ศูนย์ข่าวศรีราชา - อพท.เมืองพัทยา พร้อม 9 อปท.และหน่วยงานเกี่ยวข้อง หารือจัดทำโครงการศึกษาจัดทำแผนแม่บทการคมนาคมขนส่งในพื้นที่เมืองพัทยา และเชื่อมโยง หวังแก้ปัญหาการจราจร ส่งเสริมสนับสนุนการท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ ด้านชลบุรี ผุดไอเดียทำรถไฟฟ้าใต้ดินแก้ปัญหาขนส่งในพื้นที่ท่องเที่ยว ขณะที่นายกเมืองพัทยารับลูกมอบหมายที่ปรึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม เสนอแผนเตรียมความพร้อมรองรับอนาคต
วันนี้ (27 มี.ค.) ที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา จ.ชลบุรี นายดำรงค์ แสงกวีเลิศ รองผู้อำนวยการองค์การพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) พร้อมด้วยนายอิทธิพล คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา ประชุมร่วมกับตัวแทนจากจังหวัดชลบุรี หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมโยธาธิการ กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท สมาคมนักธุรกิจและการท่องเที่ยวเมืองพัทยา
และผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่เชื่อมโยงทั้ง 9 แห่ง ประกอบด้วย เทศบาลเมืองหนองปรือ บางละมุง ตะเคียนเตี้ย โป่ง ห้วยใหญ่ นาจอมเทียน หนองปลาไหล เขาไม้แก้ว และเขาชีจรรย์ เพื่อร่วมรับฟังการนำเสนอ และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแผนการจัดทำโครงการศึกษาจัดทำแผนแม่บทการคมนาคม ขนส่งในพื้นที่เมืองพัทยา และพื้นที่เชื่อมโยงที่ทาง อพท. ได้ว่าจ้างภาคเอกชนในงบประมาณ 15 ล้านบาท
เพื่อให้เข้ามาศึกษา และจัดทำแผนแม่บทเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรในพื้นที่ท่องเที่ยวของเมืองพัทยา และพื้นที่เชื่อมโยง อันจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ในภาพรวมทางด้านการจราจร และส่งเสริมสนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างเป็นรูปธรรม
นายดำรงค์ กล่าวว่า สำหรับเมืองพัทยา และพื้นที่เชื่อมโยงแม้จะเป็นเมืองท่องเที่ยวขนาดเล็กเพียง 930 กว่า ตร.กม. แต่พบว่าเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมากเฉลี่ยปีละกว่า 9-10 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 28.10% ของยอดรวมนักท่องเที่ยวทั่วประเทศ สร้างรายได้นับแสนล้านบาท
ดังนั้น จึงทำให้เกิดปัญหาสังคมตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ได้แก่ ปัญหาการจราจร ซึ่งพบว่าปัจจุบันเริ่มมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ทาง อพท.จึงได้ว่าจ้างภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญได้เข้ามาศึกษา และวางแผนการจัดทำแผนแม่บทเกี่ยวกับการพัฒนาระบบคมนาคม และขนส่งอย่างเป็นรูปธรรม
ซึ่งโครงการที่จัดทำนี้จะใช่ระยะเวลา 240 วัน ในการพิจารณาโครงการต่างๆ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาการจราจร เพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ประชาชน และนักท่องเที่ยว รวมทั้งยังเป็นโครงการที่จัดทำขึ้นเพื่อให้เกิดความสอดคล้อง และรองรับโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
เช่น โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง โครงการรถไฟรางคู่ โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือแหลมฉบัง หรือโครงการถนนบูรพาวิถี เป็นต้น จากนั้นก็จะมีการนำเสนอรายงานต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณา พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ก่อนสรุปผลงานและบรรจุไว้ตามแผนเพื่อเสนอของบประมาณในการจัดทำอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
ทางด้านนายประธาน สุรกิจบวร หัวหน้าสำนักงานจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากเมืองพัทยา และพื้นที่เชื่อมโยงมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น การพัฒนาเพื่อรองรับทั้งในระยะสั้น และระยะยาวจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง โดยโครงการเหล่านี้ต้องทำให้สอดคล้อง และควบคู่ไปกับโครงการหลักของภาครัฐในหลายโครงการ โดยเฉพาะโครงการหลักๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้
อย่างถนนสายบูรพาวิถี และรถไฟฟ้าความเร็วสูง ซึ่งแม้ว่างบประมาณ 2 ล้านล้านบาทจะตกไป แต่การรถไฟฯ เองก็มีแผนที่จะจัดทำขึ้น โดยการกู้ยืมเงินมาลงทุน โดยมีเส้นทางสำคัญคือสุวรรณภูมิ พัทยา ระยอง เป็นโครงการต้นๆ ที่จะดำเนินการ
ดังนั้น ในส่วนของพื้นที่เองก็ต้องดำเนินโครงการเพื่อให้เกิดการสอดรับเช่นกัน เช่น การจัดทำระบบขนส่งรองรับบริเวณถานีไฟฟ้าความเร็วสูง ซึ่งมีการนำเสนอการจัดทำระบบรถไฟฟ้าใต้ดินต่อเชื่อมเข้าสู่เมืองพัทยา และการจัดปริมณฑลบริเวณสถานีจอดเพื่อให้เกิดความทนัสมัยและสะดวกสบายแก่ผู้ใช้บริการด้วย
ขณะที่ นายอิทธิพล คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา กล่าวว่า สำหรับโครงการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทครั้งนี้จะถือว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อเมืองพัทยา เนื่องจากเป็นการวางรากฐานในการพัฒนาระบบคมนาคม และขนส่งที่สอดคล้อง และรองรับการเติบโตอย่างมีคุณภาพในอนาคต
ไม่ว่าจะเป็นแผนการจัดสร้างถนนสายรองเพื่อระบายความแออัดของถนนสายหลักอย่างสุขุมวิท หรือเลียบทางรถไฟ การจัดทำถนนทางเชื่อมระหว่างกันเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยง และระบายจุดการจราจรที่วิกฤต การจัดทำโครงการ Park and Ride ที่จัดบริการที่จอดเพื่อลดความแออัดในพื้นที่ชุมชน หรือแผนรองรับการคมนาคมขนส่งทั้งทางบก และทะเล ซึ่งครอบคลุมอยู่ในโครงการศึกษาครั้งนี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเมืองพัทยาได้จัดทำโครงการศึกษาและวางแผนแม่บทในการแก้ไขปัญหาการคมนาคมขนส่งมาแล้ว อีกทั้งยังมีภาคเอกชนอย่าง IBM ที่เคยเสนอตัวเข้ามาศึกษาและวางแผนให้แล้วในปี 2555 รวมถึงแผนแม่บทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 9 แห่ง ซึ่งก็จะนำผลการศึกษาใหม่ที่ทำทั้งระบบในภาพรวมทั้งเมืองพัทยา และพื้นที่เชื่อมโยงมาผนวกรวมกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาสูงสุดต่อไป
นายอิทธิพล กล่าวต่อไปว่า นอกจากโครงการที่จะได้จัดทำใหม่นั้น โครงการสำคัญในอดีตอย่าง อุโมงก์ก็ลอดทางแยกถนนสุขุมวิท บริเวณปากทางพัทยา โดยกรมทางหลวงชนบทนั้น ปัจจุบันโครงการนี้ผ่านความเห็นชอบ และอนุมัติงบประมาณในการจัดทำแล้ว จำนวน 840 ล้านบาท ในปี 57 นี้ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของการจัดจ้างผู้รับเหมา ส่วนแยกพัทยาใต้ และเทพประสิทธิ์ ก็จะมีการพิจารณาอนุมัติงบประมาณต่อไปในปี 58 ซึ่งจะทำให้เมืองพัทยาเกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น
ขณะที่แนวคิดในการจัดทำโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินก็ถือเป็นอีกโครงการที่น่าสนใจ จึงได้มอบหมายให้ที่ปรึกษานำไปศึกษาเพิ่มเติม และระบุลงในแผนแม่บทเพื่อรอการพิจารณาความเห็นชอบต่อไป