นับจาก 11-12-13 วันเปิดใช้ขัวมิตรภาพ 4 (สะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 4) เชื่อมระหว่าง อ.เชียงของ จ.เชียงราย-เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ สังคม ในพื้นที่ ที่เคยถูกเรียกว่า “ทุ่งเศรษฐี” อย่างน่าจับตา
...
หลายสิบปีที่ผ่านมา คนที่เคยเดินทางเข้า-ออก ผ่านชายแดน อ.เชียงของ จ.เชียงราย ข้ามไปยังเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ที่มีถนน R3a มาต่อเชื่อมให้เดินทางขึ้นไปถึงหยุนหนัน (ยูนนาน) 1 ในมณฑลทางตอนใต้ของ สาธารณรัฐประชาชนจีน จะต้องนั่งเรือข้ามฝากแม่น้ำโขงไป เช่นเดียวกับสินค้าที่จะต้องใช้แพขนานยนต์บรรทุกข้ามฝั่งไป
ซึ่งนั่นทำให้ท่าเรือบั๊กริมฝั่งแม่น้ำโขง เขตตัวเมืองเชียงของ คึกคักตั้งแต่เช้า ยันค่ำเป็นประจำทุกวัน
แต่ตลอดระยะ 3 เดือนเศษ หลังการเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 4 ย่านบ้านดอนไข่นก (ลาว)-บ้านดอนมหาวัณ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ที่คนโบราณเรียกว่า “ทุ่งเศรษฐี” ทุกอย่างถูกย้ายไปผ่านสะพานทั้งหมด
ไม่ว่าจะเป็นรถบรรทุกสินค้าที่เคยผ่านเมืองอย่างหนาแน่น เพื่อข้ามแพขนานยนต์ที่ท่าเรือบั๊ก นักท่องเที่ยวที่ต้องมาข้ามฝั่งที่ท่าเรือ ทำให้ย่านการค้าเก่าเมืองเชียงของเงียบไปถนัด
นั่นทำให้พื้นที่ที่น่าจับตามอง และจะเป็นย่านเศรษฐกิจใหม่ของเมืองเชียงของ คือ พื้นที่ 2 ข้างทางจากถนนซูเปอร์ไฮเวย์ ไปจนถึงทางเข้าพื้นที่สะพาน ซึ่งมีระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร
นายเฉลิมพล พงษ์ฉบับนภา พาณิชย์ จ.เชียงราย เปิดเผยว่า การค้าชายแดนด้าน จ.เชียงราย ตลอดปี 2556 รวมถึงช่วงหลังการเปิดสะพานแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 จนถึงสิ้นปี พบว่า มีมูลค่าการค้ารวม 38,387 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเต็ม 100% แยกเป็นการส่งออกมูลค่า 34,315.34 ล้านบาท และส่งออกมูลค่า 4,071.66 ล้านบาท
เฉพาะที่ด่านพรมแดน อ.เชียงของ ตั้งแต่ยังมีการใช้แพขนานยนต์เพื่อขนส่งสินค้ามาจนถึงการขนส่งทางบกผ่านสะพานแห่งใหม่ พบว่ามีมูลค่าการค้ากับทั้ง สปป.ลาว พม่า และจีนตอนใต้ รวม 14,063.95 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36.64% แยกเป็นการส่งออกมูลค่า 10,877.72 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.70% และนำเข้ามูลค่า 3,186.23 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 78.25%
เมื่อมองเฉพาะตัวเลขการค้าผ่านด่านพรมแดน อ.เชียงของ ที่ขนส่งผ่านถนน R3a ไทย-สปป.ลาว-จีนตอนใต้ พบว่า มีมูลค่าการค้ารวม 3,900.61 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 49.54% แยกเป็นการส่งออก 1,445.02 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.18% นำเข้ามูลค่า 2,455.59 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 79.62% สินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นน้ำมันเชื้อเพลิง สินค้าอุปโภคบริโภค ฯลฯ นำเข้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าพืชผัก เครื่องจักร รถยนต์ ฯลฯ
