ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ต้วแทนคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ หรือ สช. ลงพื้นที่โครงการเหมืองโปแตซ หารือกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี หลังชาวบ้านยื่นหนังสือขอให้ช่วยศึกษา HIA ตั้งแต่ปี 2554 เบื้องต้นยอมรับข้อเสนอ
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 13 พ.ค. เวลา 14.00 น. ที่วัดอรุณธรรมรังษี บ้านโนนสมบูรณ์ ต.ห้วยสามพาด อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) นำโดยนายแพทย์ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และนายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนปฏิบัติการพื้นที่ ลงพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี เพื่อพูดคุยหารือกับกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กรณีที่กลุ่มชาวบ้านทำหนังสือร้องเรียนให้ทาง สช.ศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) โครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี ตามมาตรา 11 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550
ทั้งนี้ กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีได้เคยมีหนังสือถึงประธานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2554 เพื่อขอความอนุเคราะห์ให้ สช.ลงมาดำเนินการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) ในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตช เพื่อให้เกิดข้อมูลเปรียบเทียบกับการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของบริษัท เอเชีย แปซิฟิคโปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (เอพีพีซี) ซึ่งได้ว่าจ้างให้บริษัทที่ปรึกษาทำการศึกษา EHIA อยู่ในขณะนั้น
นางมณี บุญรอด กรรมการกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2554 กลุ่มได้ทำหนังสือไปแต่ก็ไม่ได้รับคำตอบจาก สช. และถึงแม้ว่าที่ผ่านมาได้มีคณะมาทำการศึกษาวิจัยก็เป็นเพียงข้อมูลทางวิชาการ แต่ยังไม่สามารถนำไปอ้างอิงตามกระบวนการที่เป็นทางการได้
ดังนั้นกลุ่มอนุรักษ์ยังคงยืนยันที่จะให้ทาง สช.ดำเนินการตามข้อเรียกร้อง คือให้ศึกษาผลกระทบทางสุขภาพโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ตามกลไกของมาตรา 11 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ซึ่งมาถึงวันนี้เป็นเวลา 3 ปี รายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอของบริษัทได้ผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว จึงอยากทราบว่าทาง สช.มีแนวทางอย่างไรที่จะช่วยเหลือชาวบ้านได้บ้าง
ด้านนายแพทย์ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า เนื่องจากหน่วยงาน สช.เป็นช่องทางที่ให้ชาวบ้านเข้าไปใช้สิทธิในการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพ โดยผ่านกลไกตามมาตรา 11 ซึ่งหากดูตามกฎหมาย พ.ร.บ.สุขภาพนี้ คงไม่ถึงขนาดจะเข้าไปหยุดยั้งโครงการได้ แต่ สช.ก็มีความจริงใจที่จะช่วยเหลือชาวบ้านแน่นอน
ซึ่ง สช.รับข้อเสนอของชาวบ้าน คือ ประการแรกจะทำหนังสือขอ EIA ที่ผ่านความเห็นชอบแล้วมาดู ประการที่สองเรื่องงานวิชาการที่ว่านี้ซึ่งตนคิดว่าอยู่ในวิสัยที่ สช.สามารถทำได้ แต่จะมีแนวทางอย่างไร หรือดำเนินการอะไรได้บ้าง สช.จะแจ้งผลให้ทราบภายใน 1 สัปดาห์เพื่อแสดงความจริงใจ