xs
xsm
sm
md
lg

ประชุมร่วมแก้ปัญหาอุบัติภัยในทะเลเมืองพัทยาเดือด เอกชนสับเมืองพัทยาไม่จริงใจแก้ปัญหา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวศรีราชา - ประชุมร่วมหน่วยงานแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางทะเลเมืองพัทยาเดือด หลังภาคเอกชนฟิวส์ขาดซัดหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะเมืองพัทยา ต้องรับผิดชอบเหตุณ์เรือล่มหลังเกิดเหตุซ้ำซาก แต่ไม่หาแนวทางแก้ไข และดูแลอย่างจริงจัง ไม่จัดสรรงบประมาณเพิ่มประสิทธิภาพดูแลความปลอดภัย ด้านผู้ว่าฯ จี้ทุกภาคส่วนต้องงัดมาตรการทางกฎหมายเข้าควบคุมผู้ประกอบการเรืออย่างจริงจัง

จากเหตุเรือโดยสารรับ-ส่งนักท่องเที่ยว เกาะล้านทราเวล 1 ของบริษัท เกาะล้านทราเวล จำกัด บรรทุกนักท่องเที่ยวกว่า 200 คน จากเกาะล้าน มุ่งหน้าแหลมบาลีฮาย เมืองพัทยา จมลงระหว่างหาดนวลกับท่าไร่ เกาะล้าน ต.นาเกลือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ห่างจากฝั่ง 1,500 เมตร เป็นเหตุให้นักท่องเที่ยวเสียชีวิต 6 ศพ บาดเจ็บ 15 คน ล่าสุด ยังรักษาตัวในโรงพยาบาล 5 คน เหตุเกิดเวลา 17.30 น. วันที่ 3 พฤศจิกายน

วันนี้ (4 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการประชุมร่วม ระหว่างนายคมสัน เอกชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นายศรศักดิ์ แสนสมบัติ อธิบดีกรมเจ้าท่า หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ภาคธุรกิจการท่องเที่ยว ผู้ประกอบการเรือโดยสารในเมืองพัทยา เพื่อหารือมาตรการการป้องกันอุบัติเหตุทางทะเล ที่ศาลาว่าการเมืองพัทยาว่า เป็นไปอย่างเคร่งเครียด โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่ได้จี้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

นายคมสัน กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวไม่สามารถอาศัยความร่วมมือจากผู้ประกอบการได้ เนื่องจากทุกครั้งที่มีปัญหาได้วิงวอนขอให้ผู้ประกอบการอยู่ในกรอบ และกฎกติกา แต่สุดท้ายก็พบว่ายังคงฝ่าฝืนกฎระเบียบมาโดยตลอด ดังนั้น จังหวัดจึงจำเป็นต้องใช้มาตรการทางกฎหมายที่เด็ดขาด กรมเจ้าท่า ก็ต้องมีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแล และใส่ใจบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง แต่เมื่อกรมเจ้าท่ามีปัญหาด้านบุคลากร การถ่ายโอนอำนาจให้ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม จึงถือเป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะการดูแล และป้องกัไม่สามารถปล่อยปละละเลยได้

ขณะที่เมืองพัทยา ต้องจัดบุคลากร และอุปกรณ์อำนวยความสะดวก และสนับสนุนด้านการดูแลรักษาความปลอดภัยอย่างเต็มกำลัง โดยเฉพาะการจัดชุดปฏิบัติการเฝ้าระวังเหตุทางทะเลในพื้นที่เกาะล้าน

นายศรศักดิ์ แสนสมบัติ อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า เบื้องต้นได้รับรายงานว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นน่าจะเกิดจากมาตรฐานการให้บริการของเรือที่ขาดคุณภาพ ซึ่งกรณีเหล่านี้ผู้ประกอบการต้องให้ความร่วมมือกับภาครัฐ โดยจะปล่อยให้รัฐทำงานแต่ลำพังไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา ทางภาครัฐเน้นหนักการเฝ้าระวังปัญหาไปที่เรือเร็วเป็นหลัก ทั้งสปีดโบต เรือลากร่ม และเจ็ตสกี โดยไม่ได้เข้มงวดกับเรือโดยสารขนาดใหญ่ จึงทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น จากนี้คงต้องประชุมร่วมผู้เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดแนวทาง และมาตรการที่ชัดเจนอีกครั้ง

ด้านนายสินไชย วัฒนศาสตร์สาธร นายกสมาคมธุรกิจและการท่องเที่ยวเมืองพัทยา กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นถือเป็นปัญหาซ้ำซาก และรุนแรง ทั้งด้านความเสียหายต่อชีวิต และทรัพย์สิน รวมทั้งภาพลักษณ์การท่องเที่ยว ที่สำคัญปัญหาดังกล่าวได้พูดคุยกันมาแล้วหลายครั้งในระดับผู้บริหาร โดยเฉพาะเรื่องของเรือโดยสารขนาดใหญ่ ที่ไม่มีการตรวจสอบปริมาณของผู้โดยสาร และการสวมเสื้อชูชีพ แต่ก็ขาดความใส่ใจจากผู้เกี่ยวข้อง จนสุดท้ายก็เกิดความสูญเสียขึ้นอีก

“กรณีนี้คงจะโทษผู้ประกอบการฝ่ายเดียวไม่ได้ เพราะผู้ที่รับผิดชอบโดยตรงคงเป็นภาครัฐเอง ที่ละเลยในแง่ของการควบคุม ทั้งที่มีอำนาจโดยตรงในการตรวจสอบ แต่กลับไม่ดำเนินการ”

นายสินไชย กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีการพูดคุยถึงมาตรการ และนโยบายที่เข้มงวด แต่ในแง่ของภาคปฏิบัติกลับไม่จริงจัง ทั้งที่เรื่องดังกล่าวหลายภาคส่วนให้ความสำคัญมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองพัทยา ซึ่งถือว่าเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก สร้างรายได้กว่า 9 หมื่นล้านบาทต่อปี ก็ควรให้ความสำคัญด้วยการจัดสรรงบประมาณเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการดูแลด้านความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน และนักท่องเที่ยว แต่ที่ผ่านมากลับไร้มาตรการที่เด็ดขาดจนเกิดความเสียหายบ่อยครั้ง

“เมืองพัทยาถือว่าเป็นเจ้าของพื้นที่ แต่กลับไม่มีมาตรการที่ชัดเจน เช่น ชุมชนเกาะล้าน ซึ่งปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปพักผ่อนจำนวนมาก แต่จะเห็นได้ว่าใน 1 ปี มีนักท่องเที่ยวที่ประสบเหตุจมน้ำเสียชีวิตนับสิบรายโดยไม่มีระบบป้องกันใด เรื่องเช่นนี้ต้องให้ความใส่ใจจัดกำลังไปดูแล หากปล่อยให้เหตุการณ์เป็นเช่นนี้ ไม่ว่าจะทุ่มงบประมาณกี่สิบล้านก็คงไม่สามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาพักผ่อนเพิ่มขึ้น”
กำลังโหลดความคิดเห็น