อุบลราชธานี - คณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลฯ ซึ่ง USAID ให้งบสนับสนุนงานวิจัยเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาเครื่องมือตรวจสอบธรรมาภิบาล “บัตรคะแนนศักยภาพชุมชน” โดยจัดนำร่อง 33 ชุมชน ใน 3 จังหวัด เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูล รู้ถึงสิทธิหน้าที่ของตน พร้อมกล้าตรวจสอบการทำงานของรัฐมากขึ้นใน 2 ปี
ที่ศูนย์อาหารโรงแรมสุนีย์ แกรนด์ แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี ได้รับการสนับสนุนจากองค์การ USAID ร่วมนักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ภาคประชาชน บุคลากรจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วิเคราะห์ประเด็น “พลเมืองคือ ฟันเฟืองสร้างธรรมาภิบาล”
นายกมล หอมกลิ่น ผู้ดำเนินรายการถาม น.ส.กิ่งกาญจน์ สำนวนเย็น หัวหน้าโครงการพลเมืองส่งเสริมธรรมาภิบาล คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เกี่ยวกับการศึกษาวิจัยการสร้างธรรมาภิบาลมีจุดประสงค์ ต้องการเห็นสังคมไทยเป็นอย่างไร
ซึ่งนักวิชาการรายนี้ ระบุว่า โครงการได้รับทุนจาก USAID เพื่อสนับสนุนภาคประชาชน ร่วมตรวจสอบธรรมาภิบาลการบริหารงานของภาครัฐ และท้องถิ่น ผ่านการให้ทุนแก่นักวิชาการ นักศึกษา ภาคประชาชน รวมทั้งสิ้น 33 ทุน ใน 3 จังหวัด คือ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ และอำนาจเจริญ ตลอดการศึกษาวิจัยที่ผ่านมาพบประชาชนมีทัศนคติว่า การทำงานเป็นหน้าที่ของรัฐเพียงฝ่ายเดียว
และไม่เข้าใจว่าตนเองมีสิทธิเข้าตรวจสอบการทำงานของภาครัฐได้ การทำงานของนักวิจัยจึงเน้นปรับทัศนคติเน้นให้ความรู้ สร้างศักยภาพให้ภาคประชาชนมีความเข้มแข็ง ส่วนเครื่องมือใช้ตรวจสอบธรรมาภิบาล คือ บัตรคะแนนศักยภาพชุมชน เป็นการรวบรวมข้อมูลปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นให้ภาครัฐนำไปแก้ไข และมีการให้คะแนน เช่น เห็นถนนชำรุด ชาวบ้านก็มานั่งพูดคุยหาทางออก แล้วนำปัญหาที่พบไปให้ภาครัฐแก้ไข แทนการพูดว่าถนนไม่ดีอย่างเดียว
สิ่งสำคัญคือ มีการสร้างพื้นที่ให้เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนระหว่างชุมชนกับภาครัฐ หลังดำเนินโครงการมา 2 ปี ประชาชนเริ่มตระหนักถึงสิทธิ และหน้าที่ของตัวเองมากขึ้นถึงร้อยละ 65 พร้อมมีความเชื่อมั่นในตัวเอง กล้าที่จะตรวจสอบ หรือเข้าไปมีส่วนร่วมกับภาครัฐมากขึ้น
ความสำเร็จที่เห็นชัดเจน คือ จังหวัดอุบลราชธานี สามารถตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ SML สามารถสร้างกลไกทำงานในกลุ่ม ส่วนจังหวัดอำนาจเจริญ ได้มีการศึกษาความคุ้มค่าของโครงการก่อสร้างพุทธอุทยานจนได้ข้อเสนอไปยื่นต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง
สำหรับอุปสรรคของการทำงาน คือ เกิดความขัดแย้งกับคนของรัฐที่ไม่ต้องการเปิดเผยข้อมูล แม้จะมีกฎหมายบังคับให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะเมื่อถูกสอบถามก็ตาม ซึ่งปัญหานี้ต้องได้รับการแก้ไขจากหน่วยงานในระดับสูงขึ้นไป
ขณะที่ นายกริชชัย ศิลปรายะ หัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมและพัฒนาท้องถิ่น สำนักงานส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า หน้าที่การทำงาน คือ การตรวจรับรองมาตรฐานของ อปท. ส่วนบทบาทที่ได้เข้ามาร่วมกับโครงการฯ คือ ให้ข้อมูลคณะทำงานเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับรูปแบบวิธีการทำงานของ อปท.โดยเฉพาะวงจรงบประมาณ วิธีการจัดทำงบประมาณที่ถูกต้อง
“กรมปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีการตรวจรับรอง 4 ด้าน ได้แก่ ด้านบริหารจัดการ ด้านบริหารงานบุคลากร กิจการงานสภา ด้านการเงินและงบประมาณ และการให้บริการสาธารณะ” ยอมรับว่า ที่ผ่านมาการตรวจรับรองของราชการเพียงด้านเดียวไม่เพียงพอ ต้องดึงนักวิชาการ และภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เพราะการตรวจสอบไม่ใช่การจ้องจับผิด แต่คือการมีส่วนร่วมให้เกิดการพัฒนา
พร้อมมองว่า การจัดทำตัวชี้วัดธรรมาภิบาลภาคประชาชน และแนวทางการเข้าไปมีส่วนร่วมของประชาชน คือ การใช้หลักนิติธรรม คุณธรรม ความโปร่งใส การมีส่วนร่วม และความคุ้มค่า ถือเป็นแนวทางการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เพราะกำหนดให้ราชการทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นยึดถือปฏิบัติตาม โดยแต่ละปีจะมีการตรวจมาตรฐานว่าดำเนินงานผ่านเกณฑ์ตามหลักธรรมาภิบาลหรือไม่
ด้าน น.ส.ปิยะมาศ ทัพมงคล รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า นอกจากมีการให้ทุนแก่นักศึกษา นักวิชาการ และนักวิจัย ยังต้องดึงชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการวิจัยทุกขึ้นตอน เพื่อให้ชาวบ้านเกิดการเรียนรู้มากที่สุด แล้วสะท้อนกลับมาเป็นประโยชน์แก่สู่ชุมชน
เช่นที่กลุ่มอำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ มีการดึงเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ป่า ทั้งที่ก่อนทำงานนี้เยาวชนไม่ให้ความสนใจ จนเกิดมีกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้งบประมาณให้เยาวชนทำงานอนุรักษ์กันต่อไปอีก
นางบุปผาวรรณ อังคุระษี ภาคประชาชนที่ร่วมงานกับโครงการพลเมืองส่งเสริมธรรมภิบาล จังหวัดอำนาจเจริญ ระบุว่า ได้ทำโครงการศึกษาความคุ้มค่าของโครงการสวนสาธารณะพุทธอุทยานอำนาจเจริญ โดยประสานผู้เกี่ยวข้องจากภาคส่วนต่างๆ จำนวน 15 คน มาร่วมเป็นคณะทำงาน โดยเลือกประเด็นที่สงสัยทำไมภาครัฐ จึงถมที่แหล่งน้ำอุปโภคบริโภคของประชาชนแล้วมาสร้างสวนสาธารณะแทน
แต่ก็พบอุปสรรค เพราะภาครัฐไม่ต้องการให้เข้าไปตรวจสอบ การขอข้อมูลเป็นไปด้วยความยากลำบาก โดยเทศบาลเมืองอำนาจเจริญ ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการได้ปฏิเสธมาตลอด ด้วยเหตุผลว่าผู้รับผิดชอบโครงการได้ย้ายไปแล้ว ทำให้ขาดข้อมูลด้านงบประมาณใช้ก่อสร้าง
แต่จากการทำแบบสอบถามจากประชาชนที่มีส่วนได้เสีย จำนวน 220 ตัวอย่าง โดยถามว่าได้ประโยชน์อะไรจากโครงการนี้ โครงการนี้ได้ประโยชน์มากน้อยแค่ไหน คำตอบที่ได้รับคือ ไม่ผ่านทั้งในเรื่องการรับรู้ข้อมูลการทำโครงการมีประชาชน 71 คน ให้คะแนนเป็น 0 เรื่องความจำเป็นต่อการใช้งาน มีประชาชน 57 คน ให้ 0 คะแนน เรื่องการมีส่วนร่วมตัดสินใจ มีประชาชน 115 คนให้ 0 คะแนนเช่นกัน
เมื่อจัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้เกี่ยวข้อง มีเสียงสะท้อนหลากหลาย ทั้งการให้ก่อสร้างเพิ่มเติมเพื่อให้โครงการสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ให้ทุบทิ้งเพราะไม่คุ้มค่า ทีมงานจึงได้รวบรวมข้อเสนอดังกล่าวส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ส่วนข้อเสนอ คือ การสร้างกลไกในการพัฒนา เพราะปัจจุบันรัฐยังมีฐานคิดแคบ คิดว่าทุกอย่างเป็นเรื่องของตัวเอง และไม่ต้องการให้มีการตรวจสอบ แต่ประชาชนต้องการให้รัฐเปลี่ยนแนวคิดให้เป็นของทุกคน เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานให้มากกว่านี้
ด้านนายสตพร ศรีสุวรรณ์ ประธานสภาองค์กรชุมชน จังหวัดอำนาจเจริญ ให้ความเห็นในกรณีเดียวกันว่า อดีตชาวบ้านไม่รู้เรื่องการจัดทำข้อบัญญัติงบประมาณ แต่พอมีโครงการนี้ มีการนำบัตรคะแนนศักยภาพชุมชนใช้เป็นตัววัด ทำให้รู้ว่าการบริการงานในระดับ อบต.มีเรื่องต้องปรับปรุงเยอะแยะมาก ได้คะแนนเป็นศูนย์เยอะมาก
เช่น การตั้งงบประมาณในการศึกษาดูงาน มองดูความคุ้มค่าแล้วให้คะแนน 0 และขณะนี้ อบต.เริ่มปรับตัวจากไม่เคยให้งบประมาณแก่สภาองค์กรชุมชน ปีนี้ได้จัดสรรงบประมาณใช้ดำเนินงานกว่าหนึ่งแสนบาท
ขณะที่นายพิทักษ์ สุขกุล ชมรมสร้างเสริมสุขภาพเพื่อชุมชน จังหวัดอำนาจเจริญ กล่าวว่า การทำงานทำให้ทราบว่า ตั้งแต่หัวดำจนหงอก อำนาจรัฐยังแข็งแรง ส่วนอำนาจประชาชนยังอ่อน การพัฒนาประเทศต้องพยายามทำทุกอย่างให้ประชาชนเข้มแข็งขึ้น
สำหรับการเสวนาครั้งนี้ สามารถชมเทปรายการย้อนหลังได้ที่ช่อง Sangsook วีเคเบิลทีวี โสภณเคเบิลทีวี ราชธานีเคเบิลทีวี และทางทีวีดาวเทียม Next step ช่องของดีประเทศไทย รวมทั้งสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกันอุบลราชธานี FM 102.75 MHz และสถานีวิทยุ Clean radio FM 92.50 MHz อุบลราชธานี