พิจิตร - กมธ.การเกษตร ยกคณะลุยพิจิตร ตามรอยข้าวเขมรสวมสิทธิจำนำ พบขนกันเป็นล่ำเป็นสันด้วยคาราวานสิบล้อ คนระดับอธิบดี พณ.เซ็นเอกสารล่วงหน้าให้ 10 ใบ แจ้งนำปลายข้าวเสียภาษี กก.ละบาท แต่ขนข้าวเกรดต่ำผสม ส่งพัก “โรงสีตะพานหิน” ก่อนแยกใส่กระสอบส่งสวมสิทธิ กำไรไม่ต่ำเที่ยวละ 2 แสน จ่ายส่วยตลอดทาง ทั้งภูธร-ทางหลวง
พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา และคณะ ลงพื้นที่ประชุมร่วมกับนายสุรชัย ขันอาสา ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร และคณะกรรมการนโยบายข้าวระดับจังหวัด (กขจ.) เช่น นายมงคล สุกใส ปลัดจังหวัดพิจิตร นายบรรจง ตั้งจิตวัฒนากูล หรือเฮียเซียะ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพิจิตร ผู้รับซื้อและส่งออกข้าวรายใหญ่ของพิจิตร นางมิ่งขวัญ พุกเปี่ยม หรือเจ๊หนิง ประธานชมรมโรงสีข้าวจังหวัดพิจิตร นายขวัญชัย เกิดขันหมาก ผู้อำนวยการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พิจิตร นายไพฑูรย์ รื่นสุข เกษตรจังหวัดพิจิตร นายไพบูลย์ ขันธบุญ การค้าภายในจังหวัดพิจิตร และตัวแทนเกษตรกรอีกหลายองค์กร
พล.ต.ท.ยุทธนา กล่าวว่า เหตุที่ต้องลงพื้นที่ จ.พิจิตร เนื่องจากพบว่าฤดูจำนำข้าวปีที่ผ่านมา มีโรงสีใน อ.ตะพานหิน นำเข้าปลายข้าวจากเขมรเสียภาษีศุลกากรเพียงแค่กิโลกรัมละ 1 บาท บรรทุกรถ 10 ล้อ เข้ามาถึง 40,000 ตัน แต่ข้าวที่นำเข้ามากลับเป็นข้าวสารผสมปลายข้าว จากนั้นนำมาเข้าขบวนการคัดแยกปลายข้าวกับข้าวสาร 5% ซึ่งสันนิษฐานว่านำไปเวียนเทียนสวมสิทธิในโครงการรับจำนำข้าวฤดูที่ผ่านมา
“ขณะนี้กำลังรวบรวมหลักฐานเพื่อดำเนินคดี ซึ่งมีข้าราชการระดับอธิบดีของกระทรวงพาณิชย์เกี่ยวข้องด้วย”
พล.ต.ท.ยุทธนา กล่าวว่า กรรมวิธีที่แยบยลนี้เป็นความร่วมมือของอธิบดีคนหนึ่งที่เซ็นใบอนุญาตให้พ่อค้าข้าวไว้ล่วงหน้าถึง 10 ใบ จากนั้นก็ใช้กองทัพรถ 10 ล้อ บรรทุกปลายข้าวผสมกับข้าวสารคุณภาพต่ำมาส่งที่โรงสีในเขต อ.ตะพานหิน ทำให้โรงสีแห่งนี้เหมือนกับเป็นที่พักของเถื่อน
จากนั้นก็เข้าขบวนการแยกข้าวใส่กระสอบ ส่งไปให้แก่โรงสีต่างๆ ที่อาจซื้อใบประทวนของชาวนา หรือเพิ่มปริมาณผลผลิตของชาวนาที่แจ้งไว้เป็นเท็จ จากนั้นก็เอาข้าวจากเขมรที่ซื้อมาเพียงแค่ตันละไม่กี่พันบาท ไปส่งมอบเข้าคลังสินค้าได้มูลค่าตันละเกือบ 2 หมื่นบาท
“กว่าจะนำข้าวจากเขมรมาถึง จ.พิจิตรได้ ต้องผ่านด่านตำรวจภูธร ผ่านด่านตำรวจทางหลวง แต่ก็ผ่านมาได้ด้วยการจ่ายเบี้ยใบ้รายทาง เพราะข้าวเหล่านี้สามารถสร้างกำไรได้ถึงคันละ 2 แสนบาท ทำให้รัฐบาลได้ข้าวสารด้อยคุณภาพ ขาดทุนเห็นๆ กว่า 10 เท่า ที่สำคัญคณะกรรมการข้าวระดับจังหวัดของพิจิต จะมาอ้างไม่รู้ไม่เห็น หรือไม่ทราบคงเป็นไปไม่ได้ แต่เบื้องต้นยังอยู่ในระหว่างสอบสวน จึงไม่สามารถเปิดเผยต่อสาธารณชนไปได้มากกว่านี้”
พล.ต.ท.ยุทธนา กล่าวว่า การมาตรวจราชการที่พิจิตรครั้งนี้เพื่อจะให้ นายสุรชัย ขันอาสา ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ที่เพิ่งย้ายมารับตำแหน่งได้ไม่นาน และไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ทำการสืบสวนต่อไป และเร่งป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอยขึ้นอีก ที่สำคัญจะต้องนำคนผิดมาลงโทษให้ได้ เพราะถือเป็นการทำลายความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศชาติ ทำให้ชาวนาเดือดร้อนจนเป็นเหตุวุ่นวายอยู่ในขณะนี้
ด้านนายมงคล สุกใส ปลัดจังหวัดพิจิตร ได้รายงานต่อ กมธ.ว่า ผลการดำเนินงานโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 54/55 นั้น ได้แปรรูปข้าวเปลือกเป็นข้าวสารเก็บไว้ในคลังสินค้ากลาง 10 หลัง โดยปี 54/55 มีข้าวสารขาว 5% จำนวน 388,947 กระสอบ ปลายข้าวขาวเอราวัณเลิศ 12,703 กระสอบ ข้าวขาวหอมจังหวัด 44.040 กระสอบ ข้าวขาวหอมมะลิ 100% จำนวน 645,998 กระสอบ ข้าวเหนียว (ยาว) 139,790 กระสอบ และข้าวเหนียว (สั้น) 10,570 กระสอบ
ปี 2555 ซึ่งเป็นโครงการข้าวเปลือกนาปรังแปรรูปเป็นข้าวสารเก็บไว้ในคลังสินค้ากลาง 21 หลัง เป็นข้าวขาว 5% จำนวน 1,089,625 กระสอบ และปลายข้าวขาวเอราวัณเลิศ 466,553 กระสอบ
ปี 55/56 ซึ่งเป็นโครงการข้าวนาปีแปรรูปเป็นข้าวสารเก็บไว้ในคลังสินค้ากลาง 28 หลัง และ ไซโล 2 ลูก เป็นข้าวขาว 5% จำนวน 1,892,585 กระสอบ ปลายข้าวขาวเอราวัณเลิศ 494,669 กระสอบ ข้าวขาวหอมจังหวัด 493,165 กระสอบ ข้าวท่อนหอมจังหวัด 18,959 กระสอบ ข้าวหอมมะลิ 100% จำนวน 213,494 กระสอบ ข้าวเหนียว 343,634 กระสอบ ข้าวท่อนหอมมะลิ 19,800 กระสอบ ข้าวหอมมะลิ 17,204 กระสอบ และปลายข้าวเหนียว 35,888 กระสอบ
ปี 56/57 ณ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แปรรูปข้าวเปลือกเป็นข้าวสารเก็บไว้ในคลังสินค้ากลาง 24 หลัง และไซโล 19 ลูก เป็นข้าวขาว 5% จำนวน 540,962 กระสอบ ข้าวขาวหอมจังหวัด 26,222 กระสอบ ข้าวหอมมะลิ 100% จำนวน 273,199 กระสอบ และข้าวเหนียว 75,861 กระสอบ
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลดังกล่าว กมธ.ตั้งข้อสังเกตว่า ปริมาณข้าวของ จ.พิจิตร โดยรวมแล้วมีมากมายมหาศาลเพิ่มขึ้นทุกปี ทั้งที่พื้นทำนามีเท่าเดิม แต่เมื่อรวมจำนวนข้าวทุกชนิดที่อยู่ในคลังสินค้าจะเห็นได้ว่า มีข้าวเก็บไว้มากถึง 7,542,868 กระสอบ
ส่วนข้าวเหนียวใน จ.พิจิตร ไม่มีพื้นที่ปลูก แต่เป็นข้าวที่นำมาจากภาคอีสานมาเช่าเก็บในโกดังข้าวที่ จ.พิจิตร เช่น ไซโล บริษัท เคทีบี อะโกร จำกัด อ.บางมูลนาก รับฝากข้าวไว้มากถึง 20 ไซโล ไซโลละ 12,00 ตัน นอกนั้นเป็นคลังสินค้าของผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่ง กมธ.จะได้ลงในรายละเอียดเพื่อตรวจสอบต่อไป
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมได้เสนอแนวคิดการแก้ปัญหาจำนำข้าวของรัฐบาลว่า ควรจะหาเงินมาจ่ายให้แก่ชาวนาพิจิตรที่รอรับเงินอยู่อีก 43,000 ราย วงเงิน 7,000 ล้านบาท ด้วยการเปิดประมูลขาย หรือเสนอซื้อข้าวสารในโกดังของจังหวัด แล้วนำเงินที่ได้มาจ่ายให้แก่ชาวนาพิจิตรเท่านั้น
นายบรรจง ตั้งจิตวัฒนากูล ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพิจิตร ผู้รับซื้อ และส่งออกข้าวรายใหญ่ของพิจิตร กล่าวว่า ตนและผู้ประกอบการโรงสีที่เป็นสมาชิกชมรมโรงสีข้าวพิจิตรกว่า 30 โรง พร้อมที่จะร่วมประมูล หรือเสนอซื้อ เนื่องจากยังมีวงเงินกู้กับสถาบันการเงินที่ยังพอนำเงินออกมาช่วยซื้อข้าวสารได้อีกเป็นจำนวนมาก เพราะที่ผ่านมา โรงสีไม่ได้ใช้เงินหมุนเวียนเลย ได้แต่เป็นผู้รับจ้างรับจำนำข้าวให้แก่รัฐบาล แต่ถ้าให้ดำเนินการซื้อข้าวก็จะต้องใช้วิธีจ่ายเงินภายใน 40 วัน แต่ออกของช้า โดยจ่ายเงินให้ชาวนาไปก่อน
ซึ่งขณะนี้จะมี จ.ราชบุรี เป็นโมเดลในการทดลองประมูลขายข้าวภายในจังหวัดเพื่อนำเงินมาให้ชาวนาภายในจังหวัดที่มีคลังสินค้าเก็บข้าวสารตั้งอยู่ ส่วนจะเฉลี่ยไปยังจังหวัดอื่นด้วยหรือไม่ ต้องไปลงในรายละเอียดกันอีกครั้ง
นายบรรจง กล่าวว่า หลังจากสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้คงไม่มีโครงการรับจำนำข้าว คาดว่าราคาข้าวเปลือกคงจะอยู่ที่ตันละ 6-7 พันบาท ชาวนาจะอยู่ได้ต้องทำแต่ข้าวนาปี ปลูกข้าวพันธุ์ดี ลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำที่สุด จึงจะไปรอด เพราะขณะนี้ราคาข้าวเปลือกของประเทศเพื่อนบ้านก็อยู่ใกล้เคียงกับราคานี้อยู่
ดังนั้น ถ้าประมูลหรือเสนอซื้อข้าวสารในคลังสินค้าที่เก็บข้าวสารอยู่นี้ ก็คงเสนอขอซื้อสู้ราคาข้าวสารได้เพียงตันละ 14,000-15,000 บาเท่านั้น ซึ่งข้าวเปลือก 1 ตันที่รัฐบาลรับจำนำตันละ 15,000 บาท เมื่อนำไปสีเป็นข้าวสารจะได้เพียง 650 กิโลกรัม