นายธนิสร กระฎุมพร ประธานหอการค้า อ.เชียงของ กล่าวทำนองเดียวกันว่า หลังเปิดใช้สะพานมิตรภาพฯ ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ ตัวเลขการค้าชายแดนที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง สภาพเศรษฐกิจของพื้นที่ในภาพรวมมีความคึกคักมากขึ้น ทั้งด้านการจับจ่ายใช้สอย การพาณิชยกรรม การลงทุนด้านต่างๆ รวมถึงตึกรามบ้านช่องที่มีมากขึ้น ฯลฯ
แต่ก็มีปัญหาอันเกิดจากความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอยู่บ้าง โดยเฉพาะด่านพรมแดนแห่งเดิม ที่ท่าเรือบั๊ก ในแม่น้ำโขง ต้องเงียบเหงาลงทันที เพราะเป็นด่านฯที่ไม่อนุญาตให้มีการใช้หนังสือเดินทางระหว่างประเทศ หรือพาสปอร์ต ในการเดินทางข้ามไปมาระหว่างเชียงของ-ห้วยทราย โดยให้หันไปใช้สะพานแห่งใหม่แทน
นอกจากนี้ จากการสอบถามไปยังผู้ประกอบการขนส่งสินค้าชายแดนที่เคยใช้แพขนานยนต์ ต่อมาหันไปใช้สะพานในการขนส่งทราบว่า เงื่อนไขในการข้ามแดนแตกต่างจากที่สะพานไทย-สปป.ลาว ที่ จ.มุกดาหาร เช่น ที่ด่านพรมแดน จ.มุกดาหาร มีการคิดค่าธรรมเนียมรถยนต์บรรทุกถูกกว่า ขั้นตอนพิธีการและการอำนวยความสะดวกต่างๆ ก็ยังไม่ค่อยคล่องตัว
“สิ่งที่เราพบเห็นได้ชัดเจนที่สุดขณะนี้คือ เรื่องราคาที่ดิน ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ”
ที่ดินที่ตั้งอยู่ติดกับถนนสายไปสู่สะพานมิตรภาพฯ พุ่งสูงถึงไร่ละกว่า 10 ล้านบาทแล้ว ซึ่งกลุ่มทุนท้องถิ่นอย่างเราๆ เห็นแล้วต่างคิดว่า เป็นราคาที่พุ่งสูงเกินไป แต่สำหรับกลุ่มทุนใหญ่ๆ จากส่วนกลางแล้วเขากลับกล้าลงทุนซื้อ
จากการตรวจสอบข้อมูลของภาคเอกชน พบว่า ขณะนี้ในพื้นที่อำเภอเชียงของ มีกลุ่มนายทุนเข้ามาจับจองที่ดิน เพื่อทำธุรกิจเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่ยังคงเป็นกลุ่มประเภทลอจิสติกส์ ล่าสุดมีกลุ่มนายทุนจากจีน ได้ร่วมมือกับนายทุนไทย เตรียมจัดตั้งบริษัทลอจิสติกส์ ภายใต้ชื่อ เจี๋ยวฟงลอจิสติกส์ จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแล้ว ประมาณ 10 ล้านบาท พื้นที่การก่อสร้างใกล้กับสะพานมิตรภาพแห่งที่ 4
รวมถึงกลุ่มนักลงทุนจากประเทศจีน ที่เข้าไปซื้อที่ดินไว้ในพื้นที่อำเภอเชียงของ กว่า 3,000 ไร่ เพื่อจัดสร้างเป็นคลัง และศูนย์กระจายสินค้าเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยางพารา ในนามบริษัท ซินเซียง รับเบอร์ จำกัด ขณะที่ห้างโลตัส และไทวัสดุในเครือเซ็นทรัลก็ได้เข้ามาสำรวจพื้นที่แล้ว
นอกจากนี้ ยังพบว่า บริษัท ดอยตุงขนส่ง จำกัด ได้ซื้อที่กว่า 15 ไร่ ในการสร้างสำนักงานแบบครบวงจร บริเวณเส้นทางหลวงหมายเลข 1020 เส้นทางเทิง-เชียงของ เพื่อเชื่อมต่อไปยังเส้นทาง R3a ซึ่งมุ่งสู่ สปป.ลาว และเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา ประเทศจีน
