xs
xsm
sm
md
lg

“แยกพระราม 9” มลพิษเยอะสุด กทม.จี้ล้างถนน-จับรถควันดำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
กทม.จี้ผู้เกี่ยวข้องเพิ่มความถี่ล้างถนนพร้อมจับรถยนต์ควันดำ หลังผลตรวจมลพิษพื้นที่จราจรแน่น 5 อันดับ ได้แก่ แยกพระราม 9-ร่มเกล้า 56-พระราม 3-ใต้บีทีเอสสะพานควาย-แยกสี่พระยา พบฝุ่นละอองเกินมาตรฐานเพิ่มขึ้นชี้อันตรายต่อสุขภาพ

วันนี้ (11 ก.ค.) นางสุวรรณา จุ่งรุ่งเรือง รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า สำนักสิ่งแวดล้อม กทม.ได้ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ ตรวจสอบคุณภาพอากาศและเสียง เพื่อเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ และนำข้อมูลที่ได้ไปกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหา โดยใช้สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศและเสียงแบบอัตโนมัติ พบว่าในปี 2555 ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน ยังเกินมาตรฐาน ซึ่งพบมากบริเวณริมถนน รองลงมาพบก๊าซโอโซนที่เกินมาตรฐานในบางพื้นที่ ส่วนสารมลพิษอื่นๆ เช่น ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ และก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

ทั้งนี้ ผลการตรวจวัดและวิเคราะห์คุณภาพอากาศและเสียงบริเวณถนนที่เสี่ยงต่อการเกิดมลพิษ จำนวน 50 จุด ทั่ว กทม.ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2555-กุมภาพันธ์ 2556 พบว่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่าระหว่าง 37-344 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ซึ่งค่ามาตรฐานต้องไม่เกิน 120 มคก./ลบ.ม.โดยถนนที่มีค่าสูงสุดจากการตรวจวัดเกินมาตรฐาน 5 อันดับ ได้แก่ 1.ถนนรัชดาภิเษก บริเวณแยกพระราม 9 เขตห้วยขวาง 344-167 มคก./ลบ.ม. 2.ถนนร่มเกล้า ซอยร่มเกล้า 56 เขตลาดกระบัง 311-128 มคก./ลบ.ม. 3.ถนนพระรามที่ 3 หน้าโรงเรียนวัดดอกไม้ เขตยานนาวา 251-132 มคก./ลบ.ม. 4.ถนนพหลโยธิน ใต้สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สะพานควาย เขตพญาไท 231-123 มคก./ลบ.ม. และ 5.ถนนเจริญกรุง แยกสี่พระยา เขตบางรัก 223-170 มคก./ลบ.ม.

นางสุวรรณา กล่าวว่า ในปี 2548-2554 ปริมาณฝุ่นละอองที่เกินเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพอากาศมีแนวโน้มลดลง แต่การตรวจวัดบริเวณริมถนนที่ศึกษาในปี 2555-พฤษภาคม 2556 ฝุ่นละอองรวมและฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากไอเสียรถยนต์ที่ปล่อยออกมาในสภาพการจราจรที่หนาแน่น ดิน ทราย และเศษวัสดุที่ตกหล่นบนพื้นถนน และการฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง และพบว่าระดับเสียงริมถนนทุกสายก็มีค่าสูงเกินมาตรฐาน อันเนื่องมาจากการจราจรที่หนาแน่น

“ฝุ่นละอองนอกจากทำให้เกิดความสกปรกแล้ว ยังมีอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน เมื่อหายใจเอาฝุ่นละอองเข้าไปในปอดเป็นจำนวนมาก จะทำให้เจ็บป่วยจากการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน ผู้ที่เป็นโรคหอบหืดมีอาการรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะฝุ่นไอเสียรถยนต์ยังมีสารก่อมะเร็ง ซึ่งทำให้เกิดมะเร็งปอดได้” นางสุวรรณา กล่าวและว่า กทม.มีมาตรการป้องกันและลดผลกระทบที่เกิดจากมลพิษทางอากาศและเสียง โดยแจ้งสำนักงานเขตให้เพิ่มความถี่ในการล้างถนน ทางเท้าเพื่อลดฝุ่นละออง โดยเฉพาะเส้นทางที่มีการก่อสร้างอาคาร หรือโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ เข้มงวดในการใช้ผ้าใบคลุมอาคารที่มีการก่อสร้าง การตรวจจับและห้ามใช้รถควันดำและรถยนต์ที่มีเสียงดัง
 

กำลังโหลดความคิดเห็น