บุรีรัมย์ - การค้าภายใน จ.บุรีรัมย์เร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนายอำเภอทุกอำเภอ ประชาสัมพันธ์ระเบียบหลักเกณฑ์โครงการรับจำนำข้าวปี 56/57 ที่จะเริ่ม 1 ต.ค.นี้ พร้อมเพิ่มมาตรการเข้มป้องกันสวมสิทธิและทุจริต ซ้ำรอยปี 54/55 ที่สร้างความเสียหายแก่รัฐกว่า 44 ล้านบาท
วันนี้ (17 ก.ย.) นายสุทธิศักดิ์ พรหมบุตร หัวหน้าสำนักงานการค้าภายในจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า หลังจากคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ได้มีมติอนุมัติกรอบชนิด ราคา ปริมาณ ระยะเวลา วิธีการ หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2556/57 (ครั้งที่ 1) ที่จะเริ่มดำเนินการ 1 ตุลาคม 2556-28 กุมภาพันธ์ 2557 โดยได้กำหนดราคารับจำนำข้าวหอมมะลิอยู่ที่ตันละ 20,000 บาท นั้น ทางสำนักงานการค้าภายในจังหวัดบุรีรัมย์ได้มีการเตรียมความพร้อม โดยการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ รวมถึงนายอำเภอทั้ง 23 อำเภอ ได้เร่งปิดประกาศ ทำแผ่นพับประชาสัมพันธ์ และประกาศเสียงตามสาย เพื่อประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรในทุกหมู่บ้าน ตำบลได้รับทราบถึงระเบียบหลักเกณฑ์โครงการรับจำนำข้าวรอบใหม่อย่างทั่วถึง
พร้อมทั้งจะมีการประชุมแต่งตั้งคณะอนุกรรมการติดตามกำกับดูแลการรับจำนำข้าวทั้งระดับจังหวัด และอำเภอ เพื่อควบคุมดูแลกระบวนการขั้นตอนการรับจำนำให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยด้วย
สำหรับโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2555/56 รอบสอง หรือข้าวนาปรัง ที่สิ้นสุดโครงการฯ เมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา ในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์มีเกษตรกรมาเข้าร่วมโครงการฯ เพียง 1,269 ราย ปริมาณข้าวกว่า 5,570 ตันเท่านั้น เพราะมีน้ำน้อยไม่เพียงพอในการทำนาปรังจึงทำให้มีพื้นที่ปลูกน้อย
นายสุทธิศักดิ์กล่าวต่อว่า ส่วนมาตรการป้องกันการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว นอกจากจะมีคณะอนุกรรมการระดับอำเภอเข้าไปกำกับดูแลแล้ว ยังจะจัดเจ้าหน้าที่ดูแลประจำจุดรับจำนำทุกจุด โดยเป็นตัวแทนภาครัฐ 1 คน ตัวแทนเกษตรกรจากสภาเกษตรกร 3 คน ผู้ช่วย อคส. 2 คน และเจ้าหน้าที่ตำรวจอีก 2 นาย เพื่อร่วมในการตรวจสอบการรับจำนำในทุกขั้นตอน
“ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการลักลอบสวมสิทธิหรือทุจริตในโครงการฯ ซ้ำรอยปี 2554/55 ที่สร้างความเสียหายแก่งบประมาณของรัฐมากถึง 44 ล้านบาท” นายสุทธิศักดิ์กล่าว