xs
xsm
sm
md
lg

บทเรียนน้ำท่วมอุบลฯ เหตุตัดไม้ทำลายป่า ถมดินขวางทางน้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อุบลราชธานี - บทเรียนน้ำท่วมตำบลไร่ใต้ จ.อุบลราชธานี น้ำท่วมหนักในรอบหลายสิบปี ชาวบ้านเชื่อต้นเหตุมาจากสร้างฝายลำโดมใหญ่ ขณะฝ่ายรัฐชี้สาเหตุหลักมาจากตัดต้นไม้ ถางป่าปลูกพืชเชิงเดี่ยว สร้างถนนขวางทางน้ำ วิธีแก้ต้องเพิ่มพื้นที่แก้มลิง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องเตรียมแผนรับมืออุทกภัยแบบบูรณาการร่วมกัน

ที่ศาลากลางบ้านหมู่ 13 บ้านไร่เหนือ ตำบลไร่ใต้ อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี ภายใต้การสนับสนุนของ USAID จัดเวทีเสวนาร่วมทุกข์ ร่วมสุข สรุปบทเรียนน้ำท่วมหนักในรอบหลายสิบปีของชุมชนตำบลไร่ใต้ มีตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าแสดงความเห็น

นายกมล หอมกลิ่น ผู้ดำเนินรายการได้เล่าถึงอุทกภัยที่เกิดขึ้นในตำบลแห่งนี้ว่า เป็นประวัติศาสตร์น้ำท่วมที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งของตำบลไร่ใต้ เพราะมีหมู่บ้านถูกน้ำท่วมรวมกันถึง 14 หมู่บ้าน จากทั้งหมด 15 หมู่บ้าน ชาวบ้านกว่า 1,200 คนได้รับผลกระทบ รวมทั้งพืชสวนพืชไร่ถูกน้ำท่วมเสียหายกว่า 8,000 ไร่ ประชาชนต้องอพยพออกจากบ้านเรือนไปพำนักอาศัยในที่สูงนานกว่า 2 สัปดาห์น้ำจึงลดลง แม้จะได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานด้านบรรเทาทุกข์ แต่ชาวบ้านก็ต้องดำรงชีพอย่างลำบาก

นายนวล ผลาเลิศ อายุ 73 ปี ชาวบ้านหมู่ 5 รวมทั้งผู้สูงอายุหลายคนในตำบลไร่ใต้เล่าเป็นเสียงเดียวกันถึงเหตุการณ์น้ำท่วมว่า เมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมาชุมชนรับมือกับน้ำท่วมไม่ทัน เพราะคนเฒ่าคนแก่ของหมู่บ้านบอกว่าน้ำจะท่วมไม่มาก เพราะเป็นชุมชนริมแม่น้ำ เกิดน้ำท่วมเป็นครั้งคราว แต่ครั้งนี้พอน้ำมาถึงช่วงกลางดึกชาวบ้านอพยพแทบไม่ทัน เพราะปริมาณน้ำที่ไหลมาจำนวนมากทำให้น้ำขึ้นเร็ว

“ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยเห็นน้ำท่วมบ้านเร็วและขึ้นสูงเหมือนปีนี้ และโชคดีที่ทำเลที่ตั้งของบ้านตนอยู่ในที่สูง จึงต้องช่วยรับฝากสิ่งของจากเพื่อนบ้าน ก่อนพากันหนีน้ำ และช่วงถูกน้ำท่วมสองวันแรกไม่มีน้ำดื่ม ทำให้เครียดมากนอนไม่หลับ เพราะยังรู้สึกกลัวน้ำจะท่วมมากไปกว่านี้”

นายคมคิด เถาวัลย์ กล่าวถึงสาเหตุน้ำท่วมครั้งนี้ว่า อาจเพราะลำโดมใหญ่ถูกทำให้ผิดจากธรรมชาติ โดยดูจากเหตุการณ์ปี 2521 ซึ่งเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่สุดของจังหวัด ขณะนั้นแม่น้ำมูลมีปริมาณน้ำมากจนลำน้ำมีความสูงถึงกว่า 12 เมตร แต่น้ำก็ไหลท่วมชุมชนตำบลไร่ใต้ไม่มากและไม่นาน เพราะอดีตยังไม่มีการสร้างฝายลำโดมใหญ่ แต่ต่อมาราชการมาสร้างฝายกั้นลำน้ำที่บ้านสร้างแก้ว จึงอาจทำให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นมาก็ได้

นายอดิศักดิ์ ชาววัง ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลไร่ใต้ กล่าวถึงการช่วยเหลือประชาชนขณะถูกน้ำท่วม อบต.มีการวางแผนเตรียมรับน้ำท่วม หลังได้รับแจ้งเตือนภัยจากทางการ โดยเตรียมอาสาสมัคร อปพร. และเรือไว้อพยพ 4 จุด แต่พอน้ำมามากกว่าที่คาดการณ์ไว้ก็รับมือไม่ไหว ต้องขอเรือจากหน่วยงานข้างเคียงมาเพิ่ม

พร้อมยอมรับว่า แผนรับมืออุทกภัยที่เตรียมไว้ไม่ตรงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงถือเป็นบทเรียนที่อนาคตจะมีการนำไปปรับใช้ให้เข้ากับสถานการณ์ที่ต้องประเมินความเสียหายให้สูงไว้ด้วย แต่มีสิ่งที่ประทับใจคือความร่วมมือของผู้นำชุมชนทั้ง 14 หมู่บ้าน ที่อยู่ทำงานเคียงข้างกันตลอดที่มีเหตุการณ์ขึ้นมา

ขณะที่นายสุทธินันท์ บุญมี รักษาการผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า อุบลราชธานีเป็นแหล่งรวมน้ำทั้ง 19 จังหวัดของภาคอีสาน ยกเว้นจังหวัดหนองคาย ทำให้เมื่อฝนตกน้ำจะไหลลงมารวมกันที่จังหวัดอุบลราชธานี

แต่กรณีน้ำท่วมชุมชนตำบลไร่ใต้ เพราะช่วงระยะเวลาดังกล่าวจังหวัดมีปริมาณน้ำฝนตกลงมาในจังหวัดทางตอนใต้มากกว่า 100 มิลลิเมตรนานติดต่อกันถึง 2 วัน

ปริมาณน้ำฝนที่ตกบริเวณเทือกเขาพนมดงรักก็ไหลบ่าลงมาตามลำน้ำสาขา ประกอบกับภูมิประเทศบนเทือกเขาก็เปลี่ยนแปลงไป เพราะมีการลักลอบตัดต้นไม้ทำลายป่า ทำให้น้ำไหลมาเร็ว และเอ่อล้นท่วมบ้านเรือนชาวบ้านอย่างรวดเร็ว

สาเหตุหลักจึงไม่ใช่การสร้างฝายกั้นลำน้ำโดมใหญ่แน่นอน แต่สาเหตุสำคัญคือ น้ำไม่มีที่ไป คนถมแก้มลิง สร้างถนน บ้านเรือนกีดขวางทางน้ำ การแก้ไขต้องให้น้ำมีที่อยู่ เช่น นาต้องมีพื้นที่ 30% ไว้ให้น้ำอยู่ เป็นต้น

ด้านนายครรชิต คงสมของ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดมีระบบเตือนภัย โดยสื่อสารผ่าน อบต.และผู้นำชุมชน ประชาชนต้องหูไวตาไว มีการติดตามข้อมูลข่าวสาร ซึ่งพื้นที่ตำบลไร่ใต้เป็นชุมชนเข้มแข็งด้านการเตรียมรับอุทกภัย ที่ผ่านมามีการอบรมและตั้งคณะกรรมการหมู่บ้านเพื่อทำงานแล้ว แต่ก็ไม่คาดคิดว่าน้ำจะท่วมหนักขนาดนี้ สิ่งที่ฝึกอบรมมาหรือแผนที่ทำร่วมกันอาจนำมาใช้ไม่ทัน

นายครรชิตได้ตอบคำถามของผู้ดำเนินรายการที่สงสัยปริมาณน้ำที่มากกว่าปกติ มีการประชุมติดตามสถานการณ์ทุกวัน และได้แจ้งทางอำเภอ เพื่อให้แจ้งท้องถิ่นมาสื่อสารกับชาวบ้าน สิ่งที่ต้องปรับคือคุณภาพการเตือนภัย ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้ท้องถิ่น เพราะกฎหมายระบุชัด หน่วยงานแรกที่จะช่วยเหลือชาวบ้านเมื่อประสบภัยคือหน่วยงานในท้องถิ่น

ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (Gistda) กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีการใช้ดาวเทียมเพื่อการติดตามสถานการณ์น้ำ และจากข้อมูลยืนยันว่าในลำน้ำโดมปีที่แล้วไม่ท่วม สำหรับปีนี้น้ำที่ท่วมเป็นน้ำที่ไหลมาจากเทือกเขาพนมดงรักที่ไหลผ่านมาทางอำเภอเดชอุดม ไม่ใช่น้ำที่เอ่อล้นมาจากแม่น้ำมูล

เหตุการณ์น้ำท่วมที่ตำบลไร่ใต้เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ทั้งการใช้ที่ดิน การก่อสร้างถนน ตึก โรงงานกีดขวางทางน้ำ สิ่งที่น่ากังวลคือ ปีต่อไปจะมีน้ำท่วมแบบนี้อีกหรือไม่ เพราะปีนี้ปริมาณน้ำฝนถือว่าไม่มาก หากคิดรวมจากปริมาณน้ำฝนตลอดฤดู

ทางออกก็เห็นหลายพื้นที่มีการทำระบบฝายชะลอน้ำ หรือทำแก้มลิง หนองบึง เพื่อเป็นที่พักน้ำ และปลูกหญ้าแฝกเพื่อหยุดการชะล้างหน้าดินที่ไหลลงเป็นตะกอนถมลำน้ำให้ตื้นเขิน ซึ่งอาจแก้ไขโดยการขุดลอกคูคลองช่วยอีกทางหนึ่ง

ด้านนายนิรันดร์ นาคทับทิม ผู้อำนายการสำนักงานชลประทานที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวถึงความสงสัยของชาวบ้านที่ฝายลำโดมใหญ่คือสาเหตุหลักของน้ำท่วมในครั้งนี้ไม่เป็นความจริง แต่เกิดจากปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาจำนวนมาก ส่วนฝายลำโดมใหญ่สร้างเพื่อกักน้ำไว้ใช้ในการเกษตรในฤดูแล้ง และช่วงน้ำท่วมได้เปิดประตูระบายน้ำทั้ง 4 บาน ฝายลำโดมใหญ่จึงไม่ใช่สาเหตุหลักของน้ำท่วมที่เกิดขึ้นครั้งนี้

ส่วนทางออกของชาวบ้านที่จะป้องกันไม่ให้เกิดน้ำท่วมซ้ำอีก ต้องรวมตัวพูดคุยกันในระดับตำบลเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงเกิดจากอะไร แล้วช่วยกันแก้ไขปัญหาในอนาคต ขณะเดียวกัน ทุกครัวเรือนต้องมีเรือประจำบ้าน จะได้ไม่ต้องรอเรือของทางการเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ยังมีการเสนอตั้งวิทยุชุมชนเพื่อใช้สื่อสารในตำบลไร่ใต้ด้วย

อนึ่ง การเสวนาครั้งนี้สามารถชมเทปรายการย้อนหลังได้ที่สร้างสุขแชนเนล วีเคเบิลทีวี โสภณเคเบิลทีวี ราชธานีเคเบิลทีวี และทางทีวีดาวเทียม Next step ช่องของดีประเทศไทย รวมทั้งสถานีวิทยุ Clean radio FM 92.50 MHz อุบลราชธานี


กำลังโหลดความคิดเห็น