ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ชาวนาโคราชแห้วยังไม่ได้รับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2556/57 จากรัฐบาลอื้อกว่า 6 หมื่นราย ปริมาณข้าวเปลือกกว่า 2 แสนตัน เผยล่าสุดจ่ายแค่ 1 พันราย เป็นเงิน 85 ล้าน ผู้ตรวจฯ กำชับเร่งออกใบประทวนให้เกษตรกรหลังพบล่าช้าและมีใบประทวนค้างเพียบ
วันนี้ (18 ธ.ค.) ที่ห้องประชุมหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายจิรายุ นันท์ธราธร ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีเขตที่ 14 เดินทางมาตรวจติดตามงานตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลด้านการจำนำสินค้าเกษตร ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2556/57 และติดตามการดำเนินแผนงานโครงการที่ได้รับอนุมัติงบประมาณในการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา
โดยมีนายชยาวุธ จันทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา รองประธานคณะอนุกรรมการติดตามกำกับดูแลการรับจำนำระดับจังหวัด พร้อมคณะอนุกรรมการซึ่งประกอบด้วย เกษตรจังหวัด, ผู้อำนวยการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) หัวหน้าสำนักงานการค้าภายในจังหวัด รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา ให้การต้อนรับและรายงานสรุปผลการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2556/57
สำหรับ จ.นคราชสีมา มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวปีการผลิต 2556/57 ตามใบรับรองเกษตรกร จำนวน 3.6 ล้านไร่ รวม 390,069 แปลง 178,365 ครัวเรือน คิดเป็นผลผลิตข้าวเปลือกจำนวน 1,314,394 ตัน มีพื้นที่ประสบภัยธรรมชาติ 6 แสนไร่ คิดเป็นร้อยละ 17 คาดว่าเหลือพื้นที่เก็บเกี่ยวประมาณ 3 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวแล้วประมาณร้อยละ 50 โดยส่วนใหญ่เป็นข้าวหอมมะลิ
โดยได้เปิดจุดรับจำนำข้าวเปลือกทั้งโรงสีและจุดรับจำนำนอกพื้นที่รวม 70 แห่ง เป็นโรงสี 16 แห่ง และจุดนอกพื้นที่ 54 แห่ง ในพื้นที่ 28 อำเภอ เปิดรับจำนำตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค. 2556เป็นต้นมา ปัจจุบันมีการปิดจุดรับจำนำนอกพื้นที่แล้ว 12 แห่ง คงเหลือที่ยังเปิดอยู่รวม 48 แห่ง
ผลการรับจำนำสะสมจนถึงวันที่ 16 ธ.ค.2556 ใบประทวน 61,647 ใบ ปริมาณข้าวเปลือก 269,764 ตัน โดยมีสัดส่วนของข้าวหอมมะลิประมาณร้อยละ 77 ซึ่ง จ.นครราชสีมาได้รับการจัดสรรเงินงบประมาณการรับจำนำข้าวประมาณ 230 ล้านบาท แยกจ่ายเดือน พ.ย. 2556 เป็นเงิน 38.18 ล้านบาท และเดือน ธ.ค. 2556 เป็นเงิน 191.96 ล้านบาท ปัจจุบัน ธ.ก.ส.ได้จ่ายเงินจำนำข้าวให้เกษตรกรแล้ว (ณ 12 ธ.ค. 2553) รวม 1,004 ราย เป็นเงินทั้งสิ้น 85 ล้านบาท
สำหรับปัญหาการรับจำนำคือการออกใบประทวนให้เกษตรกรล่าช้า ทำให้ปัจจุบันเริ่มมีใบประทวนคงค้างมาก และการเปิดจุดรับจำนำนอกพื้นที่มีกำหนดระยะเวลา 30 วันน้อยเกินไป ทำให้มีผลกระทบในพื้นที่ที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดมาก และการกำหนดระยะเวลาการใช้หนังสือรับรองเกษตรกรในการจำนำ ก่อนหรือหลังวันที่คาดว่าจะเก็บเกี่ยว 30 วัน ทำให้เกิดเป็นปัญหากับเกษตรกรที่ต้องรีบเก็บเกี่ยวไม่มีการตากลดความชื้น และต้องรีบนำผลผลิตมาจำนำเพื่อให้ทันกับระยะเวลาของหนังสือรับรองเกษตรกร
ทั้งนี้ นายจิรายุ นันท์ธราธร ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีเขตที่ 14 ได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่เร่งดำเนินการออกใบประทวนให้แก่เกษตรกรอย่าให้เกิดความล่าช้า และจุดใดที่มีปัญหาให้เร่งดำเนินการแก้ไขโดยด่วน และในพื้นที่ อ.เสิงสาง พบปัญหาข้าวหอมมะลิปนเปื้อนพันธุ์ข้าวชนิดอื่น เนื่องจากเกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าวใช้แปลงนาเดียวกันปลูกข้าวต่างชนิดกันในช่วงการทำนาปรังและนาปี ซึ่งได้สั่งการให้เกษตรจังหวัดลงไปดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว