xs
xsm
sm
md
lg

สื่อสร้างสุขจัดเวทีถก “ลดทุกข์สร้างสุข” แก่สมัชชาสุขภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อุบลราชธานี-เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ แนะคนในชุมชนต้องแก้ปัญหากันเอง แทนรับคำสั่งจากส่วนกลาง เพราะอยู่ไกลไม่รู้จริง ส่วนใหญ่พบปัญหาเด็กท้องไม่พร้อม ออกโรงเรียนกลางคัน กินอาหารปนเปื้อนสารเคมี

รายงานข่าวแจ้งว่า ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากยูเสดประเทศไทย (USAID) จัดเวทีเสวนาประชาคมหมู่บ้านสู่สมัชชาสุขภาพ โดยเชิญปราชญ์ชาวบ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาสาสมัครสาธารณสุข และผู้แทนคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) แลกเปลี่ยนความเห็นการกำหนดยุทธศาสตร์ของสมัชชาสุขภาพของจังหวัดอุบลราชธานี

นายกมล หอมกลิ่น ผู้ดำเนินรายการถามถึง 4 ยุทธศาสตร์หลักที่จะดำเนินการในปีนี้ จะนำไปสู่การปฏิบัติจริงได้หรือไม่ และถามความสำเร็จของการดำเนินงานในชุมชนจากตัวแทน อสม.ซึ่งนางอุบลรัตน์ งอกงาม อสม.ดีเด่นระดับภาคของชุมชนปากห้วยวังนอง ต.ปทุม อ.เมืองอุบลราชธานี ระบุว่า ชุมชนมีปัญหาเรื่องความเจริญที่เข้ามาอย่างรวดเร็ว กระทบต่อพฤติกรรมของเยาวชนที่เปลี่ยนไปตามค่านิยม และแรงดึงดูดกับสิ่งใหม่ๆ

“โดยรอบชุมชนบริเวณอ่างเก็บน้ำกลายป็นแหล่งท่องเที่ยว ทำให้มีการตั้งร้านขายอาหาร ร้านจำหน่ายสุรา ทำให้เยาวชนไปมั่วสุมดื่มสุรา ติดยาเสพติด และนำไปสู่การตั้งครรภ์แบบไม่พร้อม เกิดเป็นปัญหาให้ชุมชนต้องแก้ไข”

จึงดำเนินโครงการเฝ้าระวังเด็กและเยาวชน โดยเด็กในระบบโรงเรียนสามารถลดปัญหาได้ร้อยละ 95 เพราะมีการอบรมให้ความรู้ แต่ยังมีปัญหามากกับเด็กที่อยู่นอกระบบโรงเรียน เพราะติดตามมาเข้าร่วมโครงการไม่ได้ และปัญหาระหว่างการดำเนินโครงการก็พบข้อมูลใหม่ขึ้นเรื่อยๆ ต้องตามแก้ในแต่ละประเด็น จึงถือว่าโครงการแก้ปัญหาเด็กท้องไม่พร้อม ยังไม่ประสบความสำเร็จเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์

ขณะที่นายโจม ศรีสุข ปราชญ์ชาวบ้านจากบ้านทรายทอง อ.สำโรง ที่ดำเนินโครงการเกษตรอินทรีย์จนนำไปสู่หมู่บ้านปลอดสารพิษ โดยระยะแรกทำด้วยตนเอง เพราะพบว่าในชุมชนมีการใช้สารเคมีกันมาก เนื่องจากเห็นเพื่อนบ้านใช้ก็ใช้ตาม และบางคนมีที่ไร่ที่นาอยู่ไม่ถึง 3 ไร่ ก็ยังต้องจ้างคนอื่นมาทำให้ เมื่อตนเองปลูกข้าว พืชผักปลอดสารพิษแล้วนำมากินมีสุขภาพแข็งแรง ชาวบ้านเห็นก็เลยมาทดลองทำตาม

หมู่บ้านจึงได้รับงบประมาณจากรัฐให้มาดำเนินโครงการต่างๆ มากกว่าหมู่บ้านอื่น เพราะต้องการให้หมู่บ้านตนเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนอื่น ที่ปลูกพืชปลอดสารพิษประสบความสำเร็จทั้งหมู่บ้าน “ปัจจุบันใน 1 สัปดาห์ ชาวบ้านจะมารวมตัวออกกำลังกายกันทั้งหมู่บ้าน เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงปลอดจากโรคภัย”

ส่วนนายธีรพันธ์ ชัยวัฒธนัน นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลบัวงาม อ.เดชอุดม เล่าถึงบทบาทหน้าที่ในการเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้าไปดำเนินการเรื่องสุขภาพประชาชนเข้มแข็ง เพราะในชุมชนมีผู้ป่วยเรื้อรังเพิ่มมากขึ้นทุกปี จึงเข้าไปทำประชาคมร่วมกับชาวบ้าน และชักชวนให้ดำเนินนโยบายสร้างชุมชนเข้มแข็งขึ้นมา

พร้อมประสานขอให้แพทย์ พยาบาลของโรงพยาบาลสุขภาพตำบลจัดเป็นหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เข้าไปดูแลผู้ป่วย แทนที่ผู้ป่วยจำนวนมากจะมาหาที่โรงพยาบาล เพราะผู้ป่วยบางรายไม่สามารถเดินทางมาพบได้ เนื่องจากมีบ้านอยู่ห่างไกล ซึ่งก็ประสบความสำเร็จคนป่วยได้รับการรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่อง ช่วยลดปัญหาการเสียชีวิตของผู้ป่วยเรื้อรังลงได้

ขณะที่ นายลำพูน ฉวีรักษ์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และเป็นประธานเลขานุการสมัชชาสุขภาพจังหวัดอุบลราชธานี ระบุถึงยุทธศาสตร์แก้ปัญหาเรื่องสุขภาพ หรือการรักษาโรคจะทำโดยหน่วยงานของรัฐฝ่ายเดียวไม่ได้ เพราะบางครั้งอาจจะประสบความสำเร็จ แต่ก็ไม่ยั่งยืน จึงต้องมาสร้างชุมชนให้พึ่งตนเอง มีการพูดคุยกับผู้นำท้องถิ่น เพื่อดำเนินการจัดสุขภาพระดับหมู่บ้าน ไปถึงระดับจังหวัด โดยมีชุมชนเป็นตัวจักรสำคัญ

“สำหรับ 4 ยุทธศาสตร์หลักที่สมัชชาสุขภาพเสนอในวันนี้ จะต้องมีการนำไปใช้ขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิบัติได้จริง เพื่อลดระดับการเจ็บป่วยของประชาชน แต่สำนักงานสาธารณสุขก็ไม่ลดบทบาทด้านการให้บริการประชาชน”

ด้านนายวิสุทธิ์ บุญญะโสภิต เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวถึงความร่วมมือของคนกลุ่มต่างๆ ที่เข้ามาเป็นสมัชชาสุขภาพ โดยมีแนวความคิดจากท้องถิ่นคือ ระดับอำเภอ ไปสู่ท้องที่คือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ท้องทุ่งคือ อสม. และรัฐใช้รวมกันเป็นพลังร่วมกันทำงาน เพราะการแก้ปัญหาจะต้องหาที่มาของสาเหตุในแต่ละท้องถิ่น แล้วนำมาร่วมกันแก้ไข

โดยต้องทำให้ครอบคลุมทั้งเรื่องสุขภาพ ครอบครัวเข้มแข็ง ปัญหาขยะมูลฝอย และการทำเกษตรอินทรีย์ ตามแนวคิด “ลดทุกข์แล้วสร้างสุข”

การดำเนินงานกว่า 10 ปี มีการแก้ปัญหาไปได้หลายเรื่อง เพราะสมัชชาสุขภาพยึดหลัก 1 คนก็มี 1 เสียง จะเป็นเทวดามาจากไหนก็มีเสียงมากกว่านี้ไม่ได้ เมื่อทุกฝ่ายมีสิทธิ และมีเสียงเท่ากัน ก็ทำให้กระบวนการแก้ไขปัญหาได้การยอมรับ และรวมกันเป็นพลังขับเคลื่อนใช้แก้ปัญหาทั้งหมด

“ตนไม่บอกว่าจังหวัดอุบลราชธานี จะแก้ปัญหาอย่างไร หรือจะต้องทำสำเร็จเมื่อใด เพราะตอบแทนคนเมืองนี้ไม่ได้ เนื่องจากไม่ใช่คนที่นี่ เมื่อปัญหาเกิดที่นี่ก็ต้องให้ผู้อยู่ในจังหวัดร่วมกันแก้ไขกันเอง เพราะจะรู้ปัญหาดีกว่าคนจากที่อื่น”

สำหรับ 4 ยุทธศาสตร์หลักใช้เป็นพลังขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนตามชุมชนในปีนี้ ประกอบด้วย การพัฒนาคุณภาพการศึกษาโดยชุมชนมีส่วนร่วมจัดการศึกษาแทนการให้ส่วนกลางเป็นผู้ดำเนินการ เพราะไม่ตรงความต้องการของคนในแต่ละชุมชน

การสร้างชุมชนและครอบครัวแข็งแรง เนื่องจากปัจจุบันเด็กและเยาวชนของไทยมีปัญหาติดเกม ไม่เข้าเรียนไปจับกลุ่มเป็นเด็กแว้น นำมาสู่ปัญหาการท้องก่อนแต่ง และอาหารปลอดภัยผ่านการเกษตรอินทรีย์ เพราะพบว่าปัจจุบัน การทำเกษตรกรรมมีการนำสารเคมีมาใช้กันมาก ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ใช้และผู้กิน จึงต้องรณรงค์ให้ภาคเกษตรกรรมหันมาพึ่งพาเกษตรแบบในอดีต โดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมี เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

ยุทธศาสตร์สุดท้ายคือ การกำจัดขยะมูลฝอย และสิ่งปฏิกูลตามชุมชน เพราะการขยายตัวของคนในชุมชนทำให้จังหวัดอุบลราชธานี เริ่มประสบปัญหาไม่มีที่ทิ้ง และกำจัดขยะ ทั้งขยะเป็นพิษจากสารเคมี และขยะมูลฝอยจากบ้านเรือน ชุมชนต้องหาทางร่วมมือกันดำเนินการไม่ปล่อยให้เกิดเป็นปัญหาเรื้อรังเหมือนในจังหวัดใหญ่ เช่น เชียงใหม่ สงขลา นครราชสีมา ขอนแก่น เป็นต้น

กำลังโหลดความคิดเห็น