ส่วนพื้นที่หัวสะพานมิตรภาพฯฝั่ง สปป.ลาว ยังเป็นที่ตั้งของ “นาคราชนคร” ของบริษัทเอเอซี กรีนซิตี้ ลาว บริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัทเอเอซี กรีนซิตี้ ของครอบครัว “สิงห์สมบุญ” เจ้าของธนาคารร่วม พัฒนา กับกลุ่มทุนเกาหลีใต้ ในสัดส่วน 80 : 20 ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาที่ดินเพื่อการท่องเที่ยว ที่ถูกออกแบบมาให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ด้วย
โครงการนี้เป็นการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ บนพื้นที่กว่า 1,200 ไร่ (200 เฮกตาร์) ติดแม่น้ำโขง บริเวณดอนไข่นก (ฝั่งไทยเรียกดอนขี้นก) เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว อยู่ห่างจากจุดก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 4 เพียงไม่ถึง 1 กิโลเมตร และห่างจากถนนสาย R3a เพียง 6 กิโลเมตร
ภายในโครงการนาคราชนคร นอกจากพื้นที่ซึ่งจะพัฒนาเพื่อการท่องเที่ยวแล้ว ยังจะมีพื้นที่เพื่อการพาณิชย์ ซึ่งภายในจะประกอบด้วยอาคารพาณิชย์ ศูนย์การค้า รวมทั้ง แหล่งสันทนาการต่างๆ
รวมทั้งจะมีศูนย์เปลี่ยนถ่ายหัวรถตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งถือเป็นทางออกให้กับประเด็นที่คนส่วนใหญ่กำลังวิตกกังวลกันมากว่า กำลังเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาลอจิสติกส์ในพื้นที่นี้ เนื่องจากรถที่วิ่งทั้งใน สป.จีน และ สปป.ลาว เป็นรถที่ใช้พวงมาลัยซ้าย ขณะที่รถที่ใช้อยู่ในประเทศไทย กลับเป็นรถพวงมาลัยขวา
ดร.เหมโชค สิงห์สมบุญ รองประธานโครงการนาคราชนคร กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราได้ก่อสร้างโรงแรม รีสอร์ต พื้นที่เกษตร อาคารพาณิชย์ เขตปลอดภาษี หรือดิวตี้ฟรีโซน สถานบันเทิง เอนเตอร์เทนเมนต์ สาธารณูปโภคต่างๆ ฯลฯ
กรณีกิจการโรงแรมนั้นได้เปิดบางส่วนแล้ว และทยอยเปิดให้เต็มโครงการทั้งหมดตามลำดับ แต่กรณีของเขตปลอดภาษี และอาคารพาณิชย์ พบว่า คึกคักเกินคาด มีนักธุรกิจจีนเดินทางมาเที่ยว และจับจองพื้นที่กันเป็นจำนวนมากแล้ว
อย่างไรก็ตาม หากมองในภาพรวมแล้วช่วงนี้เห็นได้ว่าด้านการลงทุนต่างๆ ชะลอลงไปบ้าง โดยอาคารพาณิชย์หลายแห่งที่ก่อสร้างใหญ่โตหน้าด่านก็ยังไม่เปิดทำการอย่างเป็นทางการ นักลงทุนที่จ้องจะเข้าไปลงทุน ก็ชะลอการลงทุนไว้ก่อน
แต่เป็นการชะลอ เพราะปัจจัยอื่น ที่ไม่ใช่เรื่องศักยภาพของพื้นที่ นั่นคือ ปัญหาทางการเมืองที่วุ่นวายของบ้านเรา ทำให้นักลงทุนก็รอดูสถานการณ์เรื่องนี้คงจะมีผลทางจิตใจด้วย จึงคาดหวังว่าในระยะยาวทุกอย่างจะเดินหน้าไปได้ด้วยดี
ภาพของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น กับเมืองริมฝั่งแม่น้ำโขง วันนี้ เป็นแค่จุดเริ่มต้น เพราะนับจากนี้ไปหลังการเชื่อมต่อการคมนาคมเสร็จสมบูรณ์ และปัจจัยที่เป็นส่วนประกอบอื่นๆ ลงตัว เชื่อว่า เศรษฐกิจริมน้ำโขงจะกระเพื่อมเพิ่มมากขึ้น แน่นอน