xs
xsm
sm
md
lg

อพท. ชูต้นแบบ “Zero Waste” ที่เกาะช้าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวนั้นมีทั้งผลดีผลเสีย ในแง่ดี อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยมีรายได้จากการจับจ่ายของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น แต่ขณะเดียวกันก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการเพิ่มของปริมาณ “ขยะ” ซึ่งทำให้ อพท. ต้องออกมาขับเคลื่อนนโยบายโลว์คาร์บอนในทุกพื้นที่พิเศษ

พันเอก ดร. นาฬิกอติภัค แสงสนิท เนื่องจาก “ขยะ” ก่อปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมในชุมชนมากขึ้นตามการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวและจำนวนประชากร ดังนั้น การจัดการขยะ จึงเป็นอีกโครงการสำคัญของ อพท. เพื่อให้ทุกพื้นที่พิเศษดำเนินการภายใต้นโยบายโลว์คาร์บอน ตามที่พันเอก ดร. นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. วางนโยบายและมอบหมาย
พันเอก ดร. นาฬิกอติภัค แสงสนิท
อพท. นำระบบการจัดการของเสียด้วยแนวคิด “Zero Waste” หรือ ของเสียเหลือศูนย์ มาใช้เพื่อบริหารจัดการโรงขยะ ผลก็คือขยะถูกนำไปใช้จนไม่เหลือไว้ให้ทำลาย โดยมีการบวนการตั้งแต่การคัดแยกขยะไปรีไซเคิล การบดอัดขยะเพื่อทำปุ๋ยชีวภาพ รวมถึงการนำขยะประเภทพลาสติกไปกลั่นเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งได้ดำเนินการแล้วในพื้นที่พิเศษ “เกาะช้าง” จนทุกวันนี้ เกาะช้าง แทบไม่มีขยะ เป็นการลดภาระในการหาสถานที่กำจัด และไม่สูญเสียค่าใช้จ่ายสำหรับการขนย้าย นับว่าเป็นผลดีด้านเศรษฐกิจ และที่สำคัญไม่ก่อมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม
ที่นี่เป็นต้นแบบให้ศึกษาเรียนรู้
ปัจจุบัน พื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง ประกาศเป็นพื้นที่พิเศษลำดับที่ 1 ของ อพท. ซึ่งในปีนี้มีอายุครบ 10 ปี เท่ากับอายุการก่อตั้ง อพท. จากสถิติของสำนักอุทยานแห่งชาติ มีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางไปเกาะช้างในปี 2546 จำนวน 118,391 คน และเพิ่มเป็น 512,706 คน ในปี 2555 ซึ่งจะเห็นว่าในรอบ 9 ปี มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเกือบ 5 เท่า และส่งผลให้เกาะช้างประสบปัญหาการจัดการขยะ
แต่ก่อนหน้าทางเทศบาลตำบลเกาะช้างต้องนำขยะจากบ้านเรือนและสถานประกอบการขนขึ้นเรือไปทิ้งและเผาทำลายบนฝั่ง ทำให้สูญเสียทั้งเงินและพลังงาน อีกทั้งการเผาทำลาย หรือฝังกลบนั้นยังเกิดมลภาวะต่อสภาวะแวดล้อมและชุมชนตามมา

“นอกจากที่เกาะช้าง อพท. ตอนนี้ยังสร้างโรงคัดแยกและกำจัดขยะมูลฝอยที่เกาะกูด พร้อมมอบให้กับองค์การบริหารส่วนตำบล หรือ อบต. เกาะกูด เป็นที่เรียบร้อย และในปีงบประมาณ 2557 อพท. ได้จัดสรรงบประมาณสำหรับสร้างโรงคัดแยกและกำจัดขยะมูลฝอย ในรูปแบบ Zero Waste อีก 2 แห่ง คือ พื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน และพื้นที่พิเศษเลย” 
แปรรูปขยะเป็นไบโอดีเซล
ปั้นชุมชน บริหารจัดการขยะ
ปัจจุบัน แนวทางตามนโยบายโลว์คาร์บอนของ อพท. ว่าด้วยการจัดการขยะ การันตีด้วยรางวัลประกาศเกียรติคุณจากวุฒิสภา ในโครงการวิทยาศาสตร์สู่ความเป็นเลิศ ปี 2556 สาขาสิ่งแวดล้อม จาก “การบริหารจัดการโรงคัดแยกและกำจัดขยะมูลฝอยเกาะช้าง” โรงขยะและวิธีบริหารจัดการโรงขยะแห่งนี้จึงถือว่าเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่พิเศษอื่นๆ ที่จะนำไปปฎิบัติตามความเหมาะสม และยังเปิดให้หน่วยงานและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ เข้ามาศึกษาดูงาน เพื่อนำไปจัดการขยะในพื้นที่ของตนเอง
เตรียมบดอัดเป็นปุ๋ยชีวมวล
ส่วนแนวทางปฏิบัติ เริ่มต้นจากสร้างกิจกรรมรณรงค์เพื่อให้สถานประกอบการ บ้านเรือนและชุมชนได้เรียนรู้และตระหนักถึงการคัดแยกขยะ ขณะเดียวกันมีการจัดหางบประมาณเพื่อใช้ในการก่อสร้าง “โรงคัดแยกและกำจัดขยะมูลฝอย” พร้อมการสร้างองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการโรงขยะก่อนส่งมอบให้กับเทศบาลตำบลเกาะช้าง และ อบต. เกาะช้างใต้

ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะภายหลังเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ในส่วนของภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องวางระบบโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยว เพื่อให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยก้าวไปได้ยั่งยืน ข้อสำคัญในกระบวนการทำงานนั้นต้องเป็นไปโดยชุมชนมีส่วนร่วม
กำลังโหลดความคิดเห็น