xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มต้านเหมืองโปแตชอุดรฯ จ่อฟ้อง สช.เอาผิด ม.157 ยื่นให้ศึกษาเอชไอเอนาน 3 ปียังเพิกเฉย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์อุดรธานีทำหนังสือถึง สช.เพื่อขอให้ทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ กรณีโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี ตามพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ล่วงเลยมา3ปีแล้วยังเพิกเฉย
ศูนย์ข่าวขอนแก่น - กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีสุดทนเตรียมฟ้องเอาผิด สช.ฐานละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ หลังร้องเรียนให้ศึกษาเอชไอเอเหมืองโปแตชมาเกือบ 3 ปีแล้วแต่กลับเพิกเฉย แย้มอาจต้องปลุกกระแสสังคมตรวจสอบองค์กรอิสระตระกูล ส.ทั้งหลาย ซึ่งหลายฝ่ายไม่กล้าตรวจสอบ เพราะกลัวจะไม่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนทำงาน

เวลา 09.00 น. วันนี้ (27 มี.ค.) ที่บ้านโนนสมบูรณ์ ต.ห้วยสามพาด อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี นางมณี บุญรอด กรรมการกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ที่คัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี เปิดเผยว่า กลุ่มได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ตอบรับถึงประธานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ติดตามความคืบหน้าหนังสือที่เคยส่งไปตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบันเกือบ 3 ปีแล้ว เพื่อขอให้ทางสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ กรณีโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 11 ซึ่งระบุว่า “บุคคลหรือคณะบุคคลมีสิทธิร้องขอให้มีการประเมินและมีสิทธิร่วมในกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพจากนโยบายสาธารณะ...” แต่ไม่ได้รับแจ้งหรือมีการประสานจาก สช.ว่าจะมีการดำเนินการอย่างไร

“กลุ่มขอเรียกร้องให้ สช.ดำเนินการตามหนังสือฉบับนี้ภายใน 30 วัน ซึ่งหลังจากนั้นหากยังไม่มีการดำเนินการ ทางกลุ่มจะได้ร้องเรียนเอาผิดต่อ สช. ทั้งทางปกครองและทางอาญา เพราะถือว่าจงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157”

นางมณีกล่าวว่า ตอนนี้บริษัท เอเชีย แปซิฟิคโปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้ทำรายงานการศึกษาผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ (อีเอชไอเอ) เสร็จแล้วตั้งแต่ปี 2555 และกำลังเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ซึ่งคาดว่าน่าจะผ่านรายงานในเร็วๆ นี้

อย่างไรก็ตาม กลุ่มได้ทำหนังสือคัดค้านการทำรายงานอีเอชไอเอของบริษัทมาโดยตลอด ขณะเดียวกันก็ร้องเรียนให้ สช.ทำรายงานผลกระทบด้านสุขภาพ (เอชไอเอ) เพื่อให้เห็นข้อมูลชุมชนเปรียบเทียบควบคู่กันไป จนกระทั่งวันนี้ สช.ก็ไม่ได้ดำเนินการอะไรเลย

นางมณีกล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2554 กลุ่มอนุรักษ์ได้ใช้สิทธิตามมาตรา 11 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 โดยการส่งหนังสือให้ สช.ดำเนินการศึกษาเอชไอเอโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี แต่ก็ไม่ได้รับการตอบกลับจาก สช. และเคยทำหนังสือทวงก่อนแล้วในปีเดียวกันก็เงียบไป ถึงวันนี้เกือบ 3 ปียังไม่มีการดำเนินการใดๆ ดังนั้นทางกลุ่มจึงทำหนังสือฉบับที่ 3 ติดตามทวงถามอีกครั้ง ซึ่งหากว่า สช.ยังเพิกเฉย จะฟ้องเอาผิด สช.ตามหนังสือที่ส่งไป

ด้านนายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่า สช.ควรทำงานตามหน้าที่ที่ชาวบ้านเขายื่นเรื่องเข้าไป เช่น ต้องตอบว่าเรื่องเหมืองแร่โปแตชเข้าข่ายมาตรา 11 ตาม พ.ร.บ.สุขภาพ พ.ศ. 2550 หรือไม่ และควรดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งการที่ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีมีมติจะฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อให้ สช.ศึกษาเอชไอเอ และจะไปแจ้งความตำรวจเอาผิดกรรมการ สช.ตามมาตรา 157 คิดว่าเป็นสิทธิของชาวบ้าน ตนเองในฐานะที่ปรึกษาจะคุยกับกลุ่มอีกครั้งว่าลองหาวิธีการอื่นก่อนได้หรือไม่ หรือไปชุมนุมหน้า สช.เพื่อกดดัน

“ถึงเวลาแล้วที่เราต้องมาตรวจสอบองค์อิสระตระกูล ส. ซึ่งหลายคนไม่กล้าตรวจสอบเพราะกลัวว่าจะไม่ได้เงินทุนทำงาน ส่วนที่ชาวบ้านทวงถามเป็นเรื่องที่ดี จะได้ช่วยกันผลักดันให้ สช.ทำงาน เพราะปัจจุบันหน่วยงานนี้รักษาภาพลักษณ์องค์กรจนไม่กล้าที่จะทำอะไรตามความถูกต้องตามมโนธรรมสำนึก และต้องถามว่าที่ผ่านมา คสช.เคยมีมติอะไรบ้างที่ตรวจสอบถ่วงดุลโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ต่างๆ”



กำลังโหลดความคิดเห็น