ศูนย์ข่าวศรีราชา - นักผสมพันธุ์บัวฝรั่งรางวัลระดับโลก พร้อมเปิดทางภาคธุรกิจ และเอกชนที่สนใจร่วมขยายพันธุ์บัวลูกผสม เปิดตลาดทั้งใน และต่างประเทศเต็มตัว รองรับความต้องการบัวตกแต่งที่กำลังเติบโตในหลายประเทศทั่วโลก หลังสร้างผลงานและชื่อเสียงจากการประกวดมาแล้ว
วันนี้ (29 ม.ค.) ดร.ณ.นพชัย ชาญศิลป์ หัวหน้าสถานีวิจัยบัวและถ่ายทอดเทคโนโลยี คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก จ.ชลบุรี ผู้คิดค้น และผสมพันธุ์บัวฝรั่ง ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจของกลุ่มนักเล่นบัวทั่วโลก โดยเฉพาะ “บัวยักษ์ออสเตรเลีย” ที่เพิ่งได้รับรางวัลชนะเลิศ จากการประกวดที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เปิดเผยถึงการพัฒนาสายพันธุ์บัวของไทยในปัจจุบันว่า จัดอยู่ในระดับที่ดีที่สุดในโลก โดยเฉพาะกลุ่มบัวประดับ หรือบัวสาย ซึ่งเกษตรกรไทยมีจุดแข็งที่การเป็นคนช่างสังเกต และมีความประณีต จึงสามารถขยายพันธุ์บัวได้ตรงตามความต้องการของตลาด ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งในอนาคตจีน กำลังจะกลายเป็นตลาดส่งออกใหญ่ของไทย
โดยบัวที่กำลังอยู่ในความสนใจของคนทั่วโลกในขณะนี้ คือ บัวที่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์ โดยเฉพาะบัวที่มีขนาดเล็ก เช่น บัวแคระ และบัวจิ๋ว ที่จะเปิดโอกาสให้ผู้อาศัยในคอนโดมิเนียม ทาวน์เฮาส์ หรือบ้านขนาดเล็ก ได้เลี้ยงเพื่อชื่นชมดอก ส่วนบัวยักษ์ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นบัวขนาดใหญ่ ยังคงได้รับความนิยมในกลุ่มลูกค้าที่ต้องการใช้เพื่อตกแต่งสวนสาธารณะ และสวนขนาดใหญ่
ดร.ณ.นพชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาสถานีฯ สามารถผลิตบัวลูกผสมซึ่งเกิดจากพ่อ และแม่พันธุ์จากต่างประเทศ จนสามารถส่งเข้าแข่งขันในระดับโลก และได้รับรางวัลมาแล้วกว่า 10 รางวัล เช่น บัวมังคลอุบล เยาวลักษณ์ ชาญวิทย์ วันวิสา ตะวันออก จุฬารัตน์ ดวงตาสวรรค์ และในอนาคตจะเริ่มนำบัวสายพันธุ์จิ๋ว และบัวที่มีกลีบเยอะป้อนเข้าสู่ตลาดเพื่อรองรับตลาดไม้ตัดที่จะใช้บัวหลากสี ที่มีความแข็งแรง เป็นไม้สำหรับตกแต่งเข้าช่อ
แต่ปัญหา คือ สถานีวิจัยมีเพียงบุคลากรในเชิงพัฒนา แต่ในเชิงขยายพันธุ์เพื่อการค้ายังขาดแคลน จึงมีแนวคิดที่จะหาเครือข่ายเพื่อรับบัวที่ผสมได้ไปขยายพันธุ์ต่อยอดการค้า ซึ่งอาจเป็นไปในลักษณะแฟรนไชส์ เนื่องจากในอดีตเมื่อผสมบัวออกมาได้ก็จะส่งต่อพันธุ์ให้เกษตรนำไปขยาย ซึ่งช่วงแรกถือเป็นเรื่องที่ดีต่อประเทศที่ได้มีพันธุ์บัวใหม่ๆ สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร และประเทศชาติ แต่ในระยะยาวคนที่เป็นผู้คิดสูตรผสมต้องประสบปัญหาด้านเงินทุน จึงต้องมองหาภาคเอกชนที่สนใจดำเนินธุรกิจร่วมกัน และพร้อมจ่ายค่าลอยัลตี หรือค่าแบรนด์สินค้า เพื่อแบ่งเปอร์เซ็นต์ และแบ่งงานระหว่างคนขาย และคนคิดพันธุ์ เพื่อเปิดเป็นธุรกิจที่ถาวร
หากได้ผู้ร่วมธุรกิจแล้วก็พร้อมที่จะเปิดสอนในสูตรการผสมพันธุ์ รวมถึงเทคนิคการกำหนดหน้าตาบัว เพื่อให้ตรงต่อความต้องการของตลาด ซึ่งถือเป็นสูตรการสอนที่ลึกซึ้งกว่าการสอนเพียงเทคนิคที่ทำอยู่ในปัจจุบัน
ทั้งนี้ สถานีวิจัยบัวและถ่ายทอดเทคโนโลยี ก่อตั้งขึ้นภายใต้จุดประสงค์เพื่อพัฒนาสายพันธุ์บัวของไทยให้มีความแปลกใหม่ และสามารถส่งขายแข่งกับต่างประเทศ ซึ่งสายพันธุ์บัวที่ผลิตได้ใหม่จากสถานีวิจัยแห่งนี้ ยังไม่มีการเปิดตัวออกสู่ตลาด หรือผลิตออกขายในเชิงธุรกิจอย่างเป็นทางการ เพราะเหตุผลที่กล่าวในเบื้องต้น จะมีเฉพาะบางสายพันธุ์เท่านั้นที่สถานีมอบให้แก่เกษตรกรเพื่อนำไปขยายพันธุ์ต่อยอดทางธุรกิจสร้างรายได้เลี้ยงตัวเอง
โดยบัวสายพันธุ์แรกที่เกิดจากการผสมระหว่างสายพันธุ์ต่างประเทศ คือ บัวมังคลอุบล หรือบัวสีเหลืองอมส้ม ที่ขณะนี้ขายดี และได้รับความสนใจมากที่สุดในโลก