xs
xsm
sm
md
lg

กรมทางหลวงร่วมมือไจก้ายกระดับมอเตอร์เวย์สาย 9 หนีน้ำท่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ไจก้า” หนุนกรมทางหลวงยกระดับมอเตอร์เวย์สาย 9 (ด้านตะวันออก) ขึ้น 10-20 ซม. ระยะทาง15 กม. ตั้งแต่ช่วงลำลูกกาถึงทางแยกต่างระดับบางปะอิน แล้วเสร็จ 19 ธ.ค.57 เผยกำชับดูแลระหว่างก่อสร้างไม่ให้กระทบการจราจร

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 กันยายน ที่ผ่านมา กรมทางหลวงได้จัดพิธี “Ground Breaking Ceremony โครงการบูรณะทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 ถนนวงแหวนรอบนอก (ด้านตะวันออก)” ตามโครงการให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากรัฐบาลญี่ปุ่น (Japanese Grant Aid) เพื่อป้องกันภัยพิบัติ และการบูรณะฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐาน (ทางหลวง) รวมถึงเพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันอุทกภัยในอนาคต
โดยจากช่วงระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2554 ที่ไทยประสบกับความเสียหายอย่างหนักจากอุทกภัย โครงสร้างพื้นฐานของการขนส่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางหลวง และทางหลวงพิเศษ จำนวน 14 สายทาง ที่อยู่รอบนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และปทุมธานีได้รับผลกระทบอย่างมาก กรมทางหลวงจึงเร่งหาทางบูรณะ และฟื้นฟูทางหลวง โดยเสนอแผนการบูรณะทางหลวงต่อรัฐบาลแบ่งออกเป็น 3 แผนตามกำหนดระยะเวลา คือ แผนบูรณะทางหลวงโดยเร่งด่วน แผนบูรณะทางหลวงระยะกลาง และแผนบูรณะทางหลวงระยะยาว

ทั้งนี้ เนื่องจากทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 ถนนวงแหวนรอบนอก (ด้านตะวันออก) หรือมอเตอร์เวย์สาย 9 ซึ่งมีการเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางจึงต้องมีความสะดวก โดยเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2556 กรมทางหลวงได้ลงนามสัญญาจ้างกับกลุ่มบริษัทผู้รับจ้างญี่ปุ่น Hazama Ando Corporation, TOA Road Corporation และ World Kaihatsu Kogyo Co., Ltd. Joint Venture มูลค่า 3,266,476,000 เยน ระยะเวลาการดำเนินงานประมาณ 19 เดือน ตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2556-15 ธันวาคม 2557 เพื่อดำเนินการออกแบบยกระดับถนนกาญจนาภิเษกฝั่งตะวันออก ทางด้านขาออกช่วงลำลูกกาถึงทางแยกต่างระดับบางปะอิน บริเวณ กม.ที่ 10+600 - 11+124, 11+558 - 20+580 และ 23+690 - 26+200 รวม 15.056 กิโลเมตร โดยยกระดับถนนให้ระดับใหม่ต่ำกว่าระดับน้ำท่วมสูงสุด 20 เซนติเมตร สำหรับถนนกาญจนาภิเษกช่วงปกติทั่วไปและยกระดับถนนให้ระดับใหม่สูงกว่าระดับน้ำท่วมสูงสุด 10 เซนติเมตรสำหรับบริเวณด่านเก็บค่าผ่านทางธัญบุรี รวมถึงบูรณะสิ่งอำนวยความสะดวก และเครื่องหมายจราจรในทางหลวงพิเศษด้วย

โดยเมื่อโครงการนี้แล้วเสร็จ จะสามารถรองรับทั้งการขนส่งสินค้า วัตถุดิบ เพื่อการผลิต และการขนส่งผลิตภัณฑ์สินค้าสำเร็จจากนิคมอุตสาหกรรม แม้ว่าจะมีปัญหาอุทกภัยเกิดขึ้นอีกก็ตาม เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาการหยุดชะงักของการขนส่งในเส้นทางทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 ถนนวงแหวนรอบนอก (ด้านตะวันออก) ซึ่งถือเป็นเส้นทางสายสำคัญ และยังเป็นโครงข่ายเส้นทางเชื่อมโยงไปสู่ท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อนำไปสู่ภาคการส่งออกของประเทศอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม กรมทางหลวงได้กำชับ JICA ว่า ตั้งแต่ในขั้นตอนการออกแบบ 2 ประเด็นหลัก คือ เรื่องความปลอดภัยของผู้ใช้ทาง และเรื่องความคล่องตัวของการจราจร โดยให้รักษาจำนวนช่องจราจรเท่าเดิม ดังนั้น ระหว่างการบูรณะ ก่อสร้าง กรมทางหลวงได้กำกับดูแลให้ผู้รับเหมาก่อสร้างและบริษัทที่ปรึกษาควบคุมงาน ดำเนินการวางแผนจัดการจราจรระหว่างก่อสร้างอย่างระมัดระวัง โดยให้สร้างทางเบี่ยงเพิ่มเติม เพื่อให้รักษาจำนวนช่องจราจรสำหรับผู้ใช้ทางครบ 4 ช่องจราจรเท่าเดิม ก่อนที่จะอนุญาตให้มีการปิดช่องจราจรเพื่อทำการก่อสร้างใดๆ ในระหว่างการก่อสร้าง
กำลังโหลดความคิดเห็น