“เจ้าท่า” ตื่นล้อมคอก หลังเหตุเรือโดยสารล่มระหว่างท่าเรือแหลมบาลีฮาย-เกาะล้าน ออกคำสั่งให้งดใช้เรือเรือเกาะล้านทราเวล 1 ชั่วคราวแล้ว พร้อมประกาศนียบัตรผู้ควบคุมเรือ ยอมรับเกิดบ่อย โดยเฉพาะลักลอกบรรทุกผู้โดยสารเกิน เจ้าหน้าที่ตรวจน้อยตรวจสอบไม่ทั่งถึง เตรียมออกประกาศห้ามเรือรับ-ส่งผู้โดยสารนอกท่าเรือ
วันนี้ (4 พ.ย.) นายศรศักดิ์ แสนสมบัติ อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) ได้ลงพื้นที่ดูสถานการณ์พร้อมเยี่ยมผู้ประสบภัยเรือโดยสารล่ม ระหว่างท่าเรือแหลมบาลีฮาย-เกาะล้าน จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2556 เวลา 17.20 น. โดยได้กำชับให้เจ้าหน้าที่เร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยฯ อย่างเร่งด่วนและดำเนินการกับเรือซึ่งเป็นต้นเหตุ โดยกรมเจ้าท่าได้ตั้งศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวบริเวณท่าเรือพัทยาใต้ มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย จังหวัดชลบุรี อำเภอบางละมุง เมืองพัทยา ตำรวจท่องเที่ยว ตำรวจน้ำ สภ.เมืองพัทยา หน่วยกู้ภัยสว่างบริบูรณ์เมืองพัทยา โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา โรงพยาบาลเมโมเรียล โรงพยาบาลบางละมุง และสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาพัทยา เพื่ออำนวยการช่วยเหลือนักท่องเที่ยว
ทั้งนี้ กรมเจ้าท่า โดยศูนย์ควบคุมการจราจรและความปลอดภัยทางทะเล (ศจป.) ได้นำเรือยนต์เจ้าท่า 804, ฐานทัพเรือสัตหีบ นำเรือตรวจการณ์ 213 และเรือ ต.81, เรือตำรวจน้ำและเรือยนต์ตรวจการณ์จากฝ่ายป้องกันภัยพิบัติทางทะเล เมืองพัทยา ไปยังที่เกิดเหตุเพื่อทำการค้นหาเพิ่มเติมว่ามีผู้รอดชีวิตหรือสูญหายในที่เกิดเหตุหรือไม่ ทั้งนี้ ศจป. โดย Sriracha VTS ยังช่วยประสานกับหน่วยเรือในการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยบริเวณเกาะล้านตลอด 24 ชั่วโมง ทางวิทยุ Marine Band ช่อง 71, 74 หรือโทรศัพท์ 0-3849-5161-3 เมื่อเวลา 09.45 น.ได้พบเรือที่ประสบภัยแล้วบริเวณหน้าหาดนวล ซึ่งจะดำเนินการกู้เรือเป็นการเร่งด่วนต่อไป
นายศรศักดิ์กล่าวว่า กรมฯ ได้ออกหนังสือคำสั่งให้งดใช้เรือชั่วคราวของเรือเกาะล้านทราเวล 1 จนกว่าจะผ่านการตรวจสภาพเรือจากเจ้าพนักงานตรวจเรือและได้รับใบสำคัญรับรองการตรวจเรือฉบับใหม่เรียบร้อยแล้ว พร้อมมีหนังสือคำสั่งยึดประกาศนียบัตรผู้ควบคุมเรือของเรือเกาะล้านทราเวล 1 เป็นระยะเวลา 6 เดือน และออกคำสั่งให้ทำการกู้เรือเกาะล้านทราเวล 1 ภายใน 30 วัน
พร้อมกันนี้ ได้เชิญผู้ประกอบการเรือโดยสารในพัทยามาหารือเพื่อทำความเข้าใจถึงแนวทางปฏิบัติ กฎหมาย และกฎระเบียบต่างๆ ในการเดินเรือโดยสารโดยเฉพาะด้านความปลอดภัย โดยได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบการให้บริการเรือโดยสารอย่างเข้มงวดมากขึ้น เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้โดยสาร และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยว
ทั้งนี้ ยอมรับว่าที่ผ่านมามีผู้ประกอบการบางรายไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ และลักลอบบรรทุกผู้โดยสารเกิน โดยการจอดรับ-ส่งผู้โดยสารตามหาดทำให้เจ้าหน้าที่ของกรมเจ้าท่าที่คอยกำกับดูแลการบรรทุกผู้โดยสารเกินที่บริเวณท่าเรือตรวจสอบได้ไม่ทั่วถึงซึ่งถือเป็นการดำเนินการที่ผิดเนื่องจากน้ำหนักบรรทุกเกิน ซึ่งกรมเจ้าท่าจะออกระเบียบห้ามเรือโดยสารรับ-ส่งผู้โดยสารตามหาด โดยจะกำหนดเป็นแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนว่าเรือโดยสารจะต้องรับ-ส่งผู้โดยสารที่ท่าเรือเท่านั้น และหากพบว่ามีผู้กระทำผิดฝ่าฝืนกฎระเบียบบ่อยครั้งจะยกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการทันที
“เบื้องต้นจะเป็นการขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการก่อน หากไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควรก็จะออกเป็นกฎหมายบังคับใช้อย่างเข้มข้น และรุนแรงมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว” นายศรศักดิ์กล่าว
สำหรับการเยียวยาผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ ประกันภัยผู้โดยสารภาคบังคับ บริษัท เอ ไอ จี จำกัด กรณีเสียชีวิต 100,000 บาท กรณีค่ารักษาพยาบาล 15,000 บาท, บริษัท เอ ไอ จี นิวแฮมพ์เซอร์ อินชัวรันส์ มีประกันนักท่องเที่ยว มัคคุเทศก์ กรณีเสียชีวิต 200,000 บาท กรณีค่ารักษาพยาบาล 100,000 บาท และศูนย์แก้ไขปัญหาการหลอกลวงและช่วยเหลือนักท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรณีเสียชีวิต 300,000 บาท