ทปอ.ออกแถลงการณ์เรียกร้อง รัฐบาลยุบสภา คืนอำนาจประชาชนเลือกตั้ง ส.ส.ชุดใหม่ พร้อมแนะให้มีการเจรจาระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมและรัฐบาลให้ได้ข้อยุติ ก่อนยุบสภาโดยหาคนกลางซึ่งเป็นที่ยอมรับมาร่วมในเจรจา เผยเตรียมนัดประชุมทั้ง 27 มหา’ลัย สมาชิกอีกครั้งวันที่ 2 ธ.ค.ดูท่าทีหลังออกแถลงการณ์
วันนี้ (28 พ.ย.) เมื่อเวลา 19.15 น. ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้มีการประชุมคณะทำงานติดตามและประเมินสถานการณ์ทางการเมืองของ ประเทศของ ทปอ. โดยมี ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว), ผศ.ชัยชาญ ถาวรเวช อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร (มศก.), ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) ,รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และดร.กีร์รัตน์ สงวนไทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เข้าร่วมการประชุม
ต่อมาเมื่อเวลา 21.15 น. ศ.ดร.สมคิด ได้แถลงข่าวภายหลังการประชุมนานกว่า 2 ชั่วโมง ว่า ที่ประชุม ทปอ. ได้ออกแถลงการณ์ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ฉบับที่ 2 มีเนื้อหาดังนี้ จากปรากฏการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งที่ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้มีแถลงการณ์ฉบับที่ 1 ขอให้รัฐบาลมีความจริงใจในการแก้ปัญหาของประเทศด้วยการควบคุมหน่วยงานของรัฐและกลไกอื่นของรัฐให้แก้ปัญหาอย่างสันติวิธี ไปแล้วนั้น
ทปอ.ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด และมีความกังวลต่อสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งยังคงมีการเคลื่อนไหวและการแสดงออกทางการเมืองอย่างต่อเนื่องและขยายพื้นที่ออกไปอย่างกว้างขวางทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด โดยยังไม่สามารถเห็นแนวโน้มที่จะทำให้เกิดความปรองดองขึ้นในสังคมได้ อันส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม การเมืองของประเทศอย่างรุนแรง
ทปอ.จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภาโดยเร็ว เพื่อคืนอำนาจให้กับประชาชนในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ เพื่อไม่ให้สถานการณ์บ้านเมืองเป็นไปในลักษณะเดิมภายหลังการเลือกตั้งซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาอย่างที่ผ่านมา จึงขอเสนอให้มีการเจรจาระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเพื่อให้มีข้อยุติเบื้องต้นก่อนที่จะมีการยุบสภา โดยมีบุคคลที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายเป็นคนกลางในการเจรจาในประเด็นต่างๆ ซึ่งรวมถึงประเด็นดังต่อไปนี้
1.การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ยังมีความเห็นต่าง เช่น ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา การจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศตามมาตรา 190 เป็นต้น
2.กฎหมายที่มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เช่น ร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ร่างกฎหมายให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศไทย (พระราชบัญญัติเงินกู้สองล้านล้านบาท) เป็นต้น
3.การตั้งคณะกรรมการที่เป็นกลางและมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อปฏิรูปประเทศไทย
ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม การเมืองที่มีคุณธรรมและการมีส่วนร่วมในระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
4.การรณรงค์ต่อสู้กับการทุจริตคอร์รัปชัน
5.การยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
6.การบริหารประเทศในระหว่างการยุบสภา
อนึ่ง เพื่อให้สถานการณ์ของประเทศคลี่คลายไปโดยเร็ว และก่อให้เกิดความสามัคคีร่วมกันในการปฏิรูปประเทศต่อไป ทปอ.จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลออกพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้ชุมนุมในปัจจุบันทุกฝ่ายด้วย
28 พฤศจิกายน 2556
ศ.ดร.สมคิด กล่าวด้วยว่า ในวันจันทร์ที่ 2 ธันวาคม เวลา 18.00 น.ได้นัดประชุม ทปอ. ซึ่งจะมีอธิการบดีมหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิก ทปอ.ทั้ง 27 แห่งเพื่อประเมินสถานการณ์หลังจากออกแถลงการณ์อีกครั้ง