xs
xsm
sm
md
lg

ทีไอดีชี้โอกาสสินค้าและบริการ สิ่งแวดล้อมของไทย พร้อมเปิดตลาดอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.วัชรัศมิ์ ลีละวัฒน์ รองผอ.วิชาการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและพัฒนา หรือ ไอทีดี
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและพัฒนา ไอทีดี เผยถึงผลงานวิจัยเรื่องการพัฒนาศักยภาพการผลิตและส่งออกสินค้าและบริการสิ่งแวดล้อม 3 กลุ่ม สินค้าเกษตร บริการกำจัดขยะ และที่พักแรมมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พบว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตสินค้าขั้นสุดท้ายเพื่อการบริโภค และกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ต้องมีการดำเนินนโยบายภายในประเทศและระหว่างประเทศที่เหมาะสมและสอดคล้องต้องกัน

ดร.วัชรัศมิ์ ลีละวัฒน์ รองผู้อำนวยการวิชาการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและพัฒนา หรือไอทีดี เปิดเผยว่า ได้ร่วมมือกับคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดทำผลงานวิจัย ในหัวข้อ “การพัฒนาศักยภาพการผลิตและส่งออกสินค้าและบริการสิ่งแวดล้อม” โดยเน้นหนักไปที่การศึกษาศักยภาพการส่งออกสินค้าและบริการด้านสิ่งแวดล้อม 3 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ สินค้าเกษตรอินทรีย์ ธุรกิจบริการกำจัดขยะ และธุรกิจสถานพักแรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ พบว่าสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทยมีจุดแข็งในฐานะที่เกษตรกรรมของไทยมีพื้นฐานการเพาะปลูกที่ไม่ใช้สารเคมีมาก่อน องค์ความรู้ดั้งเดิมยังมิได้หายไป อีกทั้งประเทศไทยยังมีหน่วยงานที่สามารถให้การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ได้หลายมาตรฐาน ประกอบกับมีโอกาสที่เกิดขึ้นจากความนิยมและความใส่ใจต่อปัญหาสุขภาพของผู้บริโภค ทำให้สินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทยเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคมากขึ้นโดยเฉพาะในตลาดยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น

สำหรับธุรกิจบริการกำจัดขยะ ในประเทศไทยมีจุดแข็งคือ ผู้ประกอบการมีประสบการณ์และความรู้ในธุรกิจกำจัดขยะมาอย่างยาวนาน ประกอบกับมีโอกาสในการส่งออกขยะที่ยังไม่ได้รีไซเคิล และขยะรีไซเคิลไปยังตลาดต่างประเทศได้ เพราะไทยมีความได้เปรียบทางด้านภูมิศาสตร์ และมีโอกาสออกไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านในธุรกิจดังกล่าว หรือให้คำปรึกษาการจัดการขยะในแหล่งอุตสาหกรรมของประเทศเพื่อนบ้านได้เช่นกัน

ส่วนธุรกิจสถานพักแรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภาคการท่องเที่ยวเป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย ค่าใช้จ่ายด้านที่พักมีสัดส่วนสูงที่สุดเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายทั้งหมดด้านการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และประเทศไทยมีจุดแข็งที่เจ้าของหรือผู้บริหารโรงแรมที่เป็นกลุ่มตัวอย่างให้ความสำคัญต่อประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม มีการดำเนินการจนได้รับรางวัลระดับชาติและระดับนานาชาติด้านสิ่งแวดล้อม ส่วนโฮมสเตย์ไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ส่วนใหญ่มีผู้นำชุมชนเข้มแข็ง บางแห่งได้รับการรับรองมาตรฐานทั้งระดับชาติและระดับนานาชาติ ทำให้ไทยค่อนข้างได้เปรียบในด้านนี้

สำหรับข้อเสนอแนะต่อภาครัฐและภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องมี 6 ข้อด้วยกัน ได้แก่ 1. การพัฒนาผู้ประกอบการ ภาครัฐควรแสดงบทบาทในการช่วยเหลือและการสร้างเครือข่ายของผู้ประกอบการเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ ตลอดจนการพัฒนาบริการให้มีคุณภาพมากขึ้น และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย 2. การสนับสนุนทางการเงิน หรือเงินลงทุนในการจัดการธุรกิจและผลิตภัณฑ์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อจูงใจในการพัฒนาธุรกิจของตนให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

และ 3. การสร้างเครือข่ายทั้งภายในประเทศ ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน และนอกกลุ่มอาเซียน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการและเกษตรกรของไทย 4. การกำหนดมาตรฐานการประกอบการและมาตรฐานการผลิต ด้วยมาตรการ “ใบรับรองหรือฉลากสิ่งแวดล้อม” ในการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์หรือบริการของผู้ประกอบการ เพื่อให้ผู้บริโภครับทราบข้อมูลในกิจกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติของธุรกิจตน

5. การใช้กลยุทธ์ทางการจัดการธุรกิจที่เชื่อมโยงกับชุมชน ทั้งนี้เพื่อให้ธุรกิจเป็นที่ยอมรับภายในชุมชนให้มากที่สุด 6. นโยบายของภาครัฐด้านการส่งเสริมการส่งออกและการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมภายในประเทศ ควรมีนโยบายไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ควรขัดแย้งกัน สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะทำให้สินค้าและบริการด้านสิ่งแวดล้อมของไทยสามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืนทั้งในตลาดอาเซียน และนอกกลุ่มอาเซียน

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น