ศูนย์ข่าวภูเก็ต - สนข.จัดประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชน การศึกษาและออกแบบทางรถไฟสายใหม่เพื่อการท่องเที่ยว เส้นทางจังหวัดสุราษฎร์ธานี-พังงา-ภูเก็ต ครั้งที่ 1 เพื่อนำข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมประชุมไปใช้ประกอบการศึกษาพัฒนาโครงการฯ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป
เมื่อเวลา 09.30 น. วันนี้ (20 ธ.ค.) ที่โรงแรมเมโทรโพล อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดการประชุมใหญ่การมีส่วนร่วมของประชาชน ครั้งที่ 1 (การปฐมนิเทศโครงการ) การศึกษาและออกแบบทางรถไฟสายใหม่เพื่อการท่องเที่ยวเส้นทางสุราษฎร์ธานี-พังงา-ภูเก็ต (กลุ่มที่ 2) ซึ่งทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จัดขึ้น มีหัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนจากหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน ภาคประชาชน ตลอดจนเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชนให้ความสนใจเข้าร่วมจำนวนมาก
นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (ผอ.สนข.) กล่าวว่า กระทรวงคมนาคม โดย สนข.ให้ความสำคัญกับกลุ่มจังหวัดภาคใต้ซึ่งเป็นกลุ่มจังหวัดที่มีศักยภาพในการพัฒนาในเรื่องของเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว จากการได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ ที่สามารถพัฒนาการเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย และอันดามัน โดยได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาเพื่อการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางทะเลระดับโลก และเป็นประตูเชื่อมโยงเศรษฐกิจของเอเชียใต้
ดังนั้น สนข.จึงได้ดำเนินการศึกษาเพื่อขยาย และเชื่อมโยงโครงข่ายทางรถไฟเพื่อการท่องเที่ยวระหว่างฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย บริเวณพื้นที่โครงการพัฒนาศูนย์กลางการคมนาคมและขนส่งภาคใต้ ฝั่งตะวันออก (อ.ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี) กับพื้นที่ฝั่งทะเลด้านอันดามัน โดยเชื่อมต่อเข้าระบบขนส่งมวลชนของจังหวัดภูเก็ต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยว และอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่ประชาชน และนักท่องเที่ยว การเสริมสร้างศักยภาพของโครงข่ายทางรถไฟสายใต้ในปัจจุบัน รวมทั้งการแก้ไขปัญหาการจราจร ซึ่งเป็นผลกระทบจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
นอกจากนี้ นายจุฬา ยังได้กล่าวถึงแนวทางการศึกษาฯ ในครั้งนี้ด้วยว่า ได้แบ่งการศึกษาออกเป็น 4 ส่วนได้แก่ ส่วนที่ 1 คือการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของทางรถไฟ (ทางคู่) สายใหม่ เพื่อการท่องเที่ยวเส้นทาง จ.สุราษฎร์ธานี (สถานีบ้านทุ่งโพธิ์)-พังงา -ภูเก็ต ส่วนที่ 2 คือ การศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นของทางรถไฟช่วง อ.ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี (เชื่อมต่อกับทางรถไฟสายใต้) ส่วนที่ 3 คือ การศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นของทางรถไฟเชื่อมโยงท่าอากาศยานนานาชาติกระบี่ และส่วนที่ 4 คือ การศึกษาความเหมาะสม ออกแบบและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ในเส้นทางท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง โดยการศึกษาฯ ทั้ง 4 ส่วน ดังกล่าวจะต้องดำเนินการครอบคลุมทั้งด้านวิศวกรรม ด้านเศรษฐกิจ และการลงทุน และด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม
ทั้งนี้ ภายหลังจากการประชุมใหญ่การมีส่วนร่วมของประชาชนฯ สนข.จะนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมประชุมใช้ประกอบการศึกษาพัฒนาโครงการดังกล่าว เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงต่อไป โดยคาดว่าเมื่อการดำเนินโครงการแล้วเสร็จจะสามารถส่งเสริมการท่องเที่ยว และเสริมสร้างศักยภาพด้านการแข่งขันของจังหวัดต่างๆ ในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอันดามัน และอ่าวไทย โดยการพัฒนาโครงการจะเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยในการเดินทางไปยังพื้นที่กลุ่มจังหวัดสามเหลี่ยมอันดามัน ได้แก่ ภูเก็ต พังงา และกระบี่ รวมทั้งสามารถแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดของ จ.ภูเก็ต ด้วยการสร้างทางเลือกในการเดินทางให้แก่ประชาชน และนักท่องเที่ยวด้วยระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ และมาตรฐาน สามารถบรรเทาปัญหาการคมนาคมขนส่งที่คับคั่งของจังหวัดต่างๆ ในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอันดามันในปัจจุบัน
โดยเฉพาะที่จังหวัดภูเก็ต และลดต้นทุนการขนส่งให้ถูกลงจากเดิมที่ใช้ทางรถยนต์เป็นหลัก และก่อให้เกิดผลดีในด้านเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่โครงการ รวมทั้งสามารถลดมลพิษที่เกิดจากการคมนาคมขนส่งในปัจจุบัน ซึ่งจากการส่งเสริมให้ยุทธศาสตร์เหล่านี้ได้รับการสนับสนุน และสามารถนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมนั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน