xs
xsm
sm
md
lg

รับรองพันธุ์ข้าวใหม่4สายพันธุ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

‏วานนี้ (9 ส.ค.56) ที่อาคารสำนักงานกรมการข้าว นายชัยฤทธิ์ ดำรงเกียรติ อธิบดีกรมการข้าว แถลงข่าวภายหลังจากที่คณะกรรมการพิจารณาพันธุ์ข้าว ครั้งที่ 2/2556 มีมติให้รับรองพันธุ์ข้าวใหม่ จำนวน 4 พันธุ์ ประกอบด้วย
1.กข 18 หรือข้าวเหนียวสายพันธุ์ RGDU04285-3-3 ได้จากการผสมพันธุ์ระหว่างข้าวเหนียวพันธุ์ กข 6 ซึ่งมีคุณภาพการหุงต้มและรับประทานดีเป็นพันธุ์แม่ และข้าวพันธุ์เจ้าหอมนิลซึ่งมียีนต้านทานโรคไหม้เป็นพันธุ์พ่อที่หน่วยปฎิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์ยีนข้าว (Rice Gene Discovery Unit ; RGDU)ในปี 2548 เพื่อนำคุณลักษณะดีของทั้งสองพันธุ์มารวมไว้ในข้าวพันธุ์ใหม่ เป็นข้าวเหนียวไวต่อช่วงแสง มีความต้านทางโรคไหม้ในระยะกล้าในพื้นที่ส่วนใหญ่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตอนบน มีคุณภาพเมล็ดทางกายภาพและการสีดี การหุงต้มและรับประทานดีใกล้เคียงกับพันธุ์ กข 6 เมื่อนึ่งสุกเนื้อสัมผัสนุ่ม มีกลิ่นหอม ให้ผลผลิตมีเฉลี่ย 609 กก./ไร่ เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่นาน้ำฝนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือตอนบนที่มีการระบาดของโรคไหม้ แต่มีความอ่อนแอต่อโรคไหม้คอรวง ขอบใบแห้ง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยกระโดดหลังขาว และแมลงบั่วเช่นเดียวกับพันธุ์ กข 6
2.กข 53 หรือข้าวเจ้าสายพันธุ์ PRE01017-10-1-1-1 ได้จากการผสมเดี่ยว (Single cross) ระหว่างสายพันธุ์ PRE92039-3-1-2-1 กับสายพันธุ์ SPTLR82022-PRE-26-3-2-GM-6 ที่ศูนย์วิจัยข้าวแพร่ ปี 2545 เป็นข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง มีลักษณะเด่นคือต้านทานแมลงบั่วในเขตภาคเหนือตอนบน มีศักยภาพผลผลิตสูงถึง 999 กก./ไร่ เฉลี่ย 725 กก./ไร่ สูงกว่าพันธุ์ปทุมธานี 1 และพิษณุโลก 2 ที่ให้ผลผลิต 706 และ 698 กก./ไร่ตามลำดับ อีกทั้งยังเป็นข้าวอมิโลสต่ำ คุณภาพการหุงต้มและรับประทานอ่อนนุ่ม เป็นที่นิยมของประชาชนที่บริโภคข้าวเจ้าในภาคเหนือ เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่นาชลประทานเขตภาคเหนือตอนบน สามารถปลูกได้ทั้งฤดูนาปีและฤดูนาปรัง แต่มีข้อจำกัดที่อ่อนแอต่อโรคไหม้ โรคขอบใบแห้ง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และเพลี้ยกระโดดหลังขาว เมล็ดร่วงงานจึงควรเก็บเกี่ยวที่ระยะพลับพลึง
3.กข 55 หรือข้าวเจ้าสายพันธุ์ PTL00042-B-B-18-2-1-1-2 ได้จากการผสมแบบ 3 ทางระหว่าง กข 23 , เล็บนกปัตตานี และชัยนาท1 ที่ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุงในปี 2543 ซึ่งเป็นการปรับปรุงพันธุ์ข้าวไม่ไวต่อช่วงแสงให้ได้ผลผลิตสูงเฉลี่ย 531 กก./ไร่ สูงกว่าพันธุ์ชัยนาท1 (วิธีปักดำ) 15% และให้ผลผลิตเฉลี่ย 712 กก./ไร่ สูงกว่าพันธุ์ชัยนาท1 (วิธีหว่านน้ำตม) 13% มีความต้านทานต่อโรคไหม้และโรคขอบใบแห้ง เหมาะสำหรับบริโภคในท้องถิ่นภาคใต้ และปลูกในเขตนาชลประทานพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังและลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา ควรหลีกเลี่ยงปลูกในพื้นที่ที่มีการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
4.กขผ 3 หรือข้าวเจ้าลูกผสมสายพันธุ์ PTT06008H ได้จากการผสมระบบ 3 สายพันธุ์ คือ IR 79156A , IR79156B และ JN29-PTT11-1-B-12-5-5-1R ปลูกศึกษาสมรรถนะการผสมและความดีเด่นของลูกผสม และผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวลูกผสมเพื่อใช้เปรียบเทียบผลผลิตข้าวลูกผสมภายในสถานีวิจัยข้าวปทุมธานีในฤดูนาปี 2549 และฤดูนาปรัง 2550 เป็นข้าวเจ้าไม่ไวต่อแสง ลักษณะเด่นคือให้ผลผลิตสูง(ศักยภาพการให้ผลผลิตสูงถึง 1,415 กก.ไร่) ในพื้นที่ภาคกลางให้ผลผลิต 1,046 กก./ไร่ สูงกว่าพันธุ์ กขผ1 (986 กก./ไร่) 6% และ กข31 (893 กก./ไร่) 25% ปลูกในภาคเหนือตอนบนให้ผลผลิต 1,153 กก./ไร่ ซึ่งให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์ข้าว กขผ1 (1,074 กก./ไร่) 7% และ กข31 (1,033 กก./ไร่) 12% มีความต้านทานโรคไหม้และเพลี้ยกระโดดหลังขาว ผลิตเมล็ดพันธุ์ง่าย เหมาะสำหรับปลูกในเขตนาชลประทานภาคกลาง แต่ต้องระมัดระวังต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและโรคขอบใบแห้งโดยข้าวทั้งน่าจะกระจายให้กับเกษตรกรได้ในฤดูกาลต่อไปและคาดว่าจะสามารถกระจายได้ทั่วระเทศภายใน 3 ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น