้ามขายในสถานบันเทิง แต่บารากู่สุดฮิตของเหล่าวัยรุ่นทั้งหลายก็ยังมีจำหน่ายอยู่เกลื่อนทั้งตามตลาดเปิดท้ายกลางคืนอย่าง ตลาดนัดรถไฟ คลองหลอด สะพานพุทธ รวมไปถึงการซื้อขายอย่างง่ายดายในอินเทอร์เน็ต นอกจากนั้น ยังได้มีการดัดแปลงบารากู่ให้สามารถใช้งานได้สะดวกขึ้น ด้วยการผลิตออกมาเป็นแบบไฟฟ้า ลักษณะเดียวกับบุหรี่ไฟฟ้า และได้รับความนิยมในกลุ่มวัยรุ่นเช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น