xs
xsm
sm
md
lg

“นายกฯ” ลุยพัทยาเข้มความปลอดภัยทางทะเล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่พัทยาดูมาตรการแก้ไขปัญหาความปลอดภัยทางทะเล หลังเกิดเหตุเรือโดยสารอับปางนักท่องเที่ยวดับ 6 ราย

วันนี้ (5 พ.ย.56) ที่โรงแรมสยามเบย์ชอว์ พัทยาใต้ ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ประกอบด้วยนายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรี นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม นายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรม นายสนธยา คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม พลเอกยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมช.กลาโหม เดินทางมาร่วมรับฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับสถานการณ์อุบัติภัยทางทะเลของเมืองพัทยา หลังเกิดเหตุเรือโดยสาร 2 ชั้นของบริษัท เกาะล้านทราเวล ล่มลงกลางทะเล บริเวณหน้าหาดนวล ม.7 ต.นาเกลือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี จนเป็นผลให้มีนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติเสียชีวิตรวม 6 ราย บาดเจ็บและประสบเหตุกว่า 200 ราย โดยมีนายคมสัน เอกชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นายอิทธิพล คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา นายศรศักดิ์ แสนสมบัติ อธิบดีกรมเจ้าท่า พล.ต.ท.กวี สุภานันท์ ผบช.ภาค 2 รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคธุรกิจ ประชาชนให้การต้อนรับ

ทั้งนี้ นายคมสัน เอกชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ได้ทำการบรรยายสรุปถึงเหตุการณ์ดังกล่าว รวมทั้งยอดของผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ และมาตรการให้ความช่วยเหลือนักท่องเที่ยวที่ประสบเหตุ พร้อมชี้แจงว่าที่ผ่านมาเมืองพัทยาประสบปัญหาอุบัติภัยทางทะเลบ่อยครั้ง ทุกภาคส่วนจึงได้จัดประชุมร่วมเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ในการยกระดับมาตรการด้านความปลอดภัยขึ้น ซึ่งเบื้องต้นได้กำหนดไว้ 5 มาตรการหลัก ได้แก่

1.การจัดระเบียบทางน้ำ คือ การจัดเขต Zoning ของการเล่นน้ำและการเดินเรือที่ชัดเจน

2.การบูรณาการทุกภาคส่วนในการรวมแก้ไขปัญหา โดยทำการลงนามความร่วมมือหรือ MOU ร่วมกัน

3.การสร้างจิตสำนึกให้กับผู้ประกอบการ ด้วยการอบมรมให้ความรู้ ความเข้าใจในภาคของการบริการ

4.การปฏิรูปกฎหมาย ได้แก่การร้องขอให้ปรับเปลี่ยนกฎกระทรวงในการบังคับการจัดทำประกันในกลุ่มเรือท่องเที่ยว

และ 5.การกำกับดูแลการจราจรทางน้ำอย่างเคร่งครัด

​นายคมสัน กล่าวต่อไปว่า สำหรับเมืองพัทยาถือว่าเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีการเติบโตแบบก้าวกระโดด ทำให้โครงสร้างพื้นฐานในด้านต่างๆ ไม่สามารถรองรับได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเรื่องของบุคลากรที่ไม่เพียงพอจนส่งผลกระทบต่อการกำกับควบคุมดูแล และการบริหารจัดการ ซึ่งเป็นที่มาของปัญหาด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งปัญหานี้จึงเสนอให้มีการพิจารณาการสนับสนุนจากภาครัฐในการเพิ่มศักยภาพในด้านต่างๆ อาทิ

1.การสร้างท่าเรือเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรองรับผู้โดยสารแยกออกจากการขนส่งสินค้า

2.การเพิ่มประสิทธิภาพของบุคลากรของกรมเจ้าท่าซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในการดูแลโดยตรงให้มีความเพียงพอและเหมาะสม

3.การเพิ่มบทลงโทษกับเจ้าของกิจการเรือโดยสารให้มีส่วนร่วมในการรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น

4.การกระจายอำนาจมอบหมายให้ท้องถิ่นมีบทบาทในการลงโทษและเอาผิดกับผู้กระทำผิด

5.การแก้ไขกฎระเบียบของรัฐในการเยียวยาช่วยเหลือผู้ประสพเหตุทั้งชาวไทยและต่างชาติ ในกรณีที่ประสบเหตุร่วมกัน

และ 6.เพิ่มมูลค่าของการประกันภัยในการดูแลนักท่องเที่ยว

​ด้านนายศรศักดิ์ แสนสมบัติ อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า สำหรับเมืองพัทยาถือเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ขายกิจกรรมทางน้ำเป็นหลัก แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือว่าส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาได้ประชุมร่วมทุกภาคส่วนเพื่อยกระดับมาตรการความปลอดภัยทางทะเลให้เพิ่มมากขึ้น โดยการจัดทำ “พัทยาโมเดล” ซึ่งเน้นไปที่การจัด Zoning กิจกรรมทางน้ำทุกประเภท การจัดระเบียบการเดินเรือ และการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเพื่อให้มีส่วนร่วมในการกำกับดูแลมากขึ้น

อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญคือเรื่องของการขาดแคลนในด้านของบุคลากร ซึ่งปัจจุบันมีเจ้าพนักงานอยู่เพียง 8 รายในการดูแลกิจกรรมทางน้ำหรือเรือท่องเที่ยวจำนวนนับพันลำ จึงมีแผนในการเสนอขอจัดซ้อเรือตรวจการณ์จำนวน 2 ลำ พร้อมอัตรากำลังเพิ่มอีกจำนวน 24 นาย ซึ่งจะใช้งบประมาณในการจัดซื้อเรือจำนวน 15 ล้านบาท พร้อมค่าดำ เนินการอีก 9 ล้านบาทต่อปี เพื่อมาตรวจตราและกับดูแลกิจกรรมทางน้ำของเมืองพัทยาอย่างใกล้ชิด

​ในการนี้นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวขอบคุณทุกภาคส่วนที่ให้ความสำคัญและดำเนินการในการอำนวยความสะดวกในการกู้ภัยและช่วยเหลือนักท่องเที่ยวที่ประสบเหตุ พร้อมกันนี้ได้สั่งกำชับไปยังสำนักงานตำรวจภูธรภาค 2 ให้ทำการสอบสวนถึงสาเหตุที่แท้จริงของโศกนาฎกรรมดังกล่าวว่าเกิดจากสาเหตุใดเป็นหลักเพื่อใช้เป็นบรรทัดฐานและหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนในอนาคต

ในส่วนของการเยียวยาช่วยเหลือผู้ประสบเหตุนั้น นอกจากกองทุนในส่วนของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาที่จะดูแลเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาตินั้น ก็ได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยหาช่องทางในการช่วยเหลือและเยียวยานักท่องเที่ยวชาวไทยด้วย ขณะที่ปัญหาในเรื่องของการขาดแคลนบุคลากรและเครื่องมือในการดูแลความปลอดภัยทางทะเลนั้นได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคมเข้ามาสำรวจและสนับสนุนอย่างเต็มที่

พร้อมทั้งมอบหมายให้จังหวัดชลบุรี และเมืองพัทยาไปทำการศึกษาพร้อมเสนอรูปแบบของการกระจายอำนาจจากส่วนกลางเพื่อความสะดวกในการกำกับดูแล ซึ่งจะให้ตัวแทนจากรัฐบาลมาประชุมร่วมเพื่อกำหนดแนวทางที่ชัดเจนอีกครั้งในเร็ววันนี้

​จากนั้นนายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปตรวจสอบบริเวณสะพานท่าเทียบเรือพัทยาใต้ แหลมบาลีฮาย เมืองพัทยา จ.ชลบุรี เพื่อตรวจดูศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจ พร้อมตรวจสอบมาตรฐานในการให้บริการการเดินเรือโดยสารของเมืองพัทยา โดยมีบรรดากลุ่มสมาชิก นปช.จำนวนกว่า 500 คนมาคอยให้กำลังใจและต้อนรับตลอดเส้นทาง

จากนั้นคณะนายกรัฐมนตรี ไดัเดินทางไปเยี่ยมผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์เรือโดยสารล่มที่ รพ.พัทยาเมโมเรียล ถนนพัทยากลาง ก่อนจะเดินทางไปรับประทานอาหาร และกลับไปพักผ่อนยังอาคารรับรอง ฐานทัพเรือสัตหีบ เพื่อรอปฏิบัติภารกิจในพื้นที่จังหวัดระยองต่อไปในวันพรุ่งนี้









กำลังโหลดความคิดเห็น