xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” จ้อทีวีถกผู้นำอาเซียน ชูศูนย์กลางอาหาร คมนาคม จับตาไต่ฝุ่นนารีถล่มอีสาน-กลาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (แฟ้มภาพ)
“นายกฯยิ่งลักษณ์” จ้อผ่านเทปโทรทัศน์แจงร่วมประชุมผู้นำอาเซียน ชูความมั่นคงด้านอาหาร เป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งในภูมิภาค “วราเทพ” ย้ำรัฐบาลเดินหน้าปฏิรูปประเทศ คาดธันวาคมนี้ชัดเจน “ปลอดประสพ” ยันเอาอยู่ น้ำไม่ท่วมเหมือนปี 54 จับตาไต้ฝุ่นนารี ทำอีสาน ภาคกลางอ่วม 

รายการ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์ พบประชาชน” เช้าวันนี้ (12 ต.ค.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม จัดรายการผ่านเทปโทรทัศน์ ในโอกาสเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ที่เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 6-8 ต.ค. 2556 ที่ผ่านมา โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวแสดงความพอใจภาพรวมในการจัดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ซึ่งทุกประเทศเห็นชอบในความร่วมมือกัน 5 ด้าน ขณะที่ประเทศไทย ชูภาพความมั่นคงด้านอาหาร และเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งในภูมิภาค จากโครงการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานประเทศ และยังประกาศจะส่งเสริมด้านการค้าและการลงทุน ในการประชุมสุดยอด

ส่วนบทบาทของประเทศในฐานะที่เป็นผู้ประสานงานไทยกับจีนนั้น ในเรื่องของทะเลจีนใต้ ได้มีการหารือกันหลายครั้งแล้ว ซึ่งในครั้งนี้ก็ถือเป็นโอกาสที่ดี ที่อยากเห็นเสรีภาพในการเดินเรือร่วมกัน และยังถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในประเทศไทย ในการสร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศเพื่อนบ้านด้วย

ช่วงต่อมา นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ รมช. เกษตรและสหกรณ์ ได้รับเชิญเข้าพูดคุยในรายการ เกี่ยวกับความคืบหน้าการจัดเวทีปฏิรูปประเทศ ที่ผ่านมา

นายวราเทพ กล่าวว่า รัฐบาลจะนำความเห็นปฏิรูปฯทั้งหมด ตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย.ที่ผ่านมา มาสรุปความคิดเห็น และนำความเห็นในที่ประชุมแต่ละด้าน ไม่ว่าจะเป็น ด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ซึ่งแต่ละด้านมี 5-7 ประเด็น ทั้งเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ความเหลื่อมล้ำประชาชน รายได้ ขณะด้านการเมือง ก็มีความเห็นแต่ละด้าน เอาผลการศึกษามาทำให้ประเทศเดินหน้าไปได้ ทั้งนี้ จะมีการตั้งคณะการทำงานย่อยขึ้นมา รับผิดชอบข้อสรุปในแต่ละประเด็น

ด้านเศรษฐกิจ รัฐจะมีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และหน่วยงานอื่นๆ เข้ามาร่วม ความเห็นส่วนใดที่สามารถดำเนินการได้เลย ก็จะดำเนินการ ส่วนในระยะยาว หมายถึงด้านโครงสร้าง ที่ต้องมีการสรุปข้อมูลที่เสนอมาก่อนจากคณะกรรมการย่อยที่ตั้งขึ้น แล้วจึงจะสรุป และเสนอให้คณะกรรมการชุดใหญ่ ที่มีนายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา เป็นประธานการปฏิรูปฯได้ พิจารณา คาดจะชัดเจนได้ภายใน 3 เดือน หรือไม่เกินสิ้นเดือนธันวาคม ปีนี้

นายวราเทพ ยอมรับว่า เรื่องการเมือง มีความแตกต่างมากกว่า เรื่องอื่นด้านเศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งมีโอกาสติดขัด โดยเฉพาะกรณีนิรโทษกรรม ที่อาจจะมีการเสนอให้ ชะลอ พ.ร.บ.นิรโทษฯนี้ออกไปก่อน ทั้งรวมไปถึงการแก้ไข รธน.หรือ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ก็จะนำกลับไปให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พิจารณาในวันที่ 25 ต.ค.นี้ อีกครั้งว่า รัฐบาลจะเดินหน้าไปอย่างไร

สำหรับในระยะยาว ด้านการเมืองนั้น นายวราเทพ กล่าวว่า ทุกคนต้องเคารพในกติกา คณะทำงานย่อย จะต้องไปรวบรวมความเห็นจากทุกฝ่าย อย่างเช่นเรื่องเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ หรือเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษ

จากนั้น นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ร่วมรายการเพื่อชี้แจงถึงสถานการณ์อุทกภัย ว่า ในขณะนี้สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำแม่น้ำเจ้าพระยานั้น คงไม่มีปัญหา เนื่องจากการระบายน้ำจากพื้นที่ จ.นครสวรรค์ ลงมา เริ่มมีระดับน้ำที่ลดลง แต่ในส่วนของ กรุงเทพมหานคร จ.นนทบุรี และ จ.ปทุมธานี อาจจะต้องได้รับผลกระทบจากน้ำทะเลหนุนสูงในช่วง 1-2 วันนี้ ซึ่งอาจทำให้พื้นที่ราบ และไม่มีแนวกั้นเขื่อน อาจได้รับผลกระทบ ขณะที่สถานการณ์น้ำในส่วนภาคตะวันออก ขณะนี้ปริมาณน้ำฝนเริ่มลดลง และการระบายน้ำยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากมีการผันน้ำลงแม่น้ำบางปะกงได้ คงจะไม่มีปัญหา และเชื่อว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติได้ในเร็วๆ นี้ โดยรวมดีขึ้นมาก ขอให้พี่น้องชาว กทม.สบายใจได้ น้ำจะไม่ท่วม กทม.เหมือนปี 2554 แน่นอน ซึ่งในเรื่องดังกล่าว นายกรัฐมนตรี ได้มีความเป็นห่วง และให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ขณะที่ นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เลขาธิการสำนักงานนโยบาย และบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) กล่าวถึง “พายุไต้ฝุ่นนารี” ซึ่งเคลื่อนที่มาจากประเทศฟิลิปปินส์ จ่อขึ้นฝั่งที่ประเทศเวียดนาม ที่คาดการณ์ว่าจะเข้าสู่ประเทศไทยนั้น ขอยืนยันว่า สถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคเหนือ ไม่มีปัญหาแน่ เพราะเขื่อนใหญ่หลายเขื่อนยังมีปริมาณน้ำน้อย แต่กลับเป็นห่วงในพื้นที่ภาคอีสาน และภาคกลางมากกว่า ที่ยังมีน้ำท่วมใหญ่อยู่ แต่ยืนยันว่า จะไม่รุนแรงเหมือนในปี 2554 ขณะที่พื้นที่ จ.ปราจีนบุรี ต้องรอการระบายน้ำตามทุ่งต่อไปอีกระยะหนึ่ง ระดับน้ำก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ



กำลังโหลดความคิดเห็น