อุบลราชธานี - สื่อสร้างสุขตั้งวงถกยูนิเวอร์แซลดีไซน์คนพิการ โดยนายกสมาคมคนพิการจวกราชการไทยไร้สำนึกอำนวยความสะดวกคนพิการ แม้มีกฎหมายระบุชัดยังดื้อรั้น แนะคนพิการรวมตัวเรียกร้องสิทธิผ่านศาลปกครอง ขณะที่คนพิการร้องขอถนน-ทางลาดสำหรับรถเข็น พร้อมห้องน้ำ
วันนี้ (28 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่อาคารอุบลชาติ สถานฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.อุบลราชธานี สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี ภายใต้การสนับสนุนของ USAID ร่วมกับสมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล ศาสนจักรพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย สโมสรโรตารี่มูลริเวอร์ภาค 3340 และสถานฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.อุบลราชธานี จัดเสวนา “สานหัวใจคนไม่ยอมแพ้”
โดยนายกมล หอมกลิ่น ผู้ดำเนินรายการ ถามนายสมศักดิ์ เหมแก้ว ผู้แทนคนพิการถึงการใช้ชีวิตในสังคมที่ผ่านมาว่าได้รับการอำนวยความสะดวกจากภาครัฐมากหรือน้อยเพียงใด ซึ่งนายสมศักดิ์เล่าประสบการณ์ที่เป็นคนพิการมากว่า 9 ปีว่า อุปสรรคสำหรับคนพิการคือ ใจจะสู้หรือไม่ ถ้าใจสู้คิดว่าไม่มีอุปสรรคในการใช้ชีวิต
แต่สิ่งที่ต้องการสะท้อนคือ อยากให้ภาครัฐอำนวยความสะดวกให้คนพิการออกมาสู่สังคมภายนอกอย่างสะดวก เช่น ทำทางลาดในห้องน้ำ ยานพาหนะที่มีการออกแบบรับส่งคนพิการเป็นการเฉพาะ เพราะการเดินทางมาร่วมรายการวันนี้ตนต้องใช้รถจักรยานยนต์พ่วงข้างเป็นพาหนะเดินทางจากช่องเม็ก อ.สิรินธร ระยะทางกว่า 80 กิโลเมตร เนื่องจากต้องการให้คนพิการทราบถึงสิทธิและหน้าที่ของตน สะท้อนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับรู้ความต้องการของคนพิการ
ด้านนายวิสุทธิ์ ศิวประภากร ประธานชมรมคนพิการไทยใจอาสา สะท้อนถึงแนวคิดของราชการไทยว่าไม่มีความจริงใจในการสนับสนุนคนพิการ ดูได้จากเบี้ยเลี้ยงคนพิการ รัฐบาลจ่ายให้เพียงเดือนละ 500 บาท ทั้งที่คนพิการมีค่าใช้จ่ายมากกว่าคนทั่วไป ทั้งค่าเดินทาง ค่ารักษาพยาบาล จึงอยากให้คนพิการออกมาเรียกร้องสิทธิที่ควรได้ให้มากขึ้น และเดินออกมาสู่สังคมอย่างมั่นใจโดยไม่ต้องอายว่าเป็นคนพิการด้วย
ขณะที่ พ.ต.ศิริชัย ทรัพย์ศิริ นายกสมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล กล่าวว่า ประเทศไทยมีกฎหมายเกี่ยวกับคนพิการ คือ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ทันต่อเหตุการณ์ โดยเนื้อหาระบุชัดเจนให้หน่วยงานของรัฐ ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทบวง กรม กระทรวง มีหน้าที่ช่วยเหลือคนพิการ โดยจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกในการเข้าติดต่อกับหน่วยงาน หรือทำตัวให้มีมารยาทกับคนพิการ
แต่ที่ผ่านมาพบว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่ให้ความสำคัญ โดยถ้าคิดเป็นสัดส่วนคือ 60:40 มีการจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานให้แค่ 60% ประการสำคัญคือ การมีมารยาทระหว่างให้บริการ เพราะผู้พิการมักพบสีหน้าไม่พอใจของเจ้าหน้าที่ระหว่างให้บริการ หรือเวลาคนพิการเดินทางมาถึงช้ากว่าที่นัดหมายไว้ เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการจะแสดงความไม่พอใจผ่านสีหน้าทันที
และยังพบว่าแม้คณะรัฐมนตรีจะมีคำสั่งให้ทุกกระทรวง ทบวง กรม อำนวยความสะดวกให้คนพิการ โดยตามสถานที่ราชการสำคัญ เช่น ศาลากลางจังหวัด สถานีตำรวจ ต้องจัดทำทางลาดสำหรับรถเข็นคนพิการ หรือห้องน้ำสำหรับคนพิการ แต่ข้าราชการไทยดื้อไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี จึงต้องการให้คนพิการรู้ถึงสิทธิของตนเอง เพราะกฎหมายอนุญาตให้สามารถฟ้องต่อศาลปกครองได้ในกรณีภาครัฐไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และมีความเห็นว่าเบี้ยเลี้ยงยังชีพที่รัฐจ่ายให้คนพิการเพียงเดือนละ 500 บาทอยู่ในเกณฑ์ต่ำเกินกว่าความจริงมาก
เพราะในประเทศฟิลิปปินส์ที่มีเศรษฐกิจไม่ต่างจากประเทศไทยมากนัก แต่รัฐกำหนดจ่ายช่วยเหลือคนพิการถึงเดือนละ 30,000 บาท หรือในสหรัฐอเมริกาให้สวัสดิการคนพิการเกือบทุกอย่าง เช่น ค่าเดินทาง และสนับสนุนเบี้ยเลี้ยงปีละ 300-500 เหรียญสหรัฐ ตามเขตการปกครองของมลรัฐแต่ละแห่ง แต่ประเทศไทยให้เบี้ยเลี้ยงคนพิการเท่าเพียงเศษเงินเท่านั้น
พ.ต.ศิริชัยกล่าวว่า สาเหตุที่คนพิการในประเทศไทยไม่ได้รับความสนใจจากภาครัฐ เพราะคนพิการรู้ถึงสิทธิของตัวเองเพียงร้อยละ 50% โดยส่วนใหญ่เป็นคนพิการที่มีความรู้ และอาศัยอยู่ในตัวเมือง ส่วนคนพิการที่อยู่ในชนบทไม่รู้ถึงสิทธิของตัวเอง ทำให้ขาดโอกาส เป็นปัญหาที่ต่อเนื่องกัน ที่ผ่านมาเคยเสนอองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ให้ทำงานเรื่องนี้ แต่พบว่าการทำงานของ อบต.ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับความถนัดของผู้บริหารแต่ละแห่ง
ทั้งนี้ กลุ่มคนพิการจะเข้มแข็งได้ต้องมีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ มีความรู้ มีความเสียสละ มีเป้าหมายที่จะช่วยเหลือตนเองก่อนขยายไปช่วยเหลือคนอื่น โดยเริ่มจากการรวมตัวกันเป็นชมรม จัดระเบียบภายในชมรม ทำการศึกษาปัญหาความต้องการของคนพิการแต่ละแห่ง ก่อนจะยื่นเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม คนพิการจึงจะได้รับความสนใจจากสังคมภายนอก
นางตรึงเนตร พรรณดวงเนตร ผู้ปกครองสถานฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.อุบลราชธานี กล่าวถึงปัญหาของคนพิการและการให้บริการว่า สถานฟื้นฟูแห่งนี้มีบทบาทช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ ทั้งด้านสุขภาพ ร่างกาย จิตใจ อารมณ์ ก่อนจะให้การฝึกฝนอาชีพตามที่คนพิการถนัดและมีความต้องการ แต่ “ยอมรับว่าการทำงานที่ผ่านมามีข้อจำกัดมากมาย แต่คิดอย่างเดียวคือ ทำอย่างไรให้คนพิการอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข มีอาชีพ มีรายได้ของตนเอง เมื่อเห็นคนพิการแต่ละรุ่นที่ก้าวเข้ามาแล้วกลับออกไปสู่สังคมภายนอก มีความเปลี่ยนแปลงด้านการดำรงชีวิตที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน ก็รู้สึกมีความสุขที่ได้เห็นอย่างนั้น
ขณะที่นายกิจจา เตชะศิริธนะกุล ประธานฝ่ายบำเพ็ญประโยชน์สโมสรโรตารีมูลริเวอร์ ซึ่งมีบทบาทช่วยเหลือคนพิการในจังหวัดระบุว่า ที่ผ่านมาสโมสรเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร ได้ระดมทุนเพื่อจัดหารถวีลแชร์ให้ผู้พิการเป็นระยะ เพราะคนพิการควรได้รับสิทธิในการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้เท่าเทียมกับคนปกติทั่วไป โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาเป็นสิ่งจำเป็นมาก ซึ่งรัฐควรให้การสนับสนุนส่งเสริมอย่างมาก
ทั้งนี้ หลังจบการเสวนา สโมสรโรตารีมูลริเวอร์ได้มอบรถวีลแชร์แก่คนพิการ 50 คัน โดยการเสวนาครั้งนี้สามารถชมเทปรายการย้อนหลังได้ที่สร้างสุขแชนเนล วีเคเบิลทีวี โสภณเคเบิลทีวี ราชธานีเคเบิลทีวี และทางทีวีดาวเทียม Next step ช่องของดีประเทศไทย รวมทั้งสถานีวิทยุ Clean radio FM 92.50 MHz อุบลราชธานี