“พาณิชย์” ยันพร้อมรับจำนำข้าว ส่งเจ้าหน้าที่เช็กเครื่องชั่ง เครื่องวัดความชื้นป้องกันชาวนาถูกเอาเปรียบก่อนเริ่มโครงการ ด้านชาวนาเสียงอ่อย ไม่ประท้วงแล้ว แม้บางส่วนไม่พอใจราคา
น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมในการรับจำนำข้าวเปลือกว่า กรมฯ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ไปทำการตรวจสอบเครื่องชั่งน้ำหนักและเครื่องวัดความชื้นเพื่อเตรียมความพร้อม โดยจะให้ดำเนินการในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาก่อน จากนั้นจะตรวจสอบในพื้นที่ที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก เพื่อป้องกันไม่ให้โรงสีที่เปิดจุดรับจำนำเอาเปรียบเกษตรกร
ทั้งนี้ ยังได้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการดำเนินงาน โดยจะเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบตั้งแต่การออกหนังสือรับรองเกษตรกร การดูแลจุดรับจำนำที่โรงสี การเพิ่มกล้อง CCTV การส่งเจ้าหน้าที่ไปดูแลขั้นตอนการรับจำนำ โดยให้มีผู้ปฏิบัติงานตลอดเวลาไม่เว้นแม้วันอาทิตย์
การรับจำนำข้าวจะเริ่มรับจำนำข้าวนาปี (ครั้งที่ 1) ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2556-28 ก.พ. 2557 โดยรับจำนำข้าวเปลือกเจ้า 100% ที่ความชื้น 15% ตันละ 15,000 บาท ไม่เกินรายละ 350,000 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลิตันละ 20,000 บาท และรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง (ครั้งที่ 2) เริ่ม 1 มี.ค. 2557-30 ก.ย. 2557 โดยปรับราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้า 100% เหลือตันละ 13,000 บาท ไม่เกินรายละ 300,000 บาท ส่วนข้าวเปลือกชนิดอื่นคงราคาเดิม โดยมีเป้าหมายรับจำนำทั้ง 2 ครั้งปริมาณ 16.5 ล้านตัน
นายวิเชียร พวงลำเจียก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า ขณะนี้ชาวนาทั่วประเทศจะยังไม่เดินขบวนประท้วงรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้เพิ่มราคารับจำนำข้าว แม้บางส่วนจะไม่พอใจราคารับจำนำที่ตันละ 13,000 บาท ซึ่งระดับราคาดังกล่าวยังดีกว่าที่รัฐบาลไม่ทำโครงการรับจำนำต่อ ทั้งนี้ ต้องการให้รัฐบาลดูแลปัจจัยการผลิตอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะปุ๋ยเคมีที่มีราคาแพงมาก และทำให้ต้นทุนการผลิตของชาวนาเพิ่มขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวแทนสมาคมชาวนาได้เรียกร้องให้รัฐบาลปรับเพิ่มราคาจำนำข้าวเปลือกนาปรังเป็นตันละ 14,000 บาท จำกัดวงเงินรายละ 400,000 บาทต่อครัวเรือน จากที่ ครม.อนุมัติตันละ 13,000 บาท จำกัดวงเงินรายละ 300,000 บาท พร้อมขอให้กรมการค้าภายในกำกับดูแลการจำหน่ายวัสดุทางการเกษตร เช่น ยาฆ่าแมลง หรือปุ๋ยเคมี ที่ปรับราคาสูงขึ้นไปก่อนหน้านี้เป็นกระสอบละ 800-900 บาท เพื่อช่วยเหลือชาวนาอีกทางหนึ่ง
นอกจากนี้ยังขอให้รัฐบาลดูแลและกำหนดราคารับซื้อข้าวเปลือกนอกโครงการรับจำนำด้วย เพราะชาวนาได้รับผลกระทบมากจากการที่ต้องนำข้าวส่วนที่เหลือไปขายนอกโครงการ เช่น บางจังหวัดกำหนดว่าทำนา 1 ไร่เท่ากับผลผลิต 625 ตัน แต่ความเป็นจริงทำได้มากกว่านั้น ก็ต้องนำไปขายนอกโครงการ โรงสีก็กดราคารับซื้อ เช่น หลายจังหวัดทางภาคกลางขายได้เพียงตันละ 6,500-7,000 บาท และข้าวหอมปทุมก็จะได้ราคาสูงสุดตันละ 8,000-9,000 บาททั้งที่ความชื้นก็ 15% เท่ากับที่กำหนดในโครงการ แต่ในโครงการกำหนดที่ตันละ 16,000 บาท