xs
xsm
sm
md
lg

ตั้งตัวแทน 3 ฝ่ายตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม ผลกระทบขุดเจาะก๊าซ บ.อพิโก้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประชุมเพื่อหาข้อยุติปัญหาที่เกิดจากโครงการขุดเจาะสำรวจปิโตเลียมของ บริษัท อพิโก้(โคราช) จำกัด ซึ่งกำลังขุดเจาะที่บริเวณบ้านทับไฮ ม.4 ต.แสงสว่าง อ.หนองแสง จ.อุดรธานี
อุดรธานี - ประชุมแก้ปัญหาผลกระทบโครงการขุดเจาะปิโตเลียมหวิดล่ม ฝ่ายบริหารบริษัทอพิโก้ขอไม่ให้สื่อมวลชนเข้ารับฟัง ขณะที่ปลัดจังหวัดยืนยันทุกอย่างต้องโปร่งใส ให้สื่อร่วมรับฟังได้ สุดท้ายที่ประชุมมีข้อสรุปตั้งตัวแทนบริษัท-เอ็นจีโอ-ส่วนราชการ ติดตามการตรวจสอบคุณภาพอากาศ น้ำ และดินในพื้นที่รัศมีขุดเจาะก๊าซ และใช้เครื่องตรวจวัดของกรมควบคุมมลพิษ

วันนี้ (29 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี ตัวแทนสภาเครือข่ายภาคประชาชนจังหวัดอุดรธานี ผู้บริหารบริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมเพื่อหาข้อยุติปัญหาโครงการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมของบริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด ที่บ้านทับไฮ หมู่ 4 ต.แสงสว่าง อ.หนองแสง โดยมีนายจีระศักดิ์ คำรณฤทธิ์ศร ปลัดจังหวัดอุดรธานี เป็นประธานการประชุม

อย่างไรก็ตาม ก่อนเริ่มประชุมผู้บริหารบริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด ซึ่งมีนายดไวท์ เครกส์ จอห์นสัน ประธานบริหาร นายริชาร์ด โอร์ชิค ผู้จัดการด้านสุขภาพ ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม และนายสุริยัน อภิรักษ์สัตยากุล ผู้อำนวยการสำนักจัดการเชื้อเพลิงธรรมชาติ กรมพลังงานธรรมชาติ แจ้งต่อจีระศักดิ์ว่า ไม่ต้องการให้สื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟัง หากมีผู้สื่อข่าวเข้าร่วมรับฟังทางคณะของบริษัจะไม่เข้าร่วมประชุม

ขณะที่นายจีระศักดิ์กล่าวว่าทุกอย่างทุกประเด็นที่พูดคุยในที่ประชุมจะต้องเปิดเผยโปร่งใส และเดินเข้าห้องประชุมไป โดยไม่ได้สนใจคำพูดของผู้บริหารบริษัท อพิโก้ (โคราช) แต่อย่างใด

นายจีระศักดิ์กล่าวก่อนเปิดประชุมว่า การทำงานเพื่อแก้ปัญหาผลกระทบจากโครงการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติของบริษัท อพิโก้ (โครช) จำกัด นั้น เนื่องจากมีปัญหาชาวบ้านร้องเรียนถึงความเดือดร้อนต่อสภาเครือข่ายภาคประชาชน ซึ่งการแก้ปัญหาจะต้องทำร่วมกันทุกฝ่าย และต้องเป็นไปด้วยความโปร่งใส สำหรับสื่อมวลชนทำหน้าที่เสนอข้อมูลออกไป สื่อมวลชนเขาก็มีกรอบจรรยาบรรณในการทำหน้าที่ดีกว่าที่จะปิดห้องประชุม เพราะอาจทำให้ความรู้สึกว่ามีความลับ ไม่ชอบมาพากล

และตามที่ประชาชนร้องเรียนร้องทุกข์ต่อสภาเครือข่ายภาคประชาชน ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนในพื้นที่ ก็มีข้อเสนอซึ่งในการประชุมที่ผ่านมายังไม่สามารถหาข้อยุติได้ จึงขอให้ในวันนี้ต้องมีข้อยุติ

โดยนายจีระศักดิ์ถามฝ่ายตัวแทนบริษัทผ่านล่ามว่า ตามข้อเสนอในที่ประชุมครั้งที่แล้วทางบริษัทได้จัดการไปแค่ไหน อย่างไร ซึ่งนายดไวท์กล่าวว่า โครงการได้ทำตามข้อกำหนดของการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และระเบียบของทางราชการไทยมาแล้วทุกอย่าง และยืนยันว่าพร้อมที่จะแสดงความจริงใจในการร่วมกันแก้ปัญหาเพื่อให้ประชาชนได้รับผลที่ดีที่สุด

ด้านนายภาคภูมิ บุปผมาศ รองประธานสภาเครือข่ายภาคประชาชน ได้ยืนยันในข้อเสนอเดิมในการแก้ปัญหาผลกระทบ คือ ขอให้ชะลอการปฏิบัติงานเอาไว้จนกว่าจะมีการสอบสวนข้อเท็จจริงก่อน ด้วยเหตุผลว่าทางบริษัทยังไม่แสดงความจริงใจในการแก้ปัญหา เช่น ปกปิดข้อมูล การที่ไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบบ่อน้ำเสียของฐานขุดเจาะ ยังไม่มีการเปิดเดินเครื่องตรวจอากาศ ไม่มีการประชาสัมพันธ์การดำเนินงานของบริษัทให้ทั่วถึง เรียกประชุมเฉพาะชาวบ้านในชุมชน ส่อถึงความไม่บริสุทธิ์ใจในการแก้ปัญหา

ทั้งนี้ จากการประชุมนานกว่า 3 ชั่วโมง ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่า 1. ต้องจัดตั้งคณะติดตามการทำงานของบริษัท ที่ประกอบด้วยตัวแทนบริษัท ตัวแทนภาคประชาชน และหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามตรวจสอบอากาศ น้ำ และดิน 2. ให้ทำการเก็บตัวอย่างก๊าซก่อนที่จะเผาทิ้ง และหลังการเผาทิ้งแล้วให้กรมควบคุมมลพิษทำการตรวจด้วยเครื่องของกรม และ 3. พิจารณาช่วยเหลือเยียวยาต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ประชาชน เช่น ต้นยางพารา

ส่วนการตรวจวัดอากาศขอให้รอการนำเครื่องตรวจอากาศของกรมควบคุมมลพิษมาใช้ ส่วนในช่วงนี้ให้สำนักงานสิ่งแวดล้อมที่ 9 จัดผู้เชี่ยวชาญเข้ามาควบคุมชั่วคราว
นายดไวท์ เครกส์ จอนห์สัน ประธานบริหารบริษัทอพิโก้ จำกัด(คนกลาง)
ก่อนเข้าห้องประชุม ผู้บริหารบริษัทอพิโก้ขอไม่ให้นักข่าวเข้าร่วมรับฟังในที่ประชุม
กำลังโหลดความคิดเห็น