xs
xsm
sm
md
lg

“ไอ้เต้น” กร่างตะเพิดอธิการบดี เมินข้อเสนอ ทปอ.ย้อนกลับรับใช้เผด็จการหรือไม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ (ภาพจากแฟ้ม)
แกนนำ นปช.ซัดข้อเสนอ ทปอ.6 ข้อ เสนอรัฐบาลยุบสภา คืนอำนาจเลือกตั้ง ส.ส.ชุดใหม่ อ้างไม่สอดคล้องสถานการณ์จริง ไม่ได้วิเคราะห์การชุมนุมที่เกินเลย ซัดร้องนิรโทษกรรม “เทือก” ช่วยเหลือกันหรือไม่ ทำกร่างเช็กบิลจุดยืนอธิการบดีใครรับใช้ฝ่ายตรงข้ามทักษิณ ป้ายสีเผด็จการ

วันนี้ (29 พ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 16.15 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ และแกนนำ นปช.กล่าวถึงข้อเสนอของที่ประชุมอธิการบดี (ทปอ.) ว่า ข้อเสนอทั้ง 6 ข้อของ ทปอ.เป็นประโยชน์ต่อการเมือง แต่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์จริง เพราะไม่มีการวิเคราะห์การชุมนุมที่เกินเลยกรอบของประชาธิปไตยที่อธิการบดีควรจะมีการถกเถียงให้ตกผลึกก่อนมีข้อเสนอต่อรัฐบาล เพราะ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำผู้ชุมนุม ประกาศทุกวัน ยุบสภาลาออกก็ไม่เอา ดังนั้น ทปอ.เข้าใจหรือไม่ ซึ่งควรอธิบายเรื่องนี้ต่อสังคม ส่วนการเรียกร้องให้รัฐบาลออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ผู้ชุมนุม ข้อเสนอนี้จึงเหมือนช่วยเหลือนายสุเทพ เพราะยังไม่มีการดำเนินกฎหมายกับผู้ชุมนุม ยกเว้นนายสุเทพ และแกนนำบางส่วน เป็นข้อเสนอที่ไกลเกินไป นอกจากนี้ อยากให้สำรวจจุดยืนทางการเมืองของ ทปอ.แต่ละคนด้วยที่ผ่านมามีบทบาทรับใช้เผด็จการหรือไม่

อย่างไรก็ตามตนไม่ประหลาดใจกับท่าทีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ประกาศนำ ส.ส.ต่อสู้เคียงข้างประชาชน แต่ไม่ลาออก สะท้อนว่าอะไรที่เป็นประโยชน์ก็ตักตวงทันที ตนอยากให้นายอภิสิทธิ์ ถอดหน้ากากแล้วพูดให้ชัดว่ารู้เห็นกับนายสุเทพหรือไม่ และการประกาศไม่รับตำแหน่งหากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนั้นตนอายแทน เพราะเท่ากับรับได้หากมีการทำลายประชาธิปไตย แต่จริงๆ ไม่ต้องอธิบาย เพราะคณะรัฐประหารคงไม่ให้ตำแหน่งใดๆ นายอภิสิทธิ์อยู่แล้ว แต่ขณะนี้อยากให้มีเรื่องเพื่อเปิดช่องให้เกิดการรัฐประหาร ส่วนการชุมนุมของคนเสื้อแดงยืนยันว่าจะอยู่ในที่ตั้ง

ก่อนหน้านี้ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้ทำหนังสือเวียนไปยังคณบดี รองคณบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่า ภายหลังการหารือของแกนนำ ทปอ.เกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบัน เห็นว่า การยุบสภาน่าจะเป็นทางออกเดียวของประเทศ ทั้งนี้ ได้แจ้งในหนังสือเวียนด้วยว่า ในวันที่ 5-10 ธ.ค.มีมติให้ปิดมหาวิทยาลัยทั้งประเทศ (ในวันที่ 5 และวันที่ 10 ตรงกับกับวันหยุดราชการ ขณะที่วันที่ 7 และวันที่ 8 ตรงกับวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เท่ากับว่าสั่งให้ปิดเพิ่ม 2 วัน ได้แก่ วันที่ 6 และวันที่ 9 ธ.ค.)

จากนั้นในวันจันทร์ที่ 2 ธ.ค.จะมีการประชุม ทปอ.ชุดใหญ่ โดยจะมีข้อเสนอเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา ตามแถลงการณ์ ทปอ.ฉบับที่ 2 ที่เรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภาโดยเร็ว เพื่อคืนอำนาจให้กับประชาชนในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ โดยเสนอให้มีการเจรจาระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เพื่อให้มีข้อยุติเบื้องต้นก่อนที่จะมีการยุบสภา ซึ่งมีบุคคลที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายเป็นคนกลางในการเจรจาในประเด็นต่างๆ รวมถึงประเด็นดังต่อไปนี้

1.การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ยังมีความเห็นต่าง เช่นที่มาของ ส.ว.การจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศตามมาตรา 190 เป็นต้น 2.กฎหมายที่มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เช่น ร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ร่างกฎหมายให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมฯ 3.ตั้งคณะกรรมการที่เป็นกลาง และมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อปฏิรูปประเทศไทย ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม การเมืองที่มีคุณธรรม และการมีส่วนร่วมในระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 4.การรณรงค์ต่อสู้กับการทุจริตคอร์รัปชัน 5.การยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และ 6. การบริหารประเทศในระหว่างการยุบสภา

ทั้งนี้ เพื่อให้สถานการณ์ของประเทศคลี่คลายไปโดยเร็ว และก่อให้เกิดความสามัคคีร่วมกันในการปฏิรูปประเทศต่อไป ทปอ.จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลออกพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้ชุมนุมในปัจจุบันทุกฝ่ายด้วย

หนังสือเวียนฉบับดังกล่าวยังระบุด้วยว่า ในวันอังคารที่ 3 ธ.ค. ทปอ.จะเข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อยื่นข้อเสนอจากการประชุม ทปอ.ชุดใหญ่แก่นายกรัฐมนตรีด้วย

สำหรับสมาชิกในเครือข่าย ทปอ.มีทั้งหมด 27 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยนครพนม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยต้องติดตามจากมติที่ประชุมใหญ่ ทปอ.ในวันที่ 2 ธันวาคมนี้ ว่าจะสั่งให้หยุดการเรียนการสอนทั้ง 27 มหาวิทยาลัยในเครือข่ายหรือไม่ หรือจะมีท่าที่อย่างไรต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น