xs
xsm
sm
md
lg

สื่อสร้างสุขอุบลฯ เปิดเวทีถก “ผ่าความขัดแย้งในวิถีประชาธิปไตยแบบไทยๆ” จวกรัฐเหลิงอำนาจเมินคนจน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อุบลราชธานี - สื่อมวลชนจังหวัดอุบลราชธานี จับมือนักวิชาการร่วมวิเคราะห์สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ระบุสาเหตุจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เรียนแบบท่องจำไม่รู้จักคิด รัฐใช้แต่อำนาจไม่เห็นหัวคนจน แนะทางออกต้องถอยกันคนละก้าวไม่ให้ประเทศล้าหลัง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี ภายใต้การสนับสนุนของ USAID จัดเวที “ฝ่าความขัดแย้งในวิถีประชาธิปไตยแบบไทยๆ” โดยมีนักวิชาการสายรัฐศาสตร์การปกครอง เช่น ศ.ดร.ลิขิต ธีระเวคิน อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นประธานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติสาขารัฐศาสตร์ และรัฐประศาสนศาสตร์

รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง ผู้อำนวยการหลักสูตรการเมืองและการปกครอง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นผู้ร่วมเวที มีนายนพพร พันธุ์เพ็ง เป็นผู้ดำเนินรายการรับเชิญ

ซึ่งนายนพพร ได้ถามผู้ร่วมเวทีทั้ง 3 คนว่า ความขัดแย้งในปัจจุบันมีสาเหตุจากอะไร ซึ่ง ศ.ดร. ลิขิต ให้ความเห็นว่า อดีตกรมพระยาดำรงราชานุภาพฯ เคยรับสั่งไว้ว่าคนไทยมีลักษณะ 3 ประการ คือ รักสงบ ไม่ชอบการประจันหน้า และประสานผลประโยชน์

แต่เหตุการณ์ปัจจุบันประสานประโยชน์กันไม่ได้ เพราะหันไปนิยมการประจันหน้า ความสงบจึงไม่เกิด ส่วนถามว่าประสานประโยชน์อะไร สังคมทุกสังคมขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ทั้งสิ้น อยู่ที่ว่ามีกลไกในการจัดการภายใต้สันติวิธีอย่างไร

ส่วนความขัดแย้งมีสาเหตุมาจาก 1.ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ 2.ความขัดแย้งทางสถานะทางสังคม ซึ่งชนชั้นหนึ่งสูงกว่าชนอีกชั้น 3.ความขัดแย้งทางอำนาจ ใครควรมีอำนาจในการจัดการตัวเอง อนาคตบ้านเมือง ท้องถิ่น รัฐบาลกลางควรแบ่งอำนาจกันอย่างไร

และข้อที่ 4 ไม่เกี่ยวกับ 3 สาเหตุอันแรก เป็นความขัดแย้งทางนามธรรม เช่น มีคนสร้างกระเช้าขึ้นดอยสุเทพ ก็มีคนต่อต้าน แต่มันเป็นเรื่องนามธรรม ความขัดแย้งอย่างที่ 4 นี้ แก้ไม่ยาก แต่ก็แก้ไม่ง่าย เพราะไม่เกี่ยวกับ 3 ข้อข้างต้น สำหรับความขัดแย้งถ้าจะแก้มี 2 ส่วน คือ ส่วนแรกความขัดแย้ง หรือการเรียกร้องให้เกิดความเป็นธรรม ในเรื่องรูปธรรม ปัจจัยสี่ ของที่เป็นเงินทอง

แต่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เป็นความขัดแย้งที่เป็นนามธรรม มี 5 ประการ คือ 1.ความขัดแย้งเรื่องสิทธิเสรีภาพ 2.ความขัดแย้งเรื่องความเสมอภาค 3.ความยุติธรรมในสังคม 4.สิทธิมนุษยชน และประการสุดท้ายคือ ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

ความขัดแย้งทางชนชั้นในสังคมไทยขณะนี้ เป็นความขัดแย้งที่ชัดที่สุดคือ คนกลุ่มหนึ่งยังอยู่ในคลื่นลูกที่ 1 นั่นคือ สังคมเกษตรกรรม การปกครองแบบระบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และความไม่เป็นธรรมในสังคม เพราะมีการมองว่ามนุษย์อีกกลุ่มหนึ่งสูงกว่าอีกกลุ่มหนึ่ง เมื่อมาสู่คลื่นที่ 2 คือ อุตสาหกรรม มีความเสมอภาคมากยิ่งขึ้น มีการต่อรองมากขึ้นในภาคแรงงาน และเริ่มมีการเมืองแบบเปิดในระบบประชาธิปไตย

ส่วนคลื่นลูกที่ 3 ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว คือ ยุคข้อมูลข่าวสาร ขณะนี้เปลี่ยนจากระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทนอย่างเดียว มาเป็นประชาธิปไตยแบบมวลชนมีส่วนร่วม จึงเป็นความขัดแย้งที่เห็นชัดระหว่างคลื่นลูกที่ 3 และคลื่นลูกที่ 1 เมื่อบอกว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างชนชั้น โดยขออ้างอิงจากข้อมูลรายได้ประชากร

โดยแบ่งประเทศไทย 100 บาทต่อ 100 คน 50-60 ปีที่แล้ว 20 คนแรกรวยใน 100 คน เพราะมีรายได้ 59 บาท ส่วนคนที่ต่ำสุดมีรายได้ 2.90 สตางค์

หลังจากนั้น จนถึงปัจจุบัน 20 คนแรกก็ยังรวย แต่มีรายได้ลดเหลือ 56 บาท แต่คนจนที่สุดจาก 2.90 สตางค์ ก็เพิ่มเป็น 3.90 สตางค์ หรือเพิ่มมานิดเดียว ปัจจุบันจึงมีคนราวห้าแสนตระกูลรวยครอบคลุมถึง 70% ของแผ่นดิน

และถ้าเทียบจากเมื่อ 30 ปีที่แล้ว รายได้เฉลี่ยต่อหัวในกรุงเทพฯ 50,000 บาท ฝั่งทะเลตะวันออก 35,000 บาท เหนือ 9,000 บาท อีสาน 6,800 ใต้ 14,000 แต่ปัจจุบันกรุงเทพฯ มีรายได้เฉลี่ยต่อหัว 320,000 บาท ฝั่งทะเลตะวันออก 350,000 บาท ใต้ 100,000 เหนือ 70,000 อีสาน 40,000 บาท ผ่านไป 40 ปี อีสานก็ยังจนที่สุด เพราะความร่ำรวยกระจุกที่กรุงเทพฯ

“เหตุที่คนอีสานยังจนที่สุดของประเทศ เพราะการพัฒนาที่ผิดพลาดทางระบบการศึกษา ความจนเป็นสถานะที่มีมาแต่กำเนิดไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่ระบบการศึกษาสามารถพัฒนาคนให้มีคุณภาพได้ นำไปสู่การลดช่องว่างได้ ซึ่งระบบการศึกษาไม่ได้หมายถึงแค่การเรียนหนังสือ แต่หมายถึงการสอนให้รู้จักคิดเป็นด้วย”

ขณะที่ รศ.ดร.ไชยันต์ กล่าวว่า เศรษฐกิจมีผลต่อทางการเมือง คือ คนภาคอีสาน และภาคเหนือ ไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญปี 2550 เพราะมองเห็นความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เนื่องจากกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ กลายเป็นเมืองหัวโต เพราะรัฐบาลไม่กระจายอำนาจงบประมาณมาให้บริหารจัดการตนเองอย่างเพียงพอในทุกหัวเมือง ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางรายได้

สำหรับ รศ.ดร.ประภาส กล่าวถึงความแตกต่างของความขัดแย้งครั้งนี้กับครั้งก่อน เพราะสังคมไทยมีประชาธิปไตยแบบตัวแทน ไม่เต็มใบ สังคมเผชิญเรื่องสำคัญอย่างน้อย 2 เรื่อง คือ 1.ปัญหาการใช้อำนาจรัฐ เชื่อมโยงไปสู่การได้มาซึ่งอำนาจรัฐ มันเกิดขึ้นทั้ง 2 ส่วน ทั้งคนในเมือง คนชั้นกลาง

เหตุการณ์ที่กำลังเกิดทุกวันนี้ก็มาจากต้องการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เช่นเดียวกับกลุ่มสมัชชาคนจน ก็มีปัญหาการใช้อำนาจรัฐผ่านโครงการขนาดใหญ่ เป็นการเมืองที่มองไม่เห็นหัวคนจน เพราะการเลือกตั้ง มีปัญหาการซื้อสิทธิ ขายเสียง จึงมีผลพวงมาถึงการบริหารบ้านเมือง เพราะเป็นการบริหารบ้านเมืองไม่โปร่งใส

นายนพพร ผู้ดำเนินรายการถามนักวิชาการรายนี้ต่อว่า ทำไมคนแห่ออกมาเรื่อยๆ และมากขนาดนี้ ซึ่ง รศ.ดร.ประภาส ระบุว่า เพราะคนชั้นกลางไม่พอใจเรื่องการใช้อำนาจรัฐ ในการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ส่วนจะนำไปสู่ความรุนแรงเหมือนปี 2553 หรือไม่ ก็อยู่กับการใช้อำนาจของรัฐ และมองว่าข้อเสนอ 6 ข้อของฝ่ายต่อต้าน คือ การคืนอำนาจสู่ประชาชน ในเชิงพิมพ์เขียวความคิด คิดว่าเลยไปแล้ว เป็นข้อเสนอที่เป็นไปไม่ได้ ต้องถอยมาสู่กระบวนการต่างๆ ให้มันคลี่คลาย

ผู้ดำเนินรายการถามหาทางออกให้ประเทศไทยกับเหตุการณ์ที่กำลังคุกรุ่นว่าต้องทำอย่างไร ซึ่ง ศ.ดร.ลิขิต เสนอว่า ทั้ง 2 ฝ่ายต้องหันหน้ามาพูดคุยกันจะออมชอมกันได้อย่างไร ถอยกันคนละก้าวได้หรือไม่ เพราะตามสุภาษิตจีนเคยกล่าวไว้ว่า เมื่อเราถอยหลังหนึ่งก้าวขอบฟ้าจะกว้างยิ่งขึ้น ทางออกที่ดีที่สุดคือ ต้องระวังอย่าให้เกิดกระทบกระทั่งจนเลือดตกยางออก และหาทางออกร่วมกันภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

ส่วนข้อบกพร่องของทั้ง 2 ฝ่าย ก็ไปแก้ไขตามความเป็นจริง โดยยึดหลักของกฎหมาย เพราะไม่สามารถปล่อยให้บ้านเป็นอย่างนี้ได้ เนื่องจากประเทศชาติจะล้าหลัง

“ถ้าคาราคาซัง UN ต่างประเทศก็เข้ามา แบ่งเป็น 2 ฝ่าย เป็น 2 ประเทศ หวังว่าคงจะไม่ถึงขั้นนั้น”

สำหรับทางออกระยะยาวคือ การศึกษา ที่ไม่ใช่แค่การเรียนหนังสือ แต่สอนให้คิด นอกจากนี้ต้องกระจายอำนาจ เพราะถึงเวลาที่ อบต. อบจ. ต้องรวมเป็นกลุ่มจังหวัดเป็นมณฑลที่เคยมีมาในอดีต เพื่อของบประมาณมาบริหารเอง จึงเป็นวิธีทางออกที่ดีที่สุดของประเทศในขณะนี้

ด้าน รศ.ดร.ไชยันต์ มองสถานการณ์ขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นสงครามกลางเมืองเหมือนในประเทศแถบตะวันออกกลาง เพราะทั้ง 2 ฝ่ายไม่มีอาวุธ แต่ก็ไม่สามารถทำนายความรุนแรงได้ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เมื่อมองย้อนกลับไปสมัย พล.อ.ชวลิต เป็นนายกรัฐมนตรี ตอนนั้นเดินขบวนที่สีลมนิดเดียว ประกาศลาออกเลย

“แต่ตอนนี้หนักขึ้น ยึดกระทรวง ทบวง กรม ประกาศไม่รับอำนาจรัฐ แต่อังกฤษประท้วงไม่ให้รัฐบาลไม่ร่วมรบอิรัก ประท้วงแค่ 2 วันเท่านั้น”

ขณะที่ รศ.ดร.ประภาส เสนอว่า นายสุเทพ ควรถอยเพื่อหาทางลง เพราะมันเกินไปกว่าระบบการเมืองปกติ ไม่ควรวัดการแพ้ชนะที่ความรุนแรง และเรื่องการศึกษาก็เป็นสิ่งจำเป็น เพราะคนจนที่สุดก็สามารถร่วมสร้างประชาธิปไตยได้ เพราะประชาธิปไตยคือ การจัดการชีวิตตัวเอง จัดการทรัพยากรตนเอง

กำลังโหลดความคิดเห็น