เลย - เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวงจับมือศูนย์วิจัยช้างป่าภูหลวง วางมาตรการล้อมคอกป้องกันช้างป่าภูหลวงตกเหวตาย เหตุช้างป่ามักใช้เส้นทางหากินเส้นเดิม หวั่นโขลงเก่าหวนกลับมาใช้เส้นทางริมน้ำตกอีก เบื้องต้นทำแนวกั้นให้เปลี่ยนไปใช้เส้นทางเหนือน้ำตกแล้ว
วันนี้ (1 ต.ค.) ที่ทำการหน่วยพิทักษ์ป่าน้ำทบ บ้านน้ำทบ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย นายชัยณรงค์ ดูดดื่ม หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง และนายจิรชัย อาคะจักร หัวหน้าสถานีวิจัยช้างป่าภูหลวง พร้อมเจ้าหน้าที่ร่วมหารือเตรียมการป้องกันช้างป่าพลัดตกจากน้ำตกตาดหลุ โดยระดมเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนเฝ้าระวังบริเวณน้ำตก เพราะคาดจะมีพายุเข้าอีก 2-3 วันนี้ เกรงว่าช้างป่าอาจกลับมาใช้เส้นทางเดิม และตกเหวซ้ำ
นายชัยณรงค์กล่าวว่า หลังจากลูกช้างพลัดตกน้ำตกตายไปแล้ว 2 ตัวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางเขตได้ร่วมกับชาวบ้านจัดพิธีทางศาสนาเผาซากช้างไปแล้ว ขณะนี้ได้ร่วมกับหัวหน้าศูนย์วิจัยช้างป่าภูหลวงหามาตรการป้องกันช้างพลัดตกน้ำตก โดยระดมเจ้าหน้าที่เร่งสำรวจเส้นทางหากินของช้างแต่ละโขลงที่จะเคลื่อนผ่านมาทางบริเวณน้ำตกตาดหลุเพื่อทำแนวกีดขวางทางเดินของช้างที่จะเดินผ่านน้ำตก พร้อมให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตลอดช่วงฤดูฝน
ด้านนายจิรชัย อาคะจักร หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าภูหลวง กล่าวว่า ขณะนี้ได้สำรวจประชากรช้างในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง พบว่ามีทั้งหมด 105 ตัว เป็นช้างพลาย 25 ตัว ช้างพัง 85 ตัว และลูกช้างอายุต่ำกว่า 7 ปีประมาณ 20 ตัว ซึ่งในกลุ่มลูกช้างและช้างเด็กมีความเสี่ยงต่อการพลัดตกเหวหรือน้ำตกมากเพราะความซน และไม่มีประสบการณ์การเดินทาง
สถานีวิจัยสัตว์ป่าภูหลวงเฝ้าดูช้างโขลงนี้ว่าจะเคลื่อนที่ไปในทิศทางใด และจะมีแนวทางย้อนกลับมาทิศทางเดิมอีก หรือจะข้ามน้ำตกตาดหลุอีกครั้งหรือไม่ เพราะหากลูกช้างเดินมาทางนี้มีโอกาสสูงมากที่ลูกช้างจะตกเหวอีกครั้ง ซึ่งในทางวิชาการโขลงช้างชอบหากินในทิศทางเดิมเหมือนกับถูกถ่ายทอดมารุ่นต่อรุ่นถึง 50-60 ปี ซึ่งขณะนี้ได้พยายามปรับเปลี่ยนเส้นทางช้าง โดยสร้างแนวกีดขวางไม่ให้ใช้เส้นทางเดิม และเปลี่ยนไปสร้างทางให้ใหม่บริเวณตอนเหนือของเหนือน้ำตก