ASTVผู้จัดการออนไลน์ -หน่วยงานรัฐ-เอกชน-ชุมชน หนุน อพท.ประกาศพื้นที่พิเศษฯ หัวหิน-ชะอำ และพื้นที่เชื่อมโยง
จากการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่อการประกาศพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเมืองหัวหิน-ชะอำ และพื้นที่เชื่อมโยง จัดโดยสำนักแผนพัฒนาพื้นที่พิเศษ (สผพ.) องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีผู้ร่วมรับฟังพร้อมเสนอข้อคิดเห็นเป็นตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน โดยมีนายสมมิตร สินประเสริฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานเปิดงาน
เสนอ อพท.ช่วยแก้ปัญหาขยะ-เพิ่มรายได้ท่องเที่ยว
นายดำรงค์ แสงกวีเลิศ รองผู้อำนวยการ อพท. กำกับดูแลสำนักแผนพัฒนาพื้นที่พิเศษ (สผพ.) เปิดเผยว่า การจัดประชุมมีตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน เข้าร่วมรับฟัง และแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานของ อพท. ซึ่งผลจากการประชุมพบว่ากว่า 90% ของผู้ร่วมรับฟังทุกฝ่ายเห็นด้วย และยินดีที่จะสนับสนุนให้ อพท. ประกาศเมืองหัวหิน-ชะอำ และพื้นที่เชื่อมโยงเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยคาดหวังว่าการประกาศพื้นที่พิเศษฯ จะช่วยให้เมืองหัวหิน-ชะอำ และพื้นที่เชื่อมโยงมีการบริหารจัดการที่ดีขึ้น
“สิ่งที่ทุกหน่วยงาน และชุมชนต้องการสูงสุด และคาดหวังว่า เมื่อประกาศเป็นพื้นที่พิเศษแล้ว ขอให้ อพท. เร่งดำเนินการ คือ เสนอให้มีการจัดการขยะ การบริหารจัดการน้ำ การดูแลความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน ตลอดจนการจัดผังเมืองให้เป็นเมืองท่องเที่ยวที่น่าอยู่น่าอาศัย และเกิดการกระจายรายได้อย่างแท้จริง”
จากผลการศึกษาของ อพท. และข้อเสนอแนะที่ได้จากการประชุมครั้งนี้ อพท. จะรวบรวมและสรุป เพื่อนำเสนอคณะกรรมการบริหาร อพท. (บอร์ด) จากนั้น จึงนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่พิเศษ จากนั้นจึงเริ่มเข้าสู่กระบวนการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ และแผนปฏิบัติงาน ตามลำดับ โดยคาดว่าหากไม่มีสิ่งใดเปลี่ยนแปลง ภายในเวลา 2 เดือนนับจากนี้ จะสามารถนำเสนอต่อเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อเข้าสู่วาระการพิจารณาของ ครม. ต่อไป
6 อำเภอลุ้นประกาศเป็นพื้นที่พิเศษ
นายดำรงค์ กล่าวว่า ผลการศึกษาของที่ปรึกษาโครงการทบทวนและปรับปรุงรายงานความเหมาะสมประกาศเมืองหัวหิน-ชะอำ และพื้นที่เชื่อมโยงที่ อพท. ศึกษาเสร็จเมื่อปี 2553 มีรายละเอียดโครงการโดยสรุป คือ ได้ดำเนินการศึกษาพื้นที่ใน 6 อำเภอ แบ่งเป็น 2 อำเภอ ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คือ หัวหิน และปราณบุรี และ 4 อำเภอในจังหวัดเพชรบุรี คือ บ้านแหลม เมืองเพชรบุรี ท่ายาง และชะอำ
ทั้ง 6 อำเภอจะประกอบด้วย 15 ตำบล
โดยจะพัฒนาสร้างเป็นแหล่งท่องเที่ยวใน 4 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ กลุ่มแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ กลุ่มแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ กลุ่มแหล่งท่องเที่ยวภายใต้โครงการพระราชดำริ และ กลุ่มแหล่งท่องเที่ยวชุมชน
จากผลการศึกษายังพบว่า ทั้งหัวหิน และชะอำเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง มีศักยภาพของการเติบโต โดยปัจจุบันทั้ง 2 แหล่งท่องเที่ยวดังกล่าวสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศไทยได้เป็นลำดับที่ 11 และ 12 ของประเทศ โดยมีมูลค่าสูงถึง 9,215 ล้านบาท และ 8,850 ล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นร้อยละ 1.14 และ 1.09 ของรายได้จากการท่องเที่ยวรวมทั้งประเทศ โดยในปี 2555 มีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทย และชาวต่างประเทศเดินทางเข้าไปหัวหิน 2,456,828 คน และชะอำ 2,099,847 คน
อัตลักษณ์ที่โดดเด่นของจังหวัดเพชรบุรี เช่น เป็นที่ตั้งของพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน หาดเจ้าสำราญ หาดชะอำ หาดปึกเตียน โครงการพระราชดำริตำบลแหลมผักเบี้ย โครงการช่างหัวมัน ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นเช่นขนมหวานต่างๆ เป็นต้น ส่วนอัตลักษณ์โดดเด่นของพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เช่น เป็นที่ตั้งของพระราชวังไกลกังวล ตลาดโต้รุ่งหัวหิน หาดเขาเต่า เขาตะเกียบ สวนสนประดิพัทธ์ ชายทะเลเขากะโหลก ชายทะเลปราณบุรี ผลิตภัณฑ์สับปะรดแปรรูป อาหารทะเลแปรรูป ผลิตภัณฑ์ป่านศรนารายณ์ เป็นต้น
ผลการศึกษายังต่อยอดไปถึงการวางกรอบการพัฒนาพื้นที่ภายใต้ 4 โครงการหลัก ประกอบด้วย โครงการพัฒนาการเดินเรือพัทยา-หัวหิน (East-West Ferry) โครงการรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-หัวหิน โครงการพัฒนาด่านสิงขร เพื่อสร้างจุดเชื่อมโยงการค้า การท่องเที่ยว และการลงทุน ให้จังหวัดประจวบคีรีขันธ์กับสหภาพพม่า และโครงการจัดทำยุทธศาสตร์การจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง โดยโครงการนี้จะศึกษาและทำงานร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
เปิดพื้นที่รองรับ 5 กลุ่มนักท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาพื้นที่เมืองหัวหิน-ชะอำ และพื้นที่เชื่อมโยงที่ อพท. ศึกษาและวางกรอบโดยใช้ข้อมูลพื้นฐานจากการระดมความคิดเห็น และความต้องการของทุกภาคส่วน แบ่งได้เป็น 2 รูปแบบใหญ่ คือ การจัดกลุ่มเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวและการพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับการท่องเที่ยว เป้าหมายคือ เพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้เพิ่มจากการท่องเที่ยว
ส่วนการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยว แบ่งเป็น 5 เซกเมนต์ คือ พื้นที่ชายหาดตากอากาศคุณภาพสูง พื้นที่ชายหาดตากอากาศสำหรับครอบครัว พื้นที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร พื้นที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ/ชุมชน และพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ
“การประชุมครั้งนี้จะเป็นการรับฟังความคิดเห็นครั้งสุดท้าย ก่อนเสนอ ครม. โดยที่ผ่านมา อพท. จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว 4 ครั้ง ครอบคลุม 6 อำเภอ” นายดำรงค์กล่